“เก่งภาษา กล้าแสดงออก หน้ากล้อง หลังกล้อง คล่องหมด” เอกอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.กรุงเทพ จับมือนิเทศฯ ปั้น “เด็กอิ๊งพันธุ์ใหม่” รับยุคดิจิทัล

ครั้งแรกของการเรียนการสอนสาขาวิชาภาษาอังกฤษที่เสริมแกร่งทักษะด้านนิเทศศาสตร์ให้แก่นักศึกษา เมื่อสาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกิดประกายไอเดีย ชวนเพื่อนร่วมสถาบันอย่างคณะนิเทศศาสตร์ มาร่วมกันบ่มเพาะ “เด็กเอกอิ๊ง” หรือนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ให้มีความเชี่ยวชาญนอกเหนือจากภาษา ด้วยการติดอาวุธด้านการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล เพื่อขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างไกลขึ้น 

เป็นประจำทุกปีที่  Education First (EF) องค์กรนานาชาติที่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอบรมด้านภาษา จะทำการสำรวจความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของประชากรจากประเทศต่างๆ โดยผลการสำรวจล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 นั้นพบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 89 จาก 100 อันดับทั่วโลก ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา  

แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เพราะสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังคงได้รับความนิยมจากผู้เรียนเสมอมา สะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนไทยส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องภาษา เนื่องจากตระหนักว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่คนเราควรต้องรู้ และใครที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษย่อมจะได้รับโอกาสในการทำงานมากกว่า มีโอกาสเติบโตก้าวหน้าสูงกว่า อีกทั้งสามารถทำงานได้หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะในองค์กรภายในประเทศหรือองค์กรระดับสากล 

และเพื่อเป็นการเพิ่มลู่ทางในการทำงานให้มากขึ้น สาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้จับมือกับคณะนิเทศศาสตร์ จัดทำโครงการพิเศษขึ้น โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาใหม่ของสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ได้เรียนรู้ทักษะทางด้านนิเทศศาสตร์ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพราะคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีสาขาวิชาและหลักสูตรที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและภูมิทัศน์สื่อยุคดิจิทัล เช่น หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียล และ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง ที่พัฒนาหลักสูตรให้ทันโลกตลอดมา 

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ถ้าเรียนจบด้านภาษาจะต้องทำงานในธุรกิจบริการหรือในออฟฟิศเท่านั้น” ดร.จิราพร เกิดชูชื่น คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว “แต่อันที่จริงสามารถประกอบอาชีพที่หลากหลายกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้เรียนมีทักษะในการสื่อสารยุคดิจิทัล ก็จะทำให้ไปได้ไกลกว่า ดังนั้นทางสาขาภาษาอังกฤษจึงทำความร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัล โดยวิชาที่เปิดสอนร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์นั้นจะครอบคลุมทักษะการเป็น Influencer และ Personal Branding ทักษะการสร้างคอนเทนต์และเขียนโฆษณา ทักษะการแปลบทหนัง ทักษะการทำ Streaming Media และทักษะการพูดในที่สาธารณชน” 

ทางด้าน ผศ.ดร.อริชัย อรรคอุดม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวสมทบว่า “ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัลที่การสื่อสารมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสื่อสารในโลกโซเชียลที่ไม่ใช่แค่ว่าพูดได้หรือพูดเป็นเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะทางที่จะทำให้การนำเสนอนั้นน่าสนใจและน่าติดตาม คณะนิเทศศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้จึงอยากเข้ามามีส่วนบ่มเพาะนักศึกษาสาขาภาษาอังกฤษให้มีความสามารถทำงานหน้ากล้องและต่อหน้าสาธารณชน เช่น YouTuber, TikToker, Vlogger, พิธีกร 2 ภาษา, ผู้ประกาศข่าวภาษาอังกฤษ, อาจารย์, ติวเตอร์, Content Creator รวมทั้งการทำงานหลังกล้องในฐานะนักแปลบทหนัง, นักแปลซับไตเติ้ล, ล่าม, ก็อปปี้ไรเตอร์ เป็นต้น” 

โครงการพิเศษซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นี้ จึงนับเป็นการพลิกโฉมการเรียนภาษาให้ทันยุคทันสมัย เพราะไม่เพียงทำให้ “เด็กเอกอิ๊ง” เก่งภาษาเช่นเดิม แต่ยังติดอาวุธให้กล้าแสดงออก มีทักษะการสื่อสารทั้งหน้ากล้องและหลังกล้อง ทำให้ตอบโจทย์ตลาดงานยุคใหม่และช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น