อีกความหวัง วัคซีนมาลาเรียตัวใหม่จากอ็อกซ์ฟอร์ดจะช่วยลดการตายในเด็ก

โดย เจมส์ กัลป์ลาเกอร์
ผู้สื่อข่าวสายสุขภาพและวิทยาศาสตร์ บีบีซี

นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จ พัฒนาวัคซีนต้านมาลาเรีย ที่เชื่อว่าจะ “เปลี่ยนโลก” ไปโดยสิ้นเชิง 

ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะสามารถผลิตและจัดส่งวัคซีนที่มีชื่อว่า “อาร์21” (R21) ได้ภายในปีหน้า หลังผลการทดลองพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพต้านทานโรคมาลาเรียได้ถึง 80%

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาเน้นว่า สิ่งสำคัญคือวัคซีนมีราคาถูก ราว 100 บาทต่อโดสเท่านั้น และตอนนี้ ทางทีมได้ทำข้อตกลงเพื่อผลิตวัคซีนแล้วมากกว่า 100 ล้านโดสต่อปี โดยมีสถาบันเซรุ่มวิทยาแห่งอินเดียเป็นผู้รับหน้าที่ผลิตวัคซีนต้านมาลาเรียของอ็อกซ์ฟอร์ด หากได้รับการอนุมัติโดยองค์การอนามัยโลก

องค์กรการกุศล “มาลาเรีย โน มอร์” (Malaria No More) มองว่า ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านมาลาเรียตัวใหม่ อาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้อีก “ในช่วงชีวิตของเรา”

มาลาเรียแพร่โดยยุง

ที่มาของภาพ, Getty Images

การพัฒนาวัคซีนต้านมาลาเรียที่ใช้ได้ผล ใช้เวลานานกว่า 1 ศตวรรษ เพราะการพัฒนามีกระบวนการที่ยากลำบาก เนื่องจากปรสิตที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย มีความสลับซับซ้อนและตรวจจับได้ยาก

ปรสิตมาลาเรีย มียุงเป็นพาหะ แพร่กระจายโรค มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังแปรรูปร่างของตัวเองเมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ทำให้ยากต่อการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต้านทาน

เมื่อปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติวัคซีนต้านมาลาเรียตัวแรก ที่พัฒนาโดย จีเอสเค (GSK) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ เพื่อใช้ในทวีปแอฟริกา

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดอ้างว่า แนวทางการพัฒนาวัคซีนของทางทีม มีประสิทธิภาพมากกว่า และสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่าวัคซีนตัวที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติไปแล้ว

วัคซีนต้านมาลาเรียได้ถึง 80%

ที่มาของภาพ, PA

เพราะผลการทดลองกับเด็ก 409 คนในเมืองนาโนโร ประเทศบูร์กินาฟาโซ ที่ตีพิมพ์ใน แลนเซ็ต วารสารทางการแพทย์ว่าด้วยโรคติดต่อ พบว่า การฉีดวัคซีน 3 โดส ตามด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้นอีก 1 โดสปีละครั้ง สร้างภูมิต้านทานโรคมาลาเรียได้ถึง 80%

ศาสตราจารย์ เอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์ ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เชื่อว่า “ข้อมูลชุดนี้ เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับวัคซีนต้านมาลาเรียเท่าที่เคยมีมา”

ตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์เตรียมเริ่มกระบวนการขออนุมัติการใช้วัคซีนภายในอีกไม่กี่สัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ผลการขออนุมัติยังต้องขึ้นอยู่กับการทดลองวัคซีนกับเด็ก 4,800 คน ที่มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ศ.ฮิลล์ เชื่อว่า ด้วยราคาที่ถูก และปริมาณการผลิตที่ทำได้มากและรวดเร็ว “เราอาจได้เห็นการลดลงของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากโรคที่น่ากลัวอย่างมาลาเรียอย่างมีนัยยะสำคัญก็เป็นได้”

“เราหวังว่า ผู้คนจะได้ใช้วัคซีนนี้ และเราจะมีวัคซีนนี้เป็นตัวเลือกเพื่อรักษาชีวิตได้ภายในสิ้นปีหน้า”

มาลาเรียเป็นหายนะของมนุษย์มายาวนาน

ที่มาของภาพ, PA Media

มาลาเรียเป็นโรคร้ายที่ถือเป็นหายนะของมนุษยชาติมาหลายพันปีแล้ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและทารกแรกเกิด เฉลี่ยแล้วแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียมากกว่า 400,000 คน แม้ว่าพัฒนาการด้านการผลิตมุ้ง ยาฆ่าแมลง และยารักษาโรค จะรุดหน้าไปมากแล้วก็ตาม

สำหรับวัคซีนต้านมาลาเรีย “อาร์21” เป็นวัคซีนตัวที่ 14 แล้ว ที่ศาสตราจารย์เคธี อีเวอร์ (Katie Ewer) ได้ร่วมพัฒนาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เธอยอมรับว่า “โรคมาลาเรียไม่เหมือนโควิด ที่เราผลิตวัคซีนได้ 7 ตัว อย่างรวดเร็วและใช้ได้ผล…โรคนี้มันยากกว่ามาก”

เธอยังบอกบีบีซีว่า “น่าพึงพอใจมาก” ที่มาได้ถึงจุดนี้ และ “ศักยภาพของวัคซีนนี้เมื่อเผยแพร่ออกไป สามารถเปลี่ยนโลกได้เลยทีเดียว”

ทำไมวัคซีนใช้ได้ผล

วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติไปเป็นตัวแรกของบริษัท จีเอสเค มีความคล้ายคลึงกับวัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพัฒนา

วัคซีนทั้งสองตัวพุ่งเป้าไปที่วงจรชีวิตในระยะแรกของปรสิตมาลาเรีย ด้วยการยับยั้งไม่ให้ปรสิตแทรกซึมเข้าไปในตับ และฝังตัวลึกในร่างกายมนุษย์

วัคซีนทั้งคู่ผลิตโดยการผสมโปรตีน สกัดจากปรสิตมาลาเรีย และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดมีปริมาณโปรตีนจากปรสิตมาลาเรียมากกว่า เพราะทางทีมวิจัยเชื่อว่า จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันพุ่งเป้าไปที่เชื้อมาลาเรียได้มากกว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบ

อันที่จริง ความสำเร็จของวัคซีนบริษัท จีเอสเค ในการประเมินความสำเร็จโครงการฉีดวัคซีนในแอฟริกา ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์อ็อกซ์ฟอร์ดเชื่อมั่นว่า มีโอกาสสูงที่จะอนุมัติใช้วัคซีนได้ภายในปีหน้า

วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดอาจได้เริ่มใช้จริงปีหน้า

ที่มาของภาพ, PA Media

แต่ ณ จุดนี้ ยังเป็นการยากที่จะเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างวัคซีนของ จีเอสเค และอ็อกซ์ฟอร์ด เพราะแม้วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดจะดูมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่วัคซีนของ จีเอสเค ถูกนำไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง ก็เพราะวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดเริ่มทดลองฉีดในกลุ่มตัวอย่างในช่วงก่อนเริ่มฤดูมาลาเรียในบูร์กินาฟาโซ นั่นเอง

ศาสตราจารย์ อัซรา กานี หัวหน้าแผนกระบาดวิทยาด้านโรคติดต่อ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า ผลการทดลอง “น่ายินดีมาก” แต่ก็เตือนว่า เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนอย่างกว้างขวาง

“หากปราศจากการลงทุน เราเสี่ยงจะสูญเสียสิ่งที่เราก้าวหน้าไปมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และเราอาจเห็นคลื่นการกลับมาของโรคมาลาเรียอีกครั้ง” ศ.กานี กล่าว

ด้าน กาเรธ เจนกินส์ จากมูลนิธิ มาลาเรีย โน มอร์ ระบุว่า “ผลการทดลองวัคซีน อาร์21 ของสถาบันเจนเนอร์อันเลื่องชื่อของอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นอีกสัญญาณดีว่า ถ้ามีการสนับสนุนที่มากพอ โลกจะยับยั้งการเสียชีวิตจากมาลาเรียในเด็กได้ ภายในช่วงอายุของเรา ”