“จูโน” เผยความลับ “จุดแดงใหญ่” บนดาวพฤหัสบดี ที่มีอายุอย่างน้อย 200 ปี

(ภาพ-NASA/JPL-Caltech)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากยานสำรวจดาวพฤหัสบดี (จูปีเตอร์) ที่กำลังโคจรอยู่โดยรอบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะดวงนี้ และสามารถเปิดเผยปริศนาเกี่ยวกับพายุขนาดใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า “จุดแดงใหญ่” ว่าไม่ได้เป็นพายุถาวรอย่างที่คิดและมีความลึกของตัวพายุมากกว่าความลึกของมหาสมุทรบนโลกระหว่าง 50-100 เท่าเลยทีเดียว

สก็อตต์ โบลตัน นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยเซาธ์เวสต์ ในเมืองซานอันโตนิโอ สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจจูโน เปิดเผยว่า คำถามพื้นฐานของดาวพฤหัสบดีทั้งหลายล้วนเกี่ยวข้องกับ “เกรท เรดสปอต” หรือจุดแดงใหญ่ ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร รากของมันอยู่ตรงไหนลึกลงไปจากที่เห็นมากหรือไม่ จนอาจเรียกได้ว่ามันเป็นพายุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของระบบสุริยะเลยก็ว่าได้

โบลตันรายงานผลการค้นพบของจูโนต่อที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ที่นครนิวออร์ลีนส์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ข้อมูลที่ได้จากจูโนในการโคจรผ่านจุดแดงใหญ่เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่า ขนาดของพายุหมุนโด่งดังนี้กว้างราว 1.5 เท่าของระยะเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก ในขณะที่รากของพายุแทรกตัวลึกลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีราว 300 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่า จุดแดงใหญ่มีความลึกมากกว่าความลึกจากพื้นผิวถึงพื้นมหาสมุทรบนโลกระหว่าง 50 ถึง 100 เท่าตัว

ศาสตราจารย์ แอนดี อิงเกอร์ซอลล์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเท็ค) หนึ่งในทีมวิจัยประจำภารกิจจูโน การเคลื่อนตัวของกระแสอากาศรุนแรงบริเวณผิวนอกของชั้นบรรยากาศของดาวเกิดขึ้นจากความแตกต่างของอุณหภูมิ เหมือนกับที่ความต่างของอุณหภูมิ 2 สถานที่บนโลกก่อให้เกิดกระแสลมขึ้นนั่นเอง ในกรณีของดาวพฤหัสบดีแสดงให้เห็นว่า บริเวณฐานของจุดแดงใหญ่คงมีอุณหภูมิสูงกว่าด้านบนจึงก่อให้เกิดกระแสการไหลเวียนของอากาศดังกล่าว

จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ถือเป็นพายุที่มีอายุยืนยาวมาก มันมีอายุอย่างน้อย 200 ปี และหากถือว่าข้อมูลในยุคแรกๆ ของการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินถูกต้องอายุของจุดแดงใหญ่ก็อาจยืนยาวมากถึง 350 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากจูโนแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่พายุถาวรที่คงอยู่ตลอดกาลอย่างที่บางคนเชื่อ เนื่องจากขนาดของพายุที่จูโนวัดได้นั้นมีขนาดเล็กลงจากที่เคยมีการตรวจสอบก่อนหน้านี้

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ยานสำรวจวอยาเจอร์ 1 และ 2 ซึ่งเดินทางมุ่งหน้าไปสำรวจดาวเสาร์และเฉียดเข้ามาใกล้เพื่อสำรวจดาวพฤหัสบดี ข้อมูลของยานทั้ง 2 ระบุความกว้างของจุดแดงใหญ่ไว้ว่า เทียบเท่ากับระยะทางมากกว่า 2 เท่าของระยะเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก นั่นหมายความว่า จุดแดงใหญ่หดเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้มีขนาดหลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของขนาดจุดแดงใหญ่ที่ยานวอยาเจอร์ตรวจสอบพบ
นอกเหนือจากข้อมูลเกี่ยวกับจุดแดงใหญ่แล้ว จูโนยังตรวจสอบพบแถบการแผ่รังสีแห่งใหม่ 2 พื้นที่เหนือชั้นบรรยากาศของดาวอีกด้วย จุดแรกอยู่เหนือชั้นบรรยากาศบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัส มีไอออนของไฮโดรเจน, ออกซิเจน และซัลเฟอร์ เป็นส่วนประกอบเคลื่อนไหวอยู่ในระดับความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสง ไฮดี เบคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญการแผ่รังสีของทีมจูโนชี้ว่า จุดกำเนิดของมันน่าจะมาจากอะตอมที่มีสถานะเป็นกลาง ซึ่งเคลื่อนที่เร็วมากอยู่โดยรอบ ยูโรปากับไอโอที่เป็นดาวบริวาร เกิดปฏิกิริยาทางเคมีขึ้นเมื่อสัมผัสกับบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีสูญเสียอิเล็กตรอนไปและทำให้อนุภาคที่หลงเหลือมีประจุไฟฟ้า เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว ในขณะที่แถบแผ่รังสีอีกแถบพบบริเวณละติจูดตอนบน ซึ่งยังไม่เคยมียานลำใดสำรวจมาก่อน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจุดกำเนิดของมันเกิดจากอะไร
จูโนเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีเมื่อ 4 กรกฎาคม ปี 2016 และจนถึงขณะนี้สามารถโคจรเพื่อสำรวจรอบดาวได้ 8 รอบแล้ว เบคเกอร์ยอมรับว่า ยิ่งได้ข้อมูลสำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ ดาวพฤหัสบดียิ่งส่อให้เห็นสิ่งประหลาดๆ มากขึ้นเท่านั้น
ที่มา มติชนออนไลน์