“ไทย” แชมป์ FDI จากญี่ปุ่น จับตา “เวียดนาม” เป้าหมายลงทุนใหม่มาแรง

อาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคเนื้อหอมสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงครองตำแหน่งผู้ลงทุนระดับต้น ๆ ตัวเลขล่าสุดปลายปี 2016 จากองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ “เจโทร” สาขากรุงเทพฯระบุว่า การลงทุนจากญี่ปุ่นมายังอาเซียนมียอดสะสมมากถึง 163,093 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประเทศท็อป 5 ที่มีเม็ดเงินลงทุนสะสมรวมจากญี่ปุ่นมากที่สุดได้แก่ ไทย (53,561 ล้านเหรียญสหรัฐ) สิงคโปร์ (39,649 ล้านเหรียญสหรัฐ) อินโดนีเซีย (26,696 ล้านเหรียญสหรัฐ) เวียดนาม (14,651 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมาเลเซีย (12,668 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่นมานานหลายทศวรรษแต่สำหรับ “เวียดนาม” ซึ่งเป็นท็อป 4 ของอาเซียน เรียกได้ว่ามีนัยสำคัญ เนื่องจากในราว 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมาแรงแซงหลายประเทศทั้งในเรื่องการเติบโตของจีดีพี การเปิดเสรีการค้า

ซึ่งช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมหาศาล จากข้อมูลของเจโทรระบุว่า การลงทุนในเวียดนามของญี่ปุ่นนั้น 9,523 ล้านเหรียญสหรัฐ จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ภาคบริการ 5,128 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเน้นการลงทุนในด้านการเงินและประกันภัยถึง 3,487 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับ 2 ในเวียดนาม เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเวียดนามยังไปได้อีกไกล รัฐบาลตั้งเป้าจีดีพีปี 2017 ไว้ที่ 6.7% และ 7% ในปีต่อ ๆ ไป

รายงานจาก “เวียดนาม บรีฟฟิ่ง” บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ระบุว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่เวียดนามก้าวมาเป็นเป้าหมายของนักลงทุน เกิดจากความพยายามในการอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล นโยบายอำนวยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการควบรวมกิจการ การเป็นเจ้าของกิจการ 100% และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่าง ๆ ขณะที่อีกปัจจัยสำคัญคือการเติบโตของชนชั้นกลางเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2020กล่าวได้ว่า เวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างถูกเส้นทาง ในขณะเดียวกัน “เมียนมา” ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนมีการเลือกตั้งรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบ 55 ปี ทำให้ได้รับการจับตาทางด้านโอกาสการลงทุนจากทั่วโลก

แต่เพราะปัจจุบันเมียนมายังคงไม่สามารถหลุดพ้นกับดักปัญหาการเมืองไปได้ ทำให้โปรเจ็กชั่นการลงทุนที่คาดหวังเอาไว้ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยจากรายงานของเจโทร เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 8 สำหรับการลงทุนสะสมของญี่ปุ่นในอาเซียนที่ 883 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยที่ครองตำแหน่งแชมป์ประเทศที่มีการลงทุนจากญี่ปุ่นมากที่สุดนั้น นายฮิโรกิ มิตสึมาตะ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นลงทุนมากที่สุด โดยตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยหรือบีโอไอ ระบุว่า ปี 2016 นักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติการลงทุนจาก

บีโอไอมีมูลค่า 79,629 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2017 ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอเป็นเม็ดเงิน49,680 ล้านบาท (มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2016 ที่มีเพียง 28,275 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม มิตสึมาตะบอกว่า ยังระบุไม่ได้ว่ายอดลงทุนรวมในปี 2017 จะมากกว่าปี 2016 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติการลงทุนจากบีโอไอด้วย

จากรายงานการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2017 พบว่ามีบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันสถานะการประกอบธุรกิจในไทย อยู่ที่ 5,444 บริษัท เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ 3 ปีก่อนถึง 877 บริษัทความน่าสนใจคือ บริษัทส่วนใหญ่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุน

เป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (ยกเว้นภาคเกษตรกรรมและก่อสร้าง)ถึง 629 บริษัท และมีจำนวนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ามาลงทุนมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 432 บริษัท เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน

อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคการค้าปลีก ภาคบริการ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (การเช่าและให้เช่า) การแพทย์ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภาคการไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม และภาคงานวิจัย การบริหารเฉพาะทาง และเทคโนโลยี

มิตสึมาตะกล่าวว่า การเข้ามาลงทุนของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะก่อนหน้านี้ภาคดังกล่าวไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทยมากเท่าภาคการผลิต ซึ่งอาจจะดูลาดเลาเศรษฐกิจไทยอยู่ในเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ามาลงทุนเมื่อได้เวลาอันสมควร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยยังเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่ตลอด ประธานเจโทรระบุว่า เป็นเพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ต่อเนื่องทุกปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไป แต่ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ยังส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอยู่เสมอ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จึงกล่าวได้ว่าการเมืองไม่ส่งผลต่อการลงทุนนัก