ตึกเอียง : “ตึกเอียงเมืองกรุงเทพฯ” ภัยเงียบหรือผลการต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

ที่มาของภาพ, สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

ภาพตึกแถวปากซอยสุขุมวิท 101/1 ที่โน้มเอียงไปด้านหลังและด้านข้าง สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ผู้อยู่อาศัยบางส่วนมองว่าตึกไม่เอียง ขณะที่วิศวกรที่เคยเข้าตรวจสอบเมื่อหลายปีก่อนพบว่าตึกเอียงมานานแล้ว แต่สาเหตุมาจากการต่อเติมอาคารที่ขัดกับกฎหมาย

“ตึกแถวริมถนนสุมขุมวิท ปากซอยสุขุมวิท 101/1 เหมือนจะเอียงขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ด้านหน้าอาคารเชิดอย่างเห็นได้ชัด” นายไผท ผดุงถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคสตาร์ทอัพอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ Builk One Group โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่มีผู้แชร์หลายพันครั้ง พร้อมภาพตึกแถวพาณิชย์ที่มีลักษณะเอนเอียง โดยเฉพาะอาคารสีน้ำเงิน ที่เอียงอย่างเห็นได้ชัด

มีหลายห้องติดป้ายประกาศขาย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังทำการค้าขายอยู่ อยากทราบว่าจะมีใครเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างและความแข็งแรงบ้างไหม ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

โพสต์ของนายไผทก่อให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยของอาคารเก่า จนมีผู้ใช้สังคมออนไลน์ตั้งชื่อประเด็นนี้ว่า “ตึกเอียงเมืองกรุงเทพฯ” ล้อไปกับ “หอเอนเมืองปิซา” ในอิตาลี

บีบีซีไทยสอบถามไปยังนายสมเกียรติ ชูแสงสุข รองประธานคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ช่าง ซ่อม สร้าง : วุฒิวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม” ที่เคยเข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ปากซอยสุขุมวิท 101/1 เมื่อราว 4 ปีก่อน ระบุว่า ตึกแถวส่วนนี้โน้มเอียงมานับแต่นั้นแล้ว

ตึกแถวละแวกนี้เอียงทั้งแถบ มากน้อยต่างกัน

ที่มาของภาพ, สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

สาเหตุหลักจากการตรวจสอบครั้งนั้น คือ “ต่อเติมสองชั้นด้านหลัง ตึกแถบนั้นต่อเติมกันทุกหลังอยู่แล้ว…พอต่อเติมจากตึก 4 ชั้นเป็น 6 ชั้น น้ำหนักเลยไปทางด้านหลัง” จนเกิดการโน้มเอียง

“อันตรายครับ เราขอให้เขาไปตรวจสอบเชิงลึก…แต่เจ้าของตึกบอกว่า อาคารเขายังแข็งแรงอยู่”

ผลการตรวจสอบตึกเอียงครั้งก่อน

นายสมเกียรติอธิบายผลการตรวจสอบอาคารพาณิชย์ที่กำลังเป็นข่าว ของเมื่อ 4 ปีก่อน สรุปสาเหตุได้ดังนี้

  • การต่อเติมชั้นดาดฟ้า อาจทำให้อาคารทรุดได้ โดยการต่อเติมเพิ่มขึ้นไปอีกชั้นหรือ 2 ชั้น ฐานรากและเสาเข็มไม่ได้ถูกออกแบบให้รับน้ำหนักได้มากขนาดนั้น เมื่ออาคารรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้อาคารทรุด แตกร้าวได้ การต่อเติมสามารถทำได้ถ้ากฎหมายอนุญาต และต้องให้วิศวกรทำการตรวจสอบการรับน้ำหนัก
  • พื้นดาดฟ้า ทั่วไปรับน้ำหนักได้ 100 กก./ตร.ม. เมื่อเปลี่ยนการใช้งานแล้ว พื้นจะรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ต้องตรวจสอบและเสริมกำลัง
  • การต่อเติมโดยไม่ตรวจสอบ ในระยะเริ่มต้นอาจจะยังไม่เห็นปัญหาเนื่องจากอาคารยังไม่ได้รับน้ำหนักเต็มที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้อาคารจะมีการนำวัสดุ อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เข้ามา ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดที่พื้น คาน เสา เสาเข็ม และฐานราก รับน้ำหนักไม่ได้ จะเกิดอาการขึ้นมา ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นคือ อาคารโน้มเอียงไปด้านข้างและด้านหลัง ตามภาพที่ปรากฏ
สมเกียรติ ชูแสงสุข รองประธานคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร

ที่มาของภาพ, ช่าง ซ่อม สร้าง : วุฒิวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม

ไม่รู้จริงอย่าพูด ?

ความเห็นของนายสมเกียรติ สวนทางกับสิ่งที่เจ้าของและผู้อยู่อาศัยในตึกแถวละแวกดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยไม่เคยกล่าวถึงประเด็นการต่อเติมอาคาร 1 ถึง 2 ชั้นว่า เป็นสาเหตุของตึกเอียง แต่ให้เหตุผลว่ามาจากการก่อสร้างและปล่อยน้ำของห้างสรรพสินค้าด้านหลัง

ผู้อยู่อาศัยในตึกเอียงสีฟ้าได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลายสำนัก รวมถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ว่า ตึกแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัย 5-6 ราย ประกอบด้วยนายสุรศักดิ์ และเจ้าของตึก รวมถึงผู้อยู่อาศัยอีก 4-5 ราย โดยนายสุรศักดิ์ เล่าว่า ตึกสร้างมาประมาณ 40 ปีแล้ว และเริ่มมีการเอียงจริงตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน แต่ทางสำนักงานเขตพระโขนงมาตรวจสอบและติดตามการเอนอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเขตพระโขนงออกหนังสือรับรองผลการตรวจสอบว่า ลักษณะการเอนไม่ส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร และสามารถพักอาศัยได้ ส่วนภายในอาคารนั้น ไม่ปรากฏรอยร้าวแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่เกิดภาพดังกล่าวขึ้นจนกลายเป็นประเด็น นายสุรศักดิ์ต้องการให้อย่างน้อยเข้ามาสอบถามผู้พักอาศัยในละแวกนี้ก่อน เพื่อไม่สร้างความตระหนกต่อประชาชน

ตึกอาคารเหล่านี้ ยังมีผู้อาศัยหลายคน

ที่มาของภาพ, สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

ด้านสำนักข่าวสปริงนิวส์ ลงพื้นที่พูดคุยกับเจ้าของอาคารพาณิชย์สีฟ้าดังกล่าว คือ นายนพดล เฉลิมเจริญรัตน์ อายุ 75 ปี ยอมรับว่า อาศัยที่นี่มากว่า 30 ปีแล้ว และตอบตรงกันกับนายสุรศักดิ์ เรื่องที่มีการรับรองความปลอดภัย

ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุการโน้มเอียงของอาคารมาจากการปล่อยน้ำของท่อระบายน้ำที่มาจากด้านหลังตึก ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า และอาคารเองก็เก่า และอยู่ติดริมถนน เหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่ผู้พักอาศัยพยายามร้องเรียนให้แก้ไขมานานหลายปีแล้ว ในเรื่องน้ำท่วมขัง

ผู้พักอาศัยในตึกเอียงละแวกนี้ได้รวมตัวกันไปฟ้องร้อง แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงมองว่า การที่ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์ อาจจะช่วยให้กระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขก็เป็นได้

เภสัชกรร้านขายยาที่มาเช่าอาคารพาณิชย์ในบริเวณนี้ได้ราว 3 เดือน ยอมรับว่า ไม่เคยสังเกตว่าตึกเอียงจนได้มาทราบข่าว และมีเพื่อนทักมาถามด้วยความรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัย

ช่าง ซ่อม สร้าง : วุฒิวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม

ที่มาของภาพ, ช่าง ซ่อม สร้าง : วุฒิวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม

“แต่ตอนผมมาเมื่อหลายปีก่อน ห้างฯ ด้านหลังยังสร้างไม่เสร็จนะครับ” นายสมเกียรติ บอกกับบีบีซีไทย และในการตรวจสอบเมื่อหลายปีก่อน ตึกเริ่มโน้มเอียงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วนั้น นายสมเกียรติประเมินว่า เพราะการต่อเติมที่ทำให้น้ำหนักตึกเพิ่มขึ้น 50% การแก้ปัญหาอาจรวมถึง รื้อถอนส่วนที่ต่อเติมขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพียงอาคารสีฟ้า แต่อาจรวมถึงทั้งแถบ เพราะ “มันทรุดทั้งเซ็ต ก็ต้องดีดขึ้นมาทั้งเซ็ต”

ส่วนถ้าไม่แก้ไขนั้น “เราไปบอกว่ามันพังแน่นอนไม่ได้ แต่มีแนวโน้มอยู่ เหมือนหอเอนปิซา เขาทำให้ตรงได้ แต่เขาไม่ทำเพราะเป็นจุดขาย…อยู่ที่ว่าเงินพอหรือเปล่า”

กทม. ว่าอย่างไร ?

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์วันที่ 22 ส.ค. กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยจากอาคารเอียงดังกล่าว โดยระบุว่า จากที่ดูภายนอกไม่มีรอยร้าว คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานราก ซึ่งได้ให้สำนักการโยธาเข้ามาตรวจสอบและประเมิน

“ก็เป็นเรื่องซีเรียส เพราะมีผลกับเรื่องความปลอดภัยทั้งคนด้านนอกและคนภายในอาคาร เบื้องต้นต้องรีบประเมินเรื่องความปลอดภัย ดูว่ายังมีความต่อเนื่องในการทรุดตัวหรือไม่ หรือว่าหยุดทรุดตัวแล้ว เราไม่ค่อยได้มาแถวนี้บ่อย จึงต้องขอขอบคุณผู้แจ้งเหตุที่ทำให้ทราบว่ามีประเด็นนี้ และหากใครที่พบเจอเคสแบบนี้ก็ขอให้แจ้งเข้ามา โดยสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue เราจะได้ช่วยเข้าไปดูให้ เพราะบางครั้งมันมีรายละเอียดที่เราเข้าไม่ถึง” นายชัชชาติ กล่าว

และวันที่ 23 ส.ค.นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เดินทางเข้าตรวจสอบอาคารตึกแถวดังกล่าว เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และจะเป็นอันตรายต่อคนในพื้นที่หรือไม่

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว