ASEAN Summit ชู 13 วาระ ฝ่าเศรษฐกิจโลกฝืด

เวทีการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2562 ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นเวทีการประชุมโค้งสุดท้ายที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก่อนส่งไม้ต่อให้ “เวียดนาม” รับหน้าที่ประธาน ในปี 2563

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนได้หารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือ 3 เสา ทั้งด้านการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้สมาชิกเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก กระแสรุกคืบเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ (technology disruption) และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกรวมทั้งภูมิภาคอาเซียน

ความท้าทายดังกล่าวผลักดันให้อาเซียนต้องเร่งผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเพื่อก้าวผ่านไปให้ได้

ในส่วนเสาเศรษฐกิจ ฝ่ายไทยมี “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะประชุมร่วมกับคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ถือว่าประสบความเร็จเป็นรูปธรรม ใน 13 ประเด็น เป็นวาระหลักที่ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมนี้ผลักดันอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดทำแผนงานดิจิทัลอาเซียน การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบการวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN single window : ASW) ครบ 10 ประเทศในปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าประกอบการอาเซียน การจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน เพื่อวางรากฐานยกระดับระบบนิเวศของตลาดทุน

ไฮไลต์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจับจ้องในการประชุมครั้งนี้หนีไม่พ้น การประกาศความสำเร็จของความตกลง “RCEP” เป็นความตกลงที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และพันธมิตร 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เจรจากันมาอย่างยาวนานเกือบ 8 ปี ใน 17 ข้อบท 3 ภาคผนวก

ผลสำเร็จหากบรรลุความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุม 16 ประเทศ มีประชากรรวมกว่าครึ่งโลก หรือประมาณ 3,500 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 27.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 32.3% ของมูลค่าการค้าโลก เท่ากับ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก จะเป็นหมัดเด็ดที่อาเซียนต้องการสร้างความเป็นศูนย์กลางตามแนวทาง “ASEAN centrality” ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคไม่น้อยไปกว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ CPTTP

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมอาเซียนซัมมิต วันที่ 4 พ.ย.นี้ ประกาศความสำเร็จแล้ว สมาชิกจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาภายในประเทศ ก่อนจะลงนามในปี 2563 และให้สัตยาบัน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช้าที่สุดไม่เกิน 2 ปี นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้ สร้างความเชื่อมโยงในห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค และจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนนอกกลุ่มสู่ RCEP ด้วย

สำหรับประเทศไทยแล้วอาจกล่าวได้ว่า ความตกลงฉบับนี้มีความสำคัญต่อไทยมากในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ ทั้งจากสงครามการค้ามหาอำนาจสหรัฐ-จีน ความไม่แน่นอนของเบร็กซิตในสหภาพยุโรป เงินบาทแข็งค่า เป็นแรงกดดันทำให้การส่งออกไทยช่วง 3 ไตรมาสแรกหดตัวลงถึง 2.11% ซ้ำร้ายไทยยังถูกสหรัฐพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้า 573 รายการ ดังนั้น หากมี RCEP จะพลิกฟื้นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะปัจจุบันไทยทำการค้ากับสมาชิก RCEP มูลค่า 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 59.8% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด โดยส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก RCEP 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกไฮไลต์ที่ต้องเกาะติดในรอบนี้ คือ “เวทีเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างอาเซียนกับพันธมิตร” ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งอาเซียนวางเป้าหมาย พัฒนาความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเป็นมหามิตรที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านดิจิทัล การจัดทำกฎระเบียบที่ดี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงระบบ ASW

ขณะที่จีนก็ให้ความสำคัญอาเซียนไม่แพ้กัน โดยมีข้อริเริ่มการขยายการค้าตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้น (One Belt One Road) เชื่อมโยงกับอาเซียน ผลักดันการเจรจาเปิดเสรีสินค้าเพิ่ม การเปิดเสรีด้านการลงทุนและความคุ้มครองการลงทุน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น