ไทยนั่ง “ประธานอาเซียน 2019” บทสรุป “RCEP” คือความท้าทายสำคัญ

ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่ประเทศไทยจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ “ประธานอาเซียน” รับไม้ต่อจากประเทศสิงคโปร์อาเซียนถือเป็นประชาคมเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากไทยแล้ว ยังประกอบด้วยอีก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันอนุภูมิภาคแห่งนี้กำลังได้รับความนิยมด้านการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความพร้อมในการขึ้นนั่งประธานอาเซียนของประเทศไทย ตลอดจนความท้าทายและโอกาส

ผศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นข้อตกลงที่ก้าวหน้ามากกว่าข้อตกลงอื่น ๆ และเป็นเขตเศรษฐกิจที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้อีกนานจนถึงปี 2050 บนข้อแม้ว่า “อาเซียน-จีน-อินเดีย” จะต้องจับมือกันให้ดี เพราะโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกจะหมุนมาอยู่ในบริเวณนี้

หนึ่งในหน้าที่สำคัญของ “ไทย” ในปี 2019 เมื่อขึ้นนั่งประธานอาเซียน คือ ต้องสานต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จ หากสิงคโปร์สรุปข้อตกลงไม่ได้

ภายในปีนี้ เพราะอาร์เซ็ป คือ ความตกลงที่เป็นรูปธรรมที่สุดในเชิงการค้าและเศรษฐกิจ และหวังว่าอาเซียนจะหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดมากขึ้น และเพิ่มบทบาทความเข้มข้นของสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มากขึ้นด้วย

Advertisment

ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษายอมรับว่า แม้กระบวนการของอาเซียนมีความล่าช้า แต่อย่างน้อยการจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็มีการประนีประนอมต่อกัน ไม่ไปเปิดศึกต่อประเทศสมาชิกด้วยกัน ทำให้ทุกประเทศพร้อมเดินหน้าบนข้อตกลงเดียวกัน

“โครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมของอาเซียนไม่เหมือนกับยุโรป อาเซียน เป็นintergovernment method (แต่ละรัฐมีฐานะเท่าเทียมกัน และคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของตน) ไม่ใช่ community

method แบบยุโรป เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีสภาพบังคับ ไม่ได้มีการนำทุกประเด็นมาโหวต ซึ่งถ้าเราทำแบบนั้น อาเซียนน่าจะแตกไปตั้งแต่ 50 ปีก่อน”

อีกโจทย์สำคัญก็คือ แม้อาเซียนจะมีความเชื่อมโยงภายในแข็งแกร่งประมาณหนึ่ง แต่ต้องอย่าลืมเชื่อมโยงกับภายนอกด้วย คือ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อาเซียนมีอำนาจที่จะไปต่อรอง

Advertisment

กับจีน ที่กำลังเดินหน้าโปรเจ็กต์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ให้มีความ “เกื้อกูลกัน” ระหว่าง 2 ฝ่าย

“นาทีนี้มันกลายเป็นเหมือนกับอาเซียนแต่ละประเทศยอมรับสิ่งที่ฝ่ายจีนเสนออย่างเดียว คือ จีนกลายเป็นตัวนำเกม แทนที่จริง ๆ เราควรอยู่ในลักษณะอีโคพาร์ตเนอร์ และทำให้หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมาเสริมความเป็นอาเซียนมากกว่า” ผศ.ดร.ปิติระบุ

ทั้งนี้ ในงาน “อาเซียน เดย์ 2018” เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ กระทรวงการต่างประเทศ “สุริยา จินดาวงษ์” อธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวถึง 3 บทบาทสำคัญที่ไทยจะต้องเดินหน้าในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ได้แก่ 1.putting out fire หรือการดับไฟในบ้าน การฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีในประชาคมอาเซียน ตลอดจนการรับมือกับปัญหาจากภายนอกบ้าน เช่น สงครามการค้าโลก

บทบาทที่ 2.คือ regionally role การผสมผสานไอเดียการพัฒนาจากประเทศต่าง ๆ เพื่อผสานประโยชน์ ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์เท่านั้น ตลอดจนการเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ดร.สุริยาระบุว่า บทบาทนี้เป็นบทบาทที่ไทยถนัด เพราะประเทศอื่นก็วางใจให้ไทยทำ เชื่อว่าน่าจะแฟร์ เพราะไทยเป็นประเทศที่หน้าบาง และไม่คิดจะเอาผลประโยชน์มาเป็นของตนเอง 100%

และบทบาทที่ 3.systemic role บทบาทในเชิงระบบ หรือการยกอาเซียนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ประเทศไทยเคยเล่นบทบาทนี้ในการเสนอให้ก่อตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อแรกเริ่ม ขณะที่ในยุคนี้ ไทยต้องนำคอนเซ็ปต์ “ความยั่งยืน”เข้ามาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อาเซียน10 ประเทศไม่ใช่ทำอะไรในระยะสั้น ๆ อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นการจัดการชายแดน ตลอดจนการรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน