อาชญากรสงคราม คืออะไร ? หลังไบเดน เรียกปูติน War Criminal

อาชญากรสงคราม คืออะไร ? หลังไบเดน เรียกปูติน War Criminal
FILE PHOTO: REUTERS

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคำว่า “อาชญากรสงคราม” หลัง “โจ ไบเดน” ใช้คำนี้เรียก “วลาดิมีร์ ปูติน” ในอดีตมีใครเคยโดนกล่าวโทษบ้าง และคนเหล่านั้นมีจุดจบอย่างไร

วันที่ 17 มีนาคม 2565 มติชน รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ออกปากเป็นครั้งแรกว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งเป็นคำพูดที่หลายฝ่ายคาดว่าจะทำให้ความตึงเครียดทางการทูตเพิ่มสูงขึ้น

ทำเนียบขาวชี้แจงในเวลาต่อมาว่า คำพูดของไบเดนเป็นการพูดจากหัวใจ ด้านทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีสหรัฐก็โพสต์ข้อความว่า ปูตินกำลังสร้างหายนะและความสยดสยองให้กับยูเครน ด้วยการทิ้งระเบิดใส่อาคารที่พักและแผนกสูติกรรม ซึ่งถือเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อนและเป็นความชั่วร้ายต่อโลก

ด้าน นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซีย ออกมาโต้กลับว่า คำพูดของไบเดนเป็นวาทกรรมที่ไม่สามารถยอมรับและไม่สามารถยกโทษให้ได้ สำหรับประมุขแห่งรัฐที่ได้ทิ้งระเบิดสังหารผู้คนไปแล้วหลายแสนคนทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านไปรู้จักความหมาย ความรุนแรง และเรื่องราวที่น่าสนใจของคำว่า “อาชญากรสงคราม”

อาชญกรสงคราม ใช้กับใคร ?

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า คำว่าอาชญากรสงคราม หรือ war criminal ใช้กับใครก็ตามที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของทั้งโลก ซึ่งว่าด้วยกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ รวมถึงพฤติกรรมของประเทศต่าง ๆ ในยามสงคราม

กฎเหล่านี้ได้รับการแก้ไขและขยายการใช้ออกไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยยึดจากอนุสัญญาเจนีวาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพิ่มเติมระเบียบการในภายหลัง

กฎนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องผู้คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ และผู้ที่ไม่สามารถต่อสู้ได้อีกต่อไป รวมถึงพลเรือน เช่น แพทย์และพยาบาล กองทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และเชลยศึก สนธิสัญญาและระเบียบการระบุว่า ใครบ้างที่สามารถตกเป็นเป้าหมายได้ และเป็นเหยื่อจากอาวุธอะไร เนื่องจากอาวุธบางชนิดเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งสารเคมีหรือสารชีวภาพ

การกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรสงคราม

การละเมิดกฎอนุสัญญาการก่ออาชญากรรมสงครามอย่างร้ายแรง มีทั้งการฆ่าโดยจงใจ การทำลายล้างในวงกว้าง และการจัดสรรทรัพย์สินที่ไม่สมเหตุสมผลโดยความจำเป็นทางทหาร รวมถึงการจงใจมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ใช้กำลังพลที่ไม่สมส่วนกัน ใช้โล่มนุษย์ และจับตัวประกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศยังดำเนินคดีกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในบริบทของ “การโจมตีอย่างกว้างขวางหรือเป็นไปตามระเบียบ ที่มุ่งเป้าไปที่พลเรือนใด ๆ ก็ตาม” สิ่งเหล่านี้รวมถึงการฆาตกรรม การทำลายล้าง การบังคับโอน การทรมาน การข่มขืน และการเป็นทาสทางเพศ

สำหรับปูติน ภาพของเขาในฐานะอาชญากรสงครามคือการฉีกกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในฐานะผู้รับผิดชอบในการบังคับบัญชา เพราะหากผู้บังคับบัญชาสั่ง มีส่วนรู้เห็น หรืออยู่ในฐานะที่รู้เกี่ยวกับอาชญากรรมและไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อป้องกัน พวกเขาจะต้องรับผิดตามกฎหมาย

4 วิธีตัดสินคดี

โดยทั่วไป มี 4 วิธีในการสืบสวนและตัดสินอาชญากรรมสงคราม แม้ว่าแต่ละวิธีจะมีข้อจำกัดก็ตาม ทางที่หนึ่งคือผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทางเลือกที่สองอาจเกิดขึ้น หากองค์การสหประชาชาติต้องการส่งงานไปให้ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีกับปูติน

สามคือการสร้างศาลหรือศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาคดีกับปูติน โดยกลุ่มประเทศที่สนใจหรือเกี่ยวข้อง เช่น NATO, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างในอดีตเช่น ศาลทหารที่นูเรมเบิร์กหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พิจารณาคดีผู้นำนาซี

สุดท้าย คือ บางประเทศมีกฎหมายของตนเองในการดำเนินคดีกับอาชญากรสงคราม เช่น เยอรมนีที่กำลังสืบสวนปูตินอยู่แล้ว ด้านสหรัฐไม่มีกฎหมายดังกล่าว แต่กระทรวงยุติธรรมมีแผนกพิเศษที่จับจ้องการกระทำต่าง ๆ รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างประเทศ การทรมาน การเกณฑ์ทหารเด็ก และการให้ผู้หญิงเป็นหมัน

ผู้นำประเทศที่ถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงคราม

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาลในนูเรมเบิร์กและโตเกียว ไปจนถึงศาลเฉพาะกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้นำระดับสูงถูกดำเนินคดีจากการกระทำของพวกเขาในประเทศต่าง ๆ รวมถึงบอสเนีย กัมพูชา และรวันดา

อดีตผู้นำยูโกสลาเวีย “สโลโบดัน มิโลเซวิช” ถูกศาลสหประชาชาติสั่งดำเนินคดีในกรุงเฮก ฐานยุยงให้เกิดความขัดแย้งนองเลือด ในขณะที่ยูโกสลาเวียล่มสลายในช่วงต้นยุค 1990 เขาเสียชีวิตในห้องขังก่อนที่ศาลจะตัดสินได้

ส่งผลให้พันธมิตรชาวเซอร์เบียบอสเนียของเขาอย่าง “ราโดแวน คาราดซิก” และผู้นำกองทัพบอสเนียเซิร์บ “รัตโค มลาดิก” ถูกดำเนินคดี และขณะนี้ทั้งคู่กำลังรับโทษจำคุกตลอดชีวิต

“ชาร์ลส์ เทย์เลอร์” อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี จากความผิดฐานสนับสนุนการคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน

อดีตประธานาธิบดีชาด “อีดริส เดบี” ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว เป็นอดีตผู้นำคนแรกที่ถูกศาลแอฟริกันตัดสินลงโทษในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม รายงานว่า โตโจ ฮิเดกิ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามโดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลหรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

ต่อมาในวันที่ 23 ธันวาคม 2491 ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ