กรมชลประทาน ต่อต้านการล่าและบุกรุก

ก่อนที่อ่างเก็บน้ำจะถูกสร้างและทำหน้าที่กักเก็บน้ำเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ พื้นที่เดิมส่วนมากคือผืนป่า ลำน้ำ หรือไม่ก็ที่ดินทำกินของชาวบ้าน แต่หลังจากโครงการผ่านการศึกษาผลกระทบ มีการเยียวยาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งทั่วประเทศ มวลน้ำมหาศาลได้เข้ามาแทนที่

แต่นอกจากน้ำหลายล้านลูกบาศก์เมตร ในนั้นยังมีสัตว์น้ำจำนวนมาก รวมไปถึงสัตว์ป่าและพืชพรรณที่อยู่รายรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งทางกรมชลประทานได้พยายามอนุรักษ์ไว้อย่างดี แต่ก็ไม่วายยังพบปัญหาการบุกรุก ลักลอบล่าสัตว์ป่าและสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย แน่นอนว่ากรมชลประทานไม่ได้นิ่งเฉย

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หลังจากได้ประชุมหารือกันมาตลอดจึงได้ข้อสรุปว่ากรมชลประทานต้องพยายามป้องกันปัญหานี้ เนื่องจากการสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ได้สร้างขึ้นนพื้นของกรมชลประทานเองตั้งแต่แรกเริ่ม

“ตลอดมาเราอาศัยพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ป่าสงวนบ้าง เป็นอุทยานบ้าง หรือแม้กระทั่งเป็นที่ของประชาชนบ้าง ในการก่อสร้างเราจึงต้องมีการชดเชยที่ดินบ้าง ชดเชยค่าเสียหายบ้าง แต่ถ้าเป็นพื้นที่อุทยานหรือพื้นที่ป่าสงวน เวลาเราขอเพิกถอนมาจะมีข้อแม้ว่าต้องมีมาตรการป้องกันดูแล พอเราต้องป้องกันมันอาจจะสวนทางกับบางประเด็น เช่น อ่างเก็บน้ำต้องมีเรื่องการประมงเข้ามา เราจึงต้องนำกฎหมายด้านการประมงเข้ามาเพื่อดูแลเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการบุกรุก”

เท่าที่ผ่านมา กรมชลประทานพบการบุกรุกอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการบุกรุกทำประมงผิดกฎหมาย และมีไม่น้อยที่ลักลอบทำผิดกฎหมายเรื่องป่าไม้และสัตว์ป่า ทางหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 บอกว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากควบคุมดูแลไม่ได้ การขอใช้พื้นที่ในโครงการต่อไปๆ อาจถูกปฏิเสธได้ กรมชลประทานจึงมีแผนป้องกันการบุกรุก แม้แต่การจัดระเบียบการประมงในอ่างเก็บน้ำซึ่งร่วมกับกรมประมง ส่วนอ่างเก็บน้ำใดมีพื้นที่ติดกับอุทยานฯ ก็ร่วมมือกับกรมอุทยานฯ โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติภารกิจป้องปราม

“เรามีงบประมาณให้พวกเขา เราซื้อเรือลาดตระเวนให้พวกเขาใช้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ส่วนร่วมกับกรมประมงซึ่งเขามีกฎหมายจัดระเบียบด้านการประมงได้ เราก็ให้งบประมาณตรงนี้ไปเพิ่มเติมเพื่อที่จะป้องกันดูแล เพราะกรมชลประทานจับไม่ได้ เราไม่มีกฎหมายที่จะไปจับใคร แต่หน่วยงานอื่นเขามี ต้องอาศัยร่วมกัน

ในการดำเนินการต้องร่วมกันหลายหน่วยงาน เพราะเราไม่มีอำนาจในการป้องปราม เพราะฉะนั้นต้องมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยปราบปรามประมง”

นอกจากความร่วมมือกันระหว่างกรมประมงและหน่วยงานต่างๆ ส่วนสำคัญที่จะเป็นหูเป็นตาและมีผลโดยตรงต่อการดูแลรักษาเรื่องนี้ในแต่ละพื้นที่ คือ การสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน

นายมหิทธิ์เล่าว่าเริ่มจากการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม โดยเชิญผู้นำชุมชนมาร่วมประชุม และเนื่องด้วยกรมชลประทานไม่มีกฎหมายด้านการประมง ต้องอาศัยทุกฝ่าย

“กรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลพื้นน้ำก็อาจจะไปจัดตั้งกลุ่มอาสาประมง หรือแม้แต่เรื่องการจับปลาก็มีการประกาศเขตน้ำแดง ห้ามจับปลา ทั้งหมดนั้นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนจริงๆ”

หลังจากมีการปรึกษาหารือกันแล้ว ได้ข้อสรุปว่าอนุญาตให้พายเรือไปจับปลาได้ แต่ห้ามใช้เรือที่มีเครื่องยนต์ เป็นมาตรการที่ช่วยควบคุมไม่ให้คนที่อาศัยศักยภาพของเครื่องยนต์มาทำลายทรัพยากร หรือเพื่อใช้หลบหนีการจับกุมหากทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น จดทะเบียนชาวประมง ตั้งสหกรณ์แพปลา ติดป้ายเตือนต่างๆ ฯลฯ ทุกมาตรการล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่างเก็บน้ำเอาไว้ให้ได้มากที่สุด