‘มหาธีร์’ ปาฐกถาที่จุฬาฯชี้ ‘มาเลเซีย’ พร้อมช่วยไทยดับไฟใต้ เชื่อแก้ได้ด้วยการเจรจา

REUTERS/Soe Zeya Tun

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในบริบทของอาเซียน” โดยมีผู้สนใจร่วมรับฟังจนเต็มหอประชุมว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซีย-ไทย มีขึ้นตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราชและกลายเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ตั้งแต่อดีตไทยเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามาเลเซียมาก สมาชิกราชวงศ์มาเลเซียรวมถึงผู้นำมาเลเซียก็ยังมาศึกษาเล่าเรียนในไทย เพราะมาเลเซียในขณะที่ไทยยังเป็นสยามประกอบด้วย 9 รัฐ แต่ละรัฐอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องตนเองได้

เมื่ออังกฤษเข้ามา เราจึงคิดว่าการอยู่กับอังกฤษจะทำให้เราไม่ถูกประเทศต่างๆ รุกราน แต่การทำสนธิสัญญาทำให้เรากลายเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ อย่างไรก็ดีหลังเราได้รับเอกราช ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มาเลเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อเรามีปัญหาผู้ก่อความวุ่นวายในประเทศหลังได้รับเอกราช ไทยก็ให้ความช่วยเหลือเรา และยังช่วยรับผู้เห็นต่างเหล่านั้นให้ไปตั้งรกรากในไทย

เช่นเดียวกับเมื่อเราเผชิญกับการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากไทยเช่นกัน เราชื่นชมความช่วยเหลือที่ไทยมอบให้กับเราอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อไทยมีปัญหาในภาคใต้ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยเหลือไทยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ไทยยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับมาเลเซีย โดยเป็นคู่ค้าลำดับ 2 รองจากสิงคโปร์ เราเชื่อว่าการค้าระหว่างกันสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศต่อไป

นโยบายต่างประเทศของมาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชคือการวางตัวเป็นกลาง เราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อกับการทำสงครามระหว่างประเทศ แนวคิดเรื่องการก่อตั้งอาเซียนแต่เริ่มแรก ที่เป็นการรวมตัวกันในภูมิภาคเริ่มขึ้นจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้ร่ำรวย

เราตัดสินใจว่าจะรวมตัวกันเพราะไม่ต้องการให้เกิดสงคราม โดยหันมารวมตัวกันเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงเนื่องจากเรายังมีความขัดแย้งในเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือดินแดน ซึ่งการรวมตัวดังกล่าวทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนแห่งสันติภาพและความมั่นคง จนประเทศอื่นๆ เข้ามารวมกับเรา และกลายเป็นอาเซียนซึ่งมี 10 ประเทศในปัจจุบัน

มาเลเซียและไทยมีปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนกันในพื้นที่ทางทะเล แต่ผู้นำของเราในอดีตตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว 50:50

นี่เป็นสิ่งที่เราต้องให้คุณค่า เพราะเราสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่มีความรุนแรง สงครามไม่ใช่หนทางที่จะแก้ไขปัญหา เพราะที่สุดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะก็ไม่มีอะไรคุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ปัญหาตามแนวชายแดนเกิดขึ้นกับทุกประเทศ เนื่องจากผู้คนที่อยู่บริเวณชายแดนจะมีการเดินทางข้ามไปมาหาสู่กันเพราะมีญาติมิตรอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งสภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาแต่เราสามารถแก้ไขได้ผ่านการเจรจา มีผู้ที่ก่อความไม่สงบเพราะต้องการจะโค่นล้มรัฐบาลจึงทำสงครามกองโจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวยากจะทำให้ได้ข้อยุติ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาผ่านการต่อสู้ แต่เราต้องเอาชนะใจประชาชน และต้องมีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

ในอดีตรัฐบาลไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือมาเลเซียในการต่อสู้กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งนี่คือการแก้ไขปัญหาผ่านหนทางแห่งสันติภาพ มาเลเซียไม่เชื่อในการทำสงคราม แต่เห็นว่าเราต้องแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจานับตั้งแต่ตนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในไทย เราร่วมมือกับไทยเพื่อให้ความรุนแรงยุติ ชายแดนไทย-มาเลเซียจึงกลายเป็นดินแดงแห่งสันติภาพ ความขัดแย้งไม่ได้แก้ไขด้วยการใช้ความรุนแรงหรือการสู้รบกัน ตนรู้จักผู้นำไทยดีและส่งเสริมให้มีการติดต่อระหว่างผู้นำสองประเทศ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะสามารถแก้ไขผ่านการเจรจา

นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและไทย ซึ่งตนหวังว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตลอดไป

เมื่อมีผู้ถามว่ามาเลเซียจะช่วยไทยแก้ไขปัญหาในภาคใต้ได้อย่างไรบ้าง นายมหาธีร์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความแตกต่างทางศาสนา แต่เนื่องจากผู้คนรู้สึกว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาโกรธแค้น แต่คนเหล่านั้นไม่สามารถทำสงครามตามรูปแบบปกติได้เพราะไม่มีอาวุธ จึงกลายเป็นสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่าการก่อการร้าย

เพราะเมื่อ 70 ปีก่อนไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้ ไม่มีพวกกลุ่มหัวรุนแรง ทั้งที่ผู้คนหลากหลายศาสนาก็อยู่ร่วมกัน เมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมพวกเขาจึงก่อเหตุเพื่อหาทางเอาดินแดนที่คิดว่าเป็นของพวกเขากลับคืน ซึ่งไม่ใช่เรื่องความแตกต่างทางศาสนาแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าในปีหน้าไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียน ไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องใด นายมหาธีร์กล่าวว่า อาเซียนมีศักยภาพสูงมากเพราะมีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคนซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ หากอาเซียนสามารถผลิตของเพื่อใช้เองภายในภูมิภาคแทนที่จะซื้อจากภายนอกเช่นในปัจจุบัน จะทำให้การค้าขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นและเงินจะหมุนเวียนภายในประเทศสมาชิกมากขึ้นเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนทำ

ตนยังจำได้ที่ได้เห็นรถที่ผลิตในญี่ปุ่นครั้งแรกมันออกมาไม่ดีนักแต่ญี่ปุ่นก็พัฒนาให้ดีขึ้นจนปัจจุบันรถของญี่ปุ่นมีคุณภาพมากเพราะฉะนั้นอาเซียนควรต้องหันมาผลิตสิ่งที่เราต้องการขึ้นเองและพัฒนามันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หากเราทำได้เช่นนั้นเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโตได้รวดเร็วยิ่งกว่าที่เติบโตอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์