“ฮุน เซน” กระชับอำนาจ

Reuters/Samrang Pring

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

หลังจากที่การเลือกตั้งมาเลเซียจบไปเป็นที่เรียบร้อย กับผลคะแนนช็อกประวัติศาสตร์ พรรคที่ไม่เคยเสียอำนาจ กลายเป็นพลาดท่าโดนพลังประชาชน รวมตัวโหวตคว่ำเปลี่ยนรัฐบาล จากแนวร่วมแห่งชาติ เป็นแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน หรือแนวร่วมพันธมิตรแห่งความหวัง

ช่วงนี้อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชัด ๆ ก็คือ “กัมพูชา” กับการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนนี้

“ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชากว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่กัมพูชาเริ่มกลับเข้ามาอยู่กับร่องกับรอยหลังจากสงครามกลางเมือง แต่ชะตากรรมของ ฮุน เซน อาจจบไม่เหมือนกับ นายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะนายกรัฐมนตรีเหล็กคนนี้ได้กวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่คอยวิจารณ์รัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็น เรดิโอ ฟรี เอเชีย และ วอยซ์ ออฟ อเมริกา ที่ได้รับเงินหนุนจากสหรัฐให้เสนอข่าวอย่างอิสระ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “แคมโบเดียเดลี่” ที่ถูกบังคับให้ปิด รวมถึง “พนมเปญโพสต์” ที่มีรายงานว่าถูกเร่งรัดขายให้กับนักธุรกิจชาวมาเลเซียที่มีความใกล้ชิดกับฮุน เซน

ที่สำคัญยังมีการจับนักข่าวจากเรดิโอ ฟรี เอเชีย พร้อมยัดข้อกล่าวหาว่าคอยเป็นสายลับส่งข่าวให้ “สหรัฐ”

การไล่ปิด ไล่บี้ สื่อเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ส่วนการไล่จับนักการเมืองฝ่ายค้านก็ทำมานาน และมักป้ายความผิดว่าให้การหนุนหลังนักข่าวสายลับ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลวอชิงตัน

อย่างการจับ นายเขม โสกา ที่ชัดเจนมาก หลังฝ่ายรัฐบาลตั้งข้อหาทรยศต่อชาติ และสหรัฐให้ท้ายอยู่ แต่ก็มีความหวาดกลัวฝ่ายค้านไม่น้อย หากดูผลการเลือกตั้งในปี 2556 และเลือกตั้งระดับท้องถิ่นปีก่อน พบว่าพรรคสงเคราะห์แห่งชาติของ เขม โสกา ได้คะแนนตีตื้นรัฐบาลมาเรื่อย ๆ

ตัดไฟแต่ต้นลม ไล่จับฝ่ายตรงข้าม และปัดฝุ่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาบังคับใช้ ก็น่าจะเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งสิ้น

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการเลือกตั้ง ฮุน เซน ยังงัดไม้เด็ดสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือการด่าทอสหรัฐ อย่างสาดเสียเทเสีย เพื่อเรียกคะแนนเสียงก่อนเปิดคูหา พร้อมกับป้ายสีให้สหรัฐเป็นศัตรู ปรปักษ์ต่อกัมพูชา

ย้อนกลับไปในปี 2551 รัฐบาลเคยหยิบเอาเรื่องชาตินิยมมาใช้หาเสียง โดยครั้งนั้นป้ายความผิด ชี้ศัตรูไปทางเพื่อนบ้านทิศตะวันตก และเอาเขาพระวิหารมาเป็นประเด็นการเมือง โดยเรียกร้องให้ผู้คนมีสำนึกเดียวกันเข้าไปแสดงออกในคูหาเลือกตั้ง

แต่หลังจากเลือกตั้งจบ นายกฯฮุน เซน ก็กลับมาคืนดีกับเพื่อนบ้านทิศตะวันตกตามเดิม

แต่ปีนี้ชัดเจนว่า ที่กัมพูชาเลือกเล่นไม้เด็ดด่าสหรัฐได้ เพราะได้แรงหนุนสำคัญจากจีน และรัสเซีย ที่มีรายงานว่าจะส่งคนเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่สหภาพยุโรป ไม่ส่ง โดยมองว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐบาล

เชื่อได้ว่าการเมืองกัมพูชา จะไม่พลิกโผเหมือนการเมืองมาเลเซียแน่นอน เพราะโครงสร้างภายในที่ต่างกันสิ้นเชิง รวมไปถึงอำนาจของรัฐบาลที่ทะลุลิมิตขีดจำกัด ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในลักษณะไม่สนใจประชาคมโลก

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ หากทายาททางการเมืองฮุน เซน ไม่แข็งจริง โครงสร้างการเมืองกัมพูชาอาจเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าก็ย่อมได้