พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร

(จากซ้ายไปขวา) พระราชลัญจกร พระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ ร.9

สิ่งสำคัญที่จะต้องมีการทำขึ้นใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย แผ่นดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์

พิธีจารึกพระปรมาภิไธยลงในสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จะทำตามฤกษ์ที่โหรหลวงกำหนด เมื่อเสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทูลเกล้าฯถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ความหมาย ความสำคัญ ของพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร

พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย แผ่นจารึกดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีความหมายและความสำคัญ ดังนี้

พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ร.9

พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย คือ พระสุพรรณบัฏที่จารึกพระนามพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างแรกที่จะต้องถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน ก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์และอื่น ๆ

ดวงพระราชสมภพ ร.9

ดวงพระบรมราชสมภพ คือ ดวงพระชะตาการพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะต้องจารึกลงในแผ่นทองคำ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องเชิญแผ่นดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาลขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9

พระราชลัญจกร คือ ตราประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ ใช้เป็นดวงตราประทับกำกับพระปรมาภิไธย และเอกสารราชการแผ่นดิน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ที่ออกในพระปรมาภิไธย เป็นต้น

 

ขั้นตอนพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร

การจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย จารึกดวงพระบรมราชสมภพ
และแกะตราพระราชลัญจกรในสมัยรัตนโกสินทร์จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามวันและเวลาที่โหรหลวงกำหนดพระฤกษ์

ผู้ทำหน้าที่จารึกพระสุพรรณบัฏ คือ เจ้าพนักงานอาลักษณ์ ผู้ทำหน้าที่การจารึกดวงพระบรมราชสมภพ คือ โหรหลวง ส่วนผู้ทำหน้าที่แกะพระราชลัญจกร คือ นายช่าง

ขนาดแผ่นทองคำหรือสุพรรณบัฏนั้นไม่ได้มีกำหนดชัดเจน แต่ต้องเหมาะสมกับความยาวพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ ซึ่งโดยทั่วไปมีความยาวไม่ต่างกันมากนัก

ขั้นตอนพระราชพิธีเริ่มตั้งแต่ตอนเย็นของวันก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนโหรหลวงจะสวดบูชาเทวดา

เมื่อถึงวันพระฤกษ์ในตอนเช้า พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานในพิธีจะถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ก่อนเริ่มพิธี

ในพระอุโบสถตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง 3 ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำว้า หัวหมูสำหรับบูชาพระฤกษ์ โต๊ะที่ใช้ประกอบพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏทุกโต๊ะมีเทียนเงินเทียนทองกับพานดอกไม้ตั้งอยู่ ทุกโต๊ะหันไปทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) อันเป็นทิศที่เป็นมงคล อาลักษณ์ผู้จารึกพระสุพรรณบัฏแต่งกายด้วยเครื่องขาวและรับศีล

เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ ประธานพิธีจุดเทียนเงินเทียนทองทุกโต๊ะจารึก จากนั้นอาลักษณ์นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชอาสน์) คล้องสายสิญจน์ และหันหน้าไปสู่ทิศมงคล

พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ของรัชกาลที่ 7

เมื่อได้เวลาพระฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานไกวบัณเฑาะว์ อาลักษณ์และโหรลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ ส่วนนายช่างแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน ในระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตร สังข์ และพิณพาทย์ตลอดเวลา

เมื่อจารึกพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรเสร็จแล้ว พระราชครูพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์ที่พระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญแผ่นพระสุพรรณบัฏลงกล่องทองคำ ซึ่งจะบรรจุในถุงผ้าอีกชั้นหนึ่งพร้อมทั้งตีตราผนึกประดิษฐานไว้ในพานทอง หลังจากนั้นจึงเวียนเทียนสมโภชโดยมีการตั้งเครื่องบูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยบายศรีและเครื่องพลีกรรมทั้งปวง ระหว่างการเวียนเทียนสมโภชจะมีการประโคมมโหรีปี่พาทย์ ตีฆ้องชัย พราหมณ์เป่าพระมหาสังข์ประกอบการพระราชพิธี

จากนั้นเชิญพานสิ่งของทั้งสามขึ้นประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อรออัญเชิญไปเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อถึงวันพระฤกษ์จริง

 

การจารึกพระสุพรรณบัฏในรัชกาลก่อน ๆ

การจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ใช้พระนามเดียวกันด้วยการขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้แก้พระนามอดีตพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์ โดยให้เรียกตามนามพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศ

รัชกาลที่ 1 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 2 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 3 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกแผ่นดินของพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนธรรมเนียมการจารึกพระนามของพระมหากษัตริย์ให้มีพระนามต่างกันในแต่ละรัชกาล
นับแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏยังมีการจารึกดวงพระชะตาเช่นที่ปรากฏในหมายรับสั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2411 ดังนี้

“…ขุนโชติพรหมมาได้จารึกดวงพระชันษา นายราชสารได้จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏทองคำ เนื้อแปดเศษสอง ดวงพระชันษากว้าง 10 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว หนัก 2 ตำลึง ดวงพระนามกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว หนัก 2 ตำลึง พระมหาราชครูเจิมแล้ว พันด้วยไหมเบญจพรรณ บรรจุไว้ในพระกล่องทองคำจำหลักลายกุดั่น แล้วเชิญลงในหีบถมยาดำตะทอง มีถุงเข้มขาบนอก ตีตราประจำเล็บ เชิญขึ้นไว้บนพานทองสองชั้นสำรับใหญ่ ปิดคลุม ปักเลื่อม ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันสมโภชเวียนเทียน มีบายศรีแก้ว 1 บายศรีทอง 1 บายศรีเงิน 1 บายศรีตอง 2 สำรับ ศีร์ษะสุกร 2 ศีร์ษะ เครื่องกระยาบวชพร้อมสรรพด้วยแตรสังข์มโหรีปี่พาทย์กลองแขกฆ้องชัย พระมหาราชครูเป่าพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์อุตราวัฏ สมโภชเสร็จแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

การจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี มีหลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) หัวหน้ากองปกาศิต ในหน้าที่อาลักษณ์จารึกอักษรพระปรมาภิไธยลงในพระสุพรรณบัฏ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) โหรจารึกดวงพระบรมราชสมภพลงในแผ่นทอง และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปินในหน้าที่นายช่างแกะพระราชลัญจกร

พระราชพิธีในคราวนั้นนอกจากการจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ยังมีการจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามสมเด็จพระสังฆราช จารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศ์ในคราวเดียวกัน

 

การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร ร.10

การจารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ประกอบพระราชพิธีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤกษ์เวลา 08.19-11.35 น.

พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ ผู้แทนพระองค์ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน บนโต๊ะจารึกดวงพระราชสมภพ โต๊ะแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล และโต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏ

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำ
รัชกาล โดยมี นายภูมินทร์ ปลั่งสมบัติ เจ้าพนักงานอาลักษณ์เป็นผู้จารึกพระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏ นายฉัตรชัย ปิ่นเงิน โหรหลวง เป็นผู้จารึกดวงพระบรมราชสมภพ นายสุนทร วิไล ช่างศิลป์ประจำพระองค์เป็นผู้แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

พระพระราชพิธีครั้งนี้ นอกจากการจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ยังมีการจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระนามพระบรมวงศ์ด้วยในคราวเดียวกัน

หลังจากนี้พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย แผ่นดวงพระราชสภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จะประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนกว่าจะถึงพระฤกษ์ประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงจะเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง เพื่อทูลเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

 

————

ที่มาข้อมูล : หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดทำโดย กระทรวงวัฒนธรรม

                หนังสือเสวยราชสมบัติกษัตรา เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์