ฟิลเตอร์ผีหลอกเด็ก เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน เมื่อถูกผู้ที่ไว้ใจแกล้งให้กลัว

Getty Images

ฟิลเตอร์ผีหลอกเด็กในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) ที่ถูกผู้ใช้งานนำคลิปภาพมาเผยแพร่ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง เปิดหน้าจอโทรศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นใช้ฟิลเตอร์รูปผีปรากฏตัวขึ้นภายในห้อง ก่อนวิ่งหนีลูกออกจากห้อง พร้อมกับทิ้งให้เด็กอยู่แต่เพียงลำพัง ทำให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเด็กออกมาเตือนในหลายแง่มุมถึงการแกล้งลักษณะนี้

การเล่นสนุกของผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลเด็กเพียงครั้งเดียวเช่นนี้ อาจจะมีผลต่อเด็กทั้งในระยะสั้น รวมทั้งการเติบโตไปไปสู่วัยผู้ใหญ่ บีบีซีไทยคุยกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และนักจิตบำบัดพฤติกรรมและความคิด ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

เด็กเล็กมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล

“หมอมิน” พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” กล่าวกับบีบีซีไทยในกรณีนี้ว่า เมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ๆ ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ดังนั้น ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว หากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

หมอมิน กล่าวว่า ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ (fantasy) มาก ความมีจินตนาการของเด็ก แม้เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ เด็กเล็ก ๆ จึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล

“ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ… การหลอกด้วยฟิลเตอร์หลอกผี เด็กบางคนจะแยกแยะเรื่องจริงและเรื่องหลอกไม่ได้ ก็ทำให้กลัวมากได้”

หมอมิน ยกตัวอย่างกรณีอื่นที่สะท้อนถึงความกลัวของเด็กเล็กคล้าย ๆ กัน เช่น เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ หรือเด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

การขู่ให้กลัวในเรื่องสวัสดิภาพของเด็กกระทบถึงวัยผู้ใหญ่

พญ.เบญจพร ชี้ว่า เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็ก ขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริง ๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะหนีออกจากบ้าน ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็ก ๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ

“ในระยะยาวมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็ก ๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืด ๆ แคบ ๆ อยู่หลายชั่วโมง”

พญ.เบญจพร ชี้ด้วยว่า ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้าได้

ความไว้วางใจที่เด็กมีต่อผู้เลี้ยงดูถูกทำลายลง

ณัฐวลัญช์ กิตติวังชัย นักจิตบำบัดพฤติกรรมและความคิด จากศูนย์ให้คำปรึกษาทางสุขภาพใจ “วางใจ สปาใจ” กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สำหรับเด็กวัยตั้งแต่ 0-7 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่เด็กสร้างสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ ตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นมา และเป็นช่วงสร้างความไว้วางใจกับพ่อแม่ เมื่อลูกถูกแกล้งด้วยวิธีนั้น แล้วอารมณ์ทางลบถูกกระตุ้นขึ้นมาอย่างกระทันหัน ผลกระทบต่อเด็ก คือ การเกิดภาพจำที่ฝังในใจ และกระทบไปถึงความไว้วางใจต่อผู้เลี้ยงดูได้ถูกทำลายลง

“เขาไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะถูกแกล้งอีก จึงทำให้เกิดเรื่องของความหวาดระแวง ซึ่งถ้าอย่างร้ายแรงในอนาคตก็อาจจะมีโอกาสที่จะเป็นโรคกลัว (Phobia) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ตามมาได้อีก”

“ในระยะยาวอาจทำให้เด็กมีมุมมองต่อการมองโลก (Point of view to other / world) แบบไม่ไว้วางใจใคร โลกนี้อันตราย ฉันจะโดนทำร้าย ฉันอาจโดนแกล้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคดังกล่าวข้างต้น”

แกล้งให้กลัว หรือขู่ให้กลัวเพื่อให้เด็กปรับพฤติกรรม ทำให้เกิดความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล

นักจิตบำบัดพฤติกรรมและความคิด จากศูนย์ให้คำปรึกษาทางสุขภาพใจ “วางใจ สปาใจ” ชี้ว่า ผลกระทบในระยะสั้น เมื่อเด็กจำภาพความกลัวนี้แล้ว เด็กจะมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดภาวะเช่นนั้นมาก่อน

“ยกตัวอย่าง พฤติกรรม เช่น แม่ที่กลัวจิ้งจก ลูกซึ่งอายุเพิ่งจะ 2 ขวบ เขาไม่เคยรู้เรื่องความกลัวว่าแม่กลัวสิ่งนี้ เมื่อเห็นปฏิกิริยาที่แม่กลัว จะเกิดการเรียนรู้ว่า จิ้งจกเป็นสิ่งน่ากลัว ซึ่งมาจากตัวแม่เอง”

อย่างไรก็ตาม ณัฐวลัญช์ กล่าวว่า กรณีฟิลเตอร์ผีหลอกเด็กนั้นรุนแรงกว่า

“การเห็นภาพและเสียงว่ามันน่ากลัวในห้องปิดและไม่มีใครช่วยเหลือเขา  เมื่อเขาอยู่ในสิ่งกระตุ้น นั่นคือห้องปิด เสียง ความมืดลักษณะนี้ จะทำให้เขาเกิดความกลัวขึ้นมาทันทีอย่างไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของทฤษฎีของการเรียนรู้”

ในขณะเดียวกัน การสอนหรือปรับพฤติกรรมลูกด้วยวิธีการขู่ให้กลัว ในทางจิตวิทยาไม่ได้แนะนำวิธีการนี้ เช่น การขู่หรือใช้คำพูดของผู้ใหญ่ ด้วยสถานการณ์ที่ไม่มีเหตุผล เช่น ขู่ว่าจะทิ้ง ขู่ว่าจะมีใครมาเอาตัวไป ขู่ว่าจะโดนจับหากไม่กินข้าว ซึ่งไม่สมเหตุสมผลว่าทำไมกินข้าวต้องโดนตำรวจจับ

“ในเด็กวัยเล็ก ๆ หรือเริ่มกำลังจะโต การพัฒนาในส่วนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เขากำลังเติบโต หากมีการ Input (ใส่) ข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผล เลยกลายเป็นว่าทำให้เด็กกลัวตำรวจโดยไม่สมเหตุสมผล”

อารมณ์ด้านลบ ความรู้สึกแย่ ๆ สมองจะจดจำแม่นความอารมณ์ด้านบวก

นักจิตบำบัดพฤติกรรมและความคิดหญิง กล่าวว่า แม้ในคลิปหนึ่งจะเป็นเด็กโตกว่าและดูไม่กลัว ไม่ตกใจเท่าเด็กเล็ก โดยผู้ผลิตคอนเทนต์นั้น ออกมาอธิบายว่า ได้อธิบายเด็กให้เข้าใจแล้ว แต่กับระบบการตอบสนองของสมอง เมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบ โดยเฉพาะความกลัว จะถูกกระตุ้นง่าย และตอบสนองไว

“เด็กเขากลัวไปแล้ว และเด็กวัยนี้ จะให้เข้าใจทีหลังว่าอันนี้คือเล่น เขาไม่น่าจะเข้าใจได้” ณัฐวลัญช์ ระบุ

“เขาจะจำอารมณ์ลบ จะจำประสบการณ์ที่แย่ ๆ ได้แม่นกว่าความรู้สึกดี ๆ หรือประสบการณ์ดี ๆ ลองนึกว่า ถามว่ากลัวอะไร อาจจะตอบได้ง่ายกว่า คำถามที่ว่ามีความสุขกับการทำอะไร…. ลองถามตัวเองก็ได้ บางทีคนเราเป็นอย่างนี้จริง ๆ “

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว