ศึกการเมือง “กัมพูชา-สหรัฐ” เสี่ยงลามสายสัมพันธ์ “การค้า”

แม้การเลือกตั้งครั้งสำคัญของ “กัมพูชา” จะยังอีกเกือบปี โดยกำหนดการเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2018 อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองในประเทศกลับเริ่มคุกรุ่นจนลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ “สหรัฐอเมริกา” กลายเป็นประเทศเป้าหมายที่รัฐบาลฮุน เซน ต่อต้านชัดขึ้น

นับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรี “ฮุน เซน” ประกาศขับไล่ “สถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ” (NDI) องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ของสหรัฐ ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของนายฮุน เซน เวลานี้พุ่งเป้ามาที่สหรัฐ โดยมองว่าอำนาจของฮุน เซน เป็นภัยคุกคามต่อประเทศที่มีโอกาสก้าวสู่ “ประชาธิปไตย” ในการเลือกตั้งปีหน้า

ขณะที่ นายกฯ ฮุน เซน ตอบโต้ว่า”ประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน ก็อำมหิตไม่แพ้ชาติอื่น ๆ” และเมื่อ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา นายเข็ม โสกา หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ถูกจับกุมตัวที่บ้านพักในกรุงพนมเปญ โดยรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็น”กบฏ” พยายามวางแผนลับสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐ เพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐบาล โดยเสี่ยงจำคุกสูงสุด 30 ปี หากศาลเห็นว่ามีหลักฐานยืนยันเพียงพอ

หลังจากนั้นเพียง 1 วัน “เดอะ แคมโบเดีย เดลี” หนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอิสระ ซึ่งมักวิจารณ์รัฐบาลมาตลอดได้ปิดตัวลงในวันที่ 4 ก.ย. โดยระบุว่าถูกรัฐบาลเล่นงานด้วยการเรียกภาษีย้อนหลังสูงเกินความเป็นจริง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ฮุน เซน พุ่งเป้าเล่นงานสหรัฐมากที่สุด โดยสื่ออิสระที่เพิ่งปิดลงตัวนอกจากผู้บริหารหนังสือพิมพ์เป็นชาวอเมริกัน ยังกล่าวอ้างถึงการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยเป็นการเก็บภาษีที่สูงเกินจริงมากถึง 6.3 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังกำหนดเส้นตายให้จ่ายภายใน 30 วัน โดยไม่เปิดโอกาสให้เข้าเจรจา

ด้าน นายไมเคิล มิคาแร็ก กรรมการผู้จัดการสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ประจำภูมิภาค กล่าวว่า “การลงทุนโดยตรงของสหรัฐในกัมพูชาเริ่มชะลอตัว 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่อเมริกันยังติดท็อปไฟฟ์ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ”

ความน่าสนใจก็คือ “สิ่งทอและรองเท้า” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทำเงินหลัก ซึ่งส่งออกไป 2 ตลาดหลัก ๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งสัดส่วนราว 43% ของยอดส่งออกสิ่งทอและรองเท้าทั้งหมด แต่นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤต “เบร็กซิต” ทำให้ตลาดส่งออกไปอียูลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ขณะที่การเมืองอียูก็ยังสั่นคลอน ทำให้ความหวังกับการส่งออกตลาดอียูก็ดูยากลำบากมากขึ้น

ขณะที่ “สหรัฐ” ตลาดส่งออกเบอร์สองของกัมพูชา ปีที่ผ่านมากัมพูชาส่งออกไปสหรัฐมูลค่ารวม 2,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าประเด็น “การค้า” ของสองประเทศจะถูกพ่นพิษจากความขัดแย้งทางการเมือง และ “กัมพูชา” จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและได้รับผลกระทบ แม้ระยะหลังกัมพูชาจะได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากจีน แต่อุตสาหกรรมทำรายได้และเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ยังคงเป็นการผลิตสิ่งทอและรองเท้า หากกัมพูชาต่อต้านชาติตะวันตก ก็เท่ากับว่าตัดท่อลมหายใจของตัวเองไปหนึ่งข้าง ขณะที่ตลาดส่งออกอียูก็อ่อนแอลง