นายกออสเตรเลียคนใหม่ เตรียมเดินหน้าถอดควีนพ้นประมุข

General election in Australia
REUTERS/Jaimi Joy

เลือกตั้งออสเตรเลียสะเทือนถึงวังบักกิ้งแฮม ‘แอนโธนี อัลบานีซ’ นายกฯแดนจิงโจ้คนใหม่ กับจุดยืนหนุนประเทศเป็น “สาธารณรัฐ”

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ย้อนไปก่อนหน้าที่กรุงเทพมหานครจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา “เครือรัฐออสเตรเลีย” เพิ่งมีการลงคะแนนเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน ผลปรากฏว่า

นายแอนโธนี อัลบานีส วัย 59 ปี จากพรรคแรงงาน คว้าชัยชนะได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นผู้นำจากพรรคแรงงานในรอบทศวรรษที่ชนะการเลือกตั้งนายกฯแดนออสซี่ นับตั้งแต่นางจูเลีย กิลลาร์ด ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกจากพรรคแรงงานคนล่าสุดเมื่อปี 2010 – 2013

นายกออสเตรเลีย
REUTERS/Jaimi Joy

ชัยชนะของนายอัลบานีซ ไม่เพียงส่งผลให้เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของออสเตรเลียเท่านั้น แต่พรรคแรงงานของเขายังกวาดคะแนนเสียงด้วยจำนวนส.ส. 74 ต่อ 56 ที่นั่ง จากทั้งหมด 151 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย

ไม่เพียงแค่นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ หรือบทบาทของออสเตรเลียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น แต่สำหรับนายอัลบานีซ มีสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขามากกว่านั้นคือการ ผลักดันให้ออสเตรเลียเปลี่ยนจากประเทศเครือจักรภพที่มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง สู่ “สาธารณรัฐ” ที่ปกครองด้วยประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ปัจจุบันออสเตรเลียเป็นประเทศในเครือจักรภพ (Commonwealth of Australia) มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดำรงสถานะเป็นประมุข แต่ด้วยสมเด็จพระราชินีทรงเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ตามรัฐธรรมนูญออสเตรเลียจึงกำหนดให้มี “ข้าหลวงใหญ่” (Governor-General) ปฏิบัติหน้าที่แทนควีนในฐานะประมุขของประเทศ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
Dan Kitwood/Pool via REUTERS

โดยตำแหน่งผู้แทนพระองค์นี้ แม้ว่าจะมาจากการแต่งตั้งโดยควีน แต่รัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะรับตำแหน่งดังกล่าวต่อสมเด็จพระราชินี อย่างไรก็ตาม สำหรับนายอัลบานีซผู้ซึ่งมีจุดยืนนิยมสาธารณรัฐ มาโดยตลอดได้กล่าวว่าในการแสดงจุดยืนเรื่องนี้ครั้งล่าสุดว่า “สาธารณรัฐจะต้องเกิดขึ้น”

นายอัลบานีส ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐมาโดยตลอด เขาเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์และอภิปรายในรัฐสภาหลายครั้งว่า “โดยส่วนตัวเขาให้ความเคารพสมเด็จพระราชินีในฐานะที่ทรงงานเพื่อสาธารณะมายาวนาน แต่ท้ายที่สุดสาธารณรัฐคือคำตอบที่เหมาะสมของประเทศนี้”

เช่นเดียวกับการอภิปรายล่าสุดในสภาเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองการฉลองครบรอบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินี นายอัลบานีซ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า

“แม้ชาวออสเตรเลียจำนวนมากจะไม่ยึดในหลักราชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ชาวออสเตรเลียก็ยังคงนับถือเธอ ประเทศนี้สามารถเป็นสาธารณรัฐได้และผมยังคงให้ความเคารพต่อสมเด็จพระราชินีอย่างสุดซึ้ง เธอทำหน้าที่ของเธอด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีมนุษยธรรมมาตลอดหลายทศวรรษ”

ย้อนไปในปี 1999 ออสเตรเลียเคยจัดการลงประชามติเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้แทนพระองค์ และสถาบันกษัตริย์ แทนที่ด้วยระบอบประธานาธิบดี ซึ่งผลการลงประชามติในครั้งนั้น ชาวออสเตรเลียโหวตไม่เห็นด้วยที่ 54.87% ส่วนฝ่ายเห็นด้วยอยู่ที่ 45.13%

แม้ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายอัลบานีซจากพรรคแรงงาน จะผลักดันการลงประชามติในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกครั้งหรือไม่ แต่สำหรับตอนนี้ โฆษกของพรรคแรงงานกล่าวว่าพรรคจะให้ความสำคัญกับการให้สิทธิในฐานะพลเมืองต่อชนกลุ่มน้อยมากขึ้นซึ่งพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ก่อนจะเดินหน้าสู่การลงประชามติ ซึ่งตลอดเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อัลบานีซพูดหลายครั้งว่า หากเขาได้เป็นผู้นำรัฐบาลจะผลักดันให้สาธารณรัฐเกิดขึ้น