อุโมงค์ยักษ์ ทำงานคุ้มงบหลายหมื่นล้านหรือไม่ ในวันที่น้ำท่วม กทม. หนัก

  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อุโมงค์ยักษ์ ที่เคยเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ ทำงานได้เต็มที่หรือไม่ ในช่วงที่คน กทม. เผชิญน้ำท่วมและน้ำรอการระบายแบบรายวัน นับแต่สัปดาห์ที่แล้ว กับคำถามที่คนสงสัยว่า งบประมาณหลายหมื่นล้านที่ทุ่มไปกับโครงการอุโมงค์ ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่

วันที่ 15 ก.พ. 2554 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นประธานเปิดอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำแห่งแรกของ กทม. พระรามเก้า-รามคำแหง เพื่อระบายน้ำช่วงคลองแสนแสบถึงคลองลาดพร้าว

“อุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง จะทำให้ กทม. มีศักยภาพในการระบายน้ำเพิ่มอีกมหาศาล” ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ กล่าว

“ระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระในเวลาไม่ถึง 1 วินาที”

ผ่านมา 11 ปี ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเปิดใช้อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง รวมมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แต่ก็เกิดคำถามมาเสมอว่า ทำไมปัญหาน้ำท่วมดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นทุกปี แม้ กทม. มีอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้น

น้ำท่วมปี 2565 สูงจนต้องใช้เรือสัญจร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ บอกกับบีบีซีไทยว่า อุโมงค์ยักษ์เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งของการรับมือฝนตกหนักและน้ำรอระบายสูง

“มันไม่ใช่ว่ามีอุโมงค์ (ยักษ์) ระบายน้ำแล้ว จะระบายได้ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ มันระบายได้เพียงบางพื้นที่”

นายสมศักดิ์ยืนยันว่า “อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 4 แห่ง ตอนนี้ เปิดใช้งานเต็มกำลัง ตลอด 24 ชั่วโมง” นับแต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ “4 วันอันตราย” ให้ทุกภาคส่วนรับมือสถานการณ์น้ำ 9-12 ก.ย. และยังเดินหน้าระบายน้ำต่อ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฝนจะตกหนักต่อไปอีกตลอดสัปดาห์นี้ถึงวันที่ 17 ก.ย.

“บางสถานีมีเครื่องสูบน้ำเสียบ้าง เพราะเดินเครื่องไม่ได้พักเลย เราก็ทยอยซ่อมและนำมาสลับสับเปลี่ยน เพราะต้องเร่งลดระดับน้ำในคลองให้เร็ว เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า ฝนจะตกอีกในช่วงไม่กี่วันนี้” นายสมศักดิ์ บอกกับบีบีซีไทย

ท้ายสุด ผ่านมา 11 ปี นับแต่มหาอุทกภัยปี 2554 ที่อุโมงค์ยักษ์เปิดใช้ แต่ “น้ำมาไม่ถึง” จนถึงปี 2565 ที่ กทม. มีอุโมงค์ยักษ์ถึง 4 แห่ง กับการทุ่มงบประมาณเกือบ 7 หมื่นล้านบาทป้องกันเมืองหลวงไทยจมน้ำ แล้วทางออกของปัญหาน้ำที่เรื้อรังอยู่ตรงไหน บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ ดังนี้

ระบบระบายน้ำของ กทม. ในปัจจุบัน

อ้างอิงงบประมาณสำนักระบายน้ำระหว่างปี 2552-2564 หรือช่วง 13 ปีที่ผ่านมา กทม. ลงทุนด้านการป้องกันน้ำท่วมและระบบบริหารจัดการน้ำเป็นเงินสูงถึง 68,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนี้

  • ระบบป้องกันน้ำท่วม ด้วยการสร้างคันป้องกันน้ำท่วมปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง อาทิ คันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก
  • ระบบระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝน ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ แก้มลิง สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และคูคลอง
ชาวเขตลาดกระบังยังเผชิญน้ำรอการระบายสูง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • คู คลองระบายน้ำ จำนวน 1,980 คลอง ความยาวรวมประมาณ 2,743 กิโลเมตร
  • ท่อระบายน้ำ ความยาวประมาณ 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร และในตรอก ซอย ประมาณ 4,514 กิโลเมตร
  • สถานีสูบน้ำ ประตูระบายย้ำ บ่อสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง
  • อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “อุโมงค์ยักษ์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปัจุบัน ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และตอนนี้ กำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 4 แห่ง และรอจัดสรรงบประมาณอีก 2 แห่ง

บทบาทอุโมงค์ยักษ์

อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำเคยเป็นความหวังของชาว กทม. ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำรอการระบายเรื้อรังได้ โดยอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 ถือเป็นอุโมงค์ยักษ์แห่งแรกของคนกรุง เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2554 ก่อนเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีเดียวกัน

สำนักการระบายน้ำ / Team Group

ที่มาของภาพ, สำนักการระบายน้ำ / Team Group

อุโมงค์ระบายน้ำที่เป็นอุโมงค์ยักษ์ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 3 เมตร ทำให้ขีดความสามารถในการระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าทวี ยกตัวอย่าง อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่อุโมงค์ระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.4 เมตร ระบายน้ำได้ 4.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น

ปัจจุบัน อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานใน กทม. มีอยู่ 4 แห่ง คือ

  • อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง
  • อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง
  • อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว
  • อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต

กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2566 อีก 2 แห่ง รวมงบประมาณกว่า 26,580.865 ล้านบาท

สำนักการระบายน้ำ

ที่มาของภาพ, สำนักการระบายน้ำ

ดังนั้น หากสร้างอุโมงค์ยักษ์แล้วเสร็จทั้ง 10 แห่ง หมายความว่าประสิทธิภาพการระบายน้ำของอุโมงค์ยักษ์จะอยู่ที่ 433 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เลยทีเดียว

น้ำไปไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์

แม้อุโมงค์ยักษ์สร้างเสร็จครบ 10 แห่ง แต่หากน้ำไปไม่ถึงก็อาจยังไม่ตอบโจทย์

ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. อธิบายถึงเรื่องนี้ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ว่า “อุโมงค์ยักษ์ก็เหมือนทางด่วนน้ำ น้ำต้องไปถึงทางด่วนก่อน”

ยกตัวอย่าง โครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามแผนในเดือน พ.ค. 2565 ส่งผลให้ น้ำจากเขตประเวศ สวนหลวง ลาดกระบัง เข้ามาอุโมงค์นี้ไม่ได้ ทำให้ระบายน้ำได้ค่อนข้างช้า

ดังนั้น หากโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนเสร็จตามกำหนดตั้งแต่ช่วงกลางปี สถานการณ์ในเขตลาดกระบัง จะไม่หนักหน่วงดังที่เห็นในเวลานี้ ที่น้ำรอการระบายยังท่วมสูงนานหลายวันแล้ว

“อุโมงค์ยักษ์ก็เหมือนทางด่วนน้ำ น้ำต้องไปถึงทางด่วนก่อน”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ด้าน ผอ.สำนักระบายน้ำ อธิบายว่า จะพึ่งแต่อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับปรุงระบบระบายน้ำในส่วนอื่น ๆ ด้วย

“ต้องเพิ่มศักยภาพของส่วนอื่นในแต่ละพื้นที่ ที่ยังมีไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเข้าไป ปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้น”

คำกล่าวของนายสมศักดิ์ สอดคล้องกับงบประมาณลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ซึ่งบีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ช่วงปี 2558-2565 มีโครงการเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมถึง 212 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 68,000 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 100 ล้านบาท มีดังนี้

  • โครงการระบบระบายน้ำบริเวณถนน งบประมาณ กว่า 600 ล้านบาท
  • โครงการบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำ งบประมาณ 590 ล้านบาท
  • โครงการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ งบประมาณ 494 ล้านบาท
  • โครงการบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน งบประมาณ 355 ล้านบาท
  • โครงการประตูระบายน้ำ งบประมาณ 308 ล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงรางระบายน้ำ งบประมาณ 227 ล้านบาท
  • โครงการบ่อสูบน้ำ งบประมาณ 222 ล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ งบประมาณ 196 ล้านบาท
  • โครงการบำรุงรักษาศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร งบประมาณ 149 ล้านบาท
  • โครงการท่อส่งน้ำ (Column Pipe) งบประมาณ 109 ล้านบาท
.

ที่มาของภาพ, .

อีกปัจจัยหนึ่งที่ภาครัฐกำลังเร่งสร้างความตระหนักรู้ คือความร่วมมือของภาคประชาชน ไม่ทิ้งขยะเล็กใหญ่ลงคลองต่าง ๆ เพราะทำให้การระบายน้ำติดขัด เพราะหากดูตัวอย่างในปี 2554 ที่อุโมงค์ยักษ์เริ่มเปิดใช้แล้ว แต่ไม่มีส่วนช่วยระบายน้ำได้เท่าที่ควร เพราะน้ำมาไม่ถึงอุโมงค์ เป็นผลจากท่อระบายน้ำและคูคลองเต็มไปด้วยขยะและสิ่งกีดขวาง

ความเห็นชัชชาติต่ออุโมงค์ยักษ์

วานนี้ (12 ก.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือฝนตกหนัก แต่กำลังระบายน้ำไม่เพียงพอ

นายชัชชาติยังระบุว่า อุโมงค์ระบายน้ำยังไม่ตอบโจทย์ เพราะฝนตกหลายพื้นที่ และน้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือการลำเลียงน้ำไปถึงอุโมงค์ จึงอาจต้องหันมาดำเนินการพัฒนาคลองให้มีศักยภาพรับน้ำได้ดีขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. เคยแสดงความเห็นเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2565 ว่า กทม. ทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านไปกับโครงการขนาดใหญ่อย่างอุโมงค์ระบายน้ำ แต่มองข้าม “เส้นเลือดฝอย” อย่างแม่น้ำลำคลองไป

มองข้าม "เส้นเลือดฝอย" มาโดยตลอด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ดังนั้น ภายใต้การบริหารงานของนายชัชชาติ กทม. จะดูแลเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพคลอง ดังนี้

  • จะมุ่งเน้นการขุดลอกคลองที่มีความตื้นเขินให้ลึกขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำ ยกตัวอย่างคลองลาดพร้าวซึ่งได้ร่วมกับทางกองทัพภาคที่ 1 ขุดลอกคูคลอง
  • จะเป็นการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมหรือเขื่อนริมคลอง ซึ่งที่ผ่านมาหากไม่มีแนวป้องกันน้ำท่วมจะเกิดปัญหาน้ำกัดเซาะริมคลอง ทำให้ตะกอนดินจากการกัดเซาะทำให้คลองตื้นเขิน

นายวิศณุ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เห็นปัญหาแล้วว่ามีที่มาอย่างไร การแก้ไขสามารถทำได้ แต่อาจจะไม่ทันใจจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ แต่สิ่งที่ได้ทดแทนมาคือความโปร่งใสในโครงการ

“ในอนาคตอันใกล้กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะสร้างอุโมงค์ย่อยเพื่อรองรับน้ำมายังอุโมงค์ยักษ์เพิ่มเติม หากจะเปรียบเทียบง่าย ๆ คือการสร้างทางขึ้นทางด่วนเพิ่มเติมนั่นเอง” นายวิศณุ กล่าว

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว