สัตวแพทย์ทางทะเลกับงานอนุรักษ์ท่ามกลางความท้อแท้

  • ณภัทร เวชชศาสตร์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

แม้ “ภราดร” ลูกโลมาอิรวดีพลัดหลงแม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลากว่า 40 วัน มันก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดจนถึงวันที่สัตวแพทย์คาดหวังไว้

แต่ทุกการสูญเสียของสัตว์ทะเลหายากอาจกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ในสังคม นับตั้งแต่การตายของลูกพะยูนมาเรียม ไปจนถึงแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ หรือจากภราดรสู่กระแสความสนใจโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลา ที่ทุกฟันเฟืองตั้งแต่สัตวแพทย์ในด่านหน้า ไปจนถึงผู้มีอำนาจวางแผนนโยบาย ต่างมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งมีชีวิตให้อยู่รอดต่อไป

ในปี 2562  ข่าวการจากไปของมาเรียม ลูกพะยูนพลัดหลงแม่ ที่เจ้าหน้าที่ช่วยกันให้นมแทนแม่ แต่สุดท้ายมาเรียมก็เสียชีวิตเพราะพลาสติก จุดกระแสการอนุรักษ์ในสังคมไทย จนนำไปสู่แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ แต่สำหรับคนบางส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับมาเรียม กลับรู้สึกเหมือนตนเองมีแผลใจ เพราะไม่สามารถดูแลให้มาเรียมมีชีวิตรอดต่อไปได้

สัตว์แพทย์ให้นมเจ้าภราดร โลมาอิรวดี ซึ่งตายไปในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2565

ที่มาของภาพ, Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

สัตวแพทย์ คือหนึ่งในอาชีพด่านหน้าที่ต้องเผชิญแรงกดดันอยู่เสมอ โดยเฉพาะสัตวแพทย์ทางทะเลที่ทำงานกับสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ประจำอยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่งทั่วประเทศไทย ซึ่งสวนทางกับพื้นที่ทางทะเลของไทยที่มีกว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนอกจากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรแล้ว ก็มีความคาดหวังของสังคมว่าสัตวแพทย์จะต้องทำให้สัตว์ที่ได้รับการช่วยเหลือรอด

Advertisment

“บางคนก็รู้สึกท้อ บางคนก็รู้สึกผิด จนไปถึงอยากลาออกเลยก็มี เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้นได้” น.สพ.ธนพรรณ ชมชื่น นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก กล่าวกับบีบีซีไทย

“ในกรณีของภราดร แรงกดดันส่วนใหญ่จากภายนอกก็จะเฝ้าดูว่าโลมาตัวนี้จะรอดได้รึเปล่า เราอยากอธิบายว่า จริง ๆ แล้วการช่วยชีวิตสำเร็จในกลุ่มโลมามันน้อยมา อาจเพียงแค่ 1% เท่านั้น เนื่องจากการที่สัตว์เข้ามาเกยตื้น อาจหมายความว่ามันมีอาการป่วยมาก่อน และยิ่งความเป็นลูกสัตว์ด้วย การที่จะทำให้มันรอดชีวิตมันก็ยากกว่าปกติ เนื่องจากลูกสัตว์ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี อีกทั้งความเครียดก็มีเพราะไม่ได้อยู่กับฝูงหรือแม่ แต่เราก็พยายามทำงานให้เต็มที่” น.สพ. ธนพรรณ กล่าว

Advertisment
 Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

ที่มาของภาพ, Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

เป็นเวลากว่า 40 วันที่ภราดร ลูกโลมาอิรวดีพลัดหลงวัย 6 เดือน ได้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของทีมสัตว์แพทย์ ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยตอนบนฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 ก่อนที่มันจะสิ้นใจด้วยอาการทางเดินหายใจล้มเหลว เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565

น.สพ. ธนพรรณ เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เดิมทีทางทีมมีแผนที่จะดูแล “ภราดร” เป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะอายุครบ 1 ปี ก่อนที่ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งหลังจากการช่วยเหลือได้หนึ่งสัปดาห์ ภราดรก็มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น จากเดิมที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง ต้องมีคนคอยพยุง ก็เริ่มว่ายน้ำได้ปกติ

“พอมันแข็งแรงขึ้น มันก็ชอบเข้ามาดูดนิ้ว ดูดเสื้อผ้าเพื่อบอกว่ามันหิว หรือบางทีก็แกล้งลอยนิ่ง ๆ เหมือนกับว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่พอเราเข้าไปหา มันก็ว่ายหนี เราเลยเรียกพฤติกรรมนี้ว่า ‘นอนอ่อย’”

อย่างไรก็ตาม แม้ภราดรได้รับการดูแลจากทีมสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่มันก็เริ่มเกิดสภาวะเครียด จากเดิมที่สามารถป้อนยาป้อนอาหารได้ ก็ไม่ยอมรับหัตถการ ร่างกายเริ่มผอม อ่อนแอ มีการติดเชื้อ และสำลักน้ำ ส่งผลให้ปอดติดเชื้อและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“ภราดรก็เหมือนอาจารย์ใหญ่เรา มันทำให้รู้ว่าเรายังมีอะไรที่ต้องศึกษาอีกเยอะ และบทเรียนตรงนี้มันก็ช่วยให้การรักษาสัตว์ทะเลหายากตัวอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายธนพรรณ กล่าว

จาก”ภราดร” สู่โลมาอิรวดีในน่านน้ำไทย

ชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก เล่าให้บีบีซีฟังว่า โลมาอิรวดีถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ แพร่กระจายแค่ในเขตอินโด-แปซิฟิก อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด โดยโลมาอิรวดีถือว่าเป็นโลมาขนาดเล็ก มีความยามไม่เกิน 3 เมตร ลำตัวเพรียว ส่วนหัวลักษณะมนกลม ไม่มีจะงอยปาก บางพื้นที่นิยมเรียกว่าโลมาหัวบาตร แต่ก็อาจทำให้เกิดความสับสนระหว่างโลมาหัวบาตรหลังเรียบซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่ไม่มีครีบหลัง

แม้สถานะจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ถือว่าอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) แต่จากการประเมินในไทยถือว่าอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered: CR) โดยการสำรวจของกรมทัพยากรทางทะเลและชายฝรั่ง มีการพบเจอประมาณ 600-700 ตัว ในปี 2565

แหล่งพบโลมาอิรวดีในไทยมี 5 แหล่งใหญ่ ๆ คืออ่าวไทยฝั่งตะวันออก ประมาณ 240 ตัว อ่าวไทยตอนบนหรืออ่าวไทยตัว ก. ประมาณ 230 ตัว อ่าวไทยตอนกลาง ประมาณ 145 ตัว ฝั่งอันดามัน ประมาณ 50 ตัว และที่ทะเลสาบสงขลา เหลือแค่ 14 ตัว

“ซึ่งตอนนี้ที่ทะเลสาบสงขลาถือว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะเกิดสภาวะสูญพันธุ์ (local extinction)” ชลาทิพ กล่าว

โลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในไทย

ที่มาของภาพ, Thai National Park

หากดูสถิติการเกยตื้นและเสียชีวิตของโลมาอิรวดี โดยไม่นับที่ทะเลสาบสงขลา ในอัตราส่วนที่เท่ากัน ที่ร้อยละ 25 จะเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ การติดเครื่องมือประมง นอกจากนั้นก็จะเป็นการพลังหลงจากแม่ อุบัติเหตุ และขยะทะเล

โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา

“เราจะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย” ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าว

ในโลกนี้มีโลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่งเท่านั้น ได้แก่

  • ทะเลสาบชิลิกาประเทศอินเดีย มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 151 ตัว
  • แม่น้ำมหาคัมประเทศอินโดนีเซีย 70-90 ตัว
  • แม่น้ำโขงบริเวณตอนเหนือของประเทศกัมพูชา 89 ตัว
  • แม่น้ำอิรวดีประเทศพม่า 79 ตัว
  • ทะเลสาบสงขลาในประเทศไทย คาดว่าเหลือเพียง 14 ตัวเท่านั้น
BBC

ทะเลสาบสงขลามีพื้นที่กว่า 1,040 ตารางกิโลเมตร คาบเกี่ยวจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา โดยจากการศึกษาด้วยการบันทึกเสียง (acoustic survey) ที่วางตามจุดต่าง ๆ จะพบว่าโลมาอิรวดีแพร่กระจายอยู่ทางทะเลสาบตอนบน หรือ ทะเลหลวงเป็นส่วนใหญ่ และไล่ลงมาทางใต้ไม่เกินเกาะใหญ่ ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่กว้างและมีความลึกเฉลี่ยที่ประมาณ 3 เมตร

ทำไมถึงกลายเป็นโลมาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด

“ตามสายวิวัฒนาการ โลมาอิรวดีไม่ใช่โลมาน้ำจืด (river dolphin) แท้ ๆ ที่มีอยู่ 5 ชนิด แต่จากการที่โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ที่หากินตามแนวชายฝั่ง พื้นที่ปากแม่น้ำและชอบเข้าน้ำกร่อยทำให้ประชากรบางส่วนเข้าไปอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนกลายเป็นกลุ่มประชากรย่อย (subpopulation) ขึ้นมาตามแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ซึ่งก็ถือเป็นความน่าทึ่งของโลมาชนิดนี้” ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อธิบาย

ในส่วนของทะเลสาบสงขลา ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล บ่งบอกว่า ในช่วงประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว น้ำทะเลนั้นมีระดับที่สูง เกิดช่องเชื่อมต่อระหว่างอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ทำให้โลมาอิรวดีเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้

โลมาอิรวดี เป็นโลมา 3 น้ำ

ที่มาของภาพ, WWF

เมื่อภูมิประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เกิดการเชื่อมต่อของดิน ทำให้เกิดการตัดขาดระหว่างอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา โลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบก็กลายเป็นโลมาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“หากดูในแผนที่ประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่า 500 ปีที่แล้ว ทะเลสาบยังคงมีช่องเปิดอยู่ ในขณะที่ 300 ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่ามีทะเลสาบตอนล่าง แต่ไม่เห็นทะเลสาบตอนบน เลยไม่แน่ใจว่ามันมีการเชื่อมต่อด้านบนเมื่อ 572 ปีนี้รึเปล่า แล้วอีกอย่าง การวาดแผนที่ในอดีต ความแม่นยำก็ยังไม่แน่นอน มันก็เป็นการยากที่จำประเมินว่าทะเลสาบสงขลานั้นมีการเชื่อมต่อของดินในช่วงเวลาไหน” ดร.ก้องเกียรติ เสริม

ภัยคุกคามหลักที่มีต่อโลมาอิรวดีน้ำจืด

หากย้อนไปเมื่อช่วงต้น พ.ค. 2565 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในลาวได้ประกาศว่า โลมาอิรวดีได้สูญพันธ์ุไปโดยปริยายแล้วในลาว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง

“แม้โลมาในแม่น้ำโขงฝั่งประเทศลาวนั้นจะสูญพันธ์ุเป็นที่เรียบร้อย แต่ยังคงมีประชากร (โลมา) ในเขตประเทศกัมพูชาที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มเดียวกัน ผิดกับที่ไทย หากมีการสูญพันธ์ุแล้วจะถือว่าเป็นโลมาอิรวดีน้ำจืดแห่งแรกบนโลกที่เกิดการสูญพันธ์ุ” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

หากดูที่สถิติการเสียชีวิตของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า 60% เกิดจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ, 38% เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติและมลพิษ และ 2% เกิดจากการถูกใบจักรเรือ ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตหรือเกยตื้นของโลมาอิรวดี

เมื่อจำนวนของโลมาอิรวดีมีน้อยลง ก็ส่งผลให้เกิดการผสมกันเองและเกิดสภาวะเลือดชิด ซึ่งทำให้โลมาที่เกิดมาใหม่ ๆ มีความอ่อนแอได้

โลมาติดเครื่องมือประมง เป็นปัจจัยเกยตื้นและเสียชีวิต

ที่มาของภาพ, EPA

“การตื้นเขินของทะเลสาบก็เป็นหนึ่งในปัจจัยทางอ้อม เนื่องจากจุดนี้เป็นแหล่งที่น้ำพัดพาพวกตะกอนมาด้วย เมื่อตะกอนไม่สามารถถ่ายทอดสู่ทะเลภายนอกได้ ก็ทำให้เกิดการสะสมของตะกอน เกิดการตื้นเขิน พื้นที่ลึกสุดของทะเลสาบก็จะอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร ในขณะที่เส้นข้างนอกก็จะมีความลึกที่ประมาณ 1-2 เมตร มันก็ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาลดน้อยลง ยังไม่นับเรื่องสารอาหารที่ไหลมากับน้ำ ส่งผลให้พืชต่าง ๆ เติบโตขึ้น (eutrophication) ทำให้เร่งการตื้นเขินขึ้นมา”

ดร.ก้องเกียรติ เล่าว่า การเพิ่มขึ้นของสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ อย่างไซนั่ง หรือโป๊ะน้ำตื้น ก็ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกระแสน้ำเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปี 2528 มีไซนั่งเพียง 7,500 แห่ง แต่ปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณ  30,000 แห่ง ขณะที่สถิติการจับสัตว์น้ำต่อวันก็น้อยลงตามไปด้วย สะท้อนว่าจำนวนอาหารของโลมาน้อยลงไปเช่นกัน

การทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อการฟื้นฟูประชากรโลมาอิรวดี

“ในส่วนของงานอนุรักษ์ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านปากท้องของชุมชมด้วยเหมือนกัน เพราะเขาต้องสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน เพราะจริง ๆ แล้ว คนในชุมชนก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่จะต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเราทำแค่ปีสองปี และหายไป มันก็อาจจะทำให้เกิดการสูญพันธ์ุไปก่อนหรือว่าใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้น ยิ่งจำนวนประชากรน้อยลง ความหวังที่จะฟื้นตัวได้ก็แทบจะเป็นศูนย์”

ดร.ก้องเกียรติ เล่าต่อว่า แม้อัตราการเกยตื้นและเสียชีวิตของโลมาอิรวดีตลอด 20 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมาจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ แต่จริง ๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทางชาวบ้านอยู่ เพื่อพยายามลดการตายของโลมา อาทิ การซื้ออวนคืนในช่วงปี 50-56 ซึ่งช่วยให้สถิติการตายลดน้อยลงอย่างชัดเจน

 Sirachai Arunrugstichai

ที่มาของภาพ, Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

ความหวังของโลมาอิรวดีในน่านน้ำไทย

“เมื่อเรารู้ถึงปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ การสร้างบ้านปลาเพื่อเพิ่มอาหาร การรักษาป่าต้นน้ำ การลดการปล่อยของเสีย การขุดลอกคลอง ที่สำคัญที่สุดก็คือการปฏิบัติและการลงมือทำตามแผน อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

ในส่วนของแผนการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในเชิงนโยบาย สามารถย้อนไปได้ตั้งแต่ปี

  • พ.ศ. 2535 ประกาศโลมาอิรวดีให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
  • พ.ศ. 2546 ผลักดันให้โลมาอิรวดีให้เป็นสัตว์คุ้มครองในบัญชีที่ 1 ของไซเตส (CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งห้ามมีการค้าโดยเด็ดขาด
  • ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จัดทำพื้นที่คุ้มครองในการทำอนุรักษ์ในเขตทะเลสาบสงขลา
  • ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 คณะกรรมการทะเลแห่งชาติรับข้อเสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวนแล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาต่อจากนี้ จะแบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือการกำหนดพื้นที่เพื่อที่จะมีมาตรการต่าง ๆ ในการคุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบ

ส่วนที่ 2 คือมาตรการฟื้นฟู เช่น การสร้างบ้านปลาเพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้โลมา

ส่วนที่ 3 คือการศึกษางานวิจัยที่ต้องมีการหาแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การตื้นเขินของทะเลสาบ อย่างเช่นในกรณีของทะเลสาบซิลิกาก็มีการขุดลอกให้น้ำไหลออกสู่นอกทะเลได้ หรือเรื่องการศึกษาวิจัยการความหลากหลายของสัตว์น้ำที่ลดลง การปนเปื้อนของมลพิษ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทะเลสาบ

ส่วนที่ 4 คือการบูรณาการความร่วมมือ สร้างความตระหนักรู้ในการทำงานร่วมกัน ทั้งภาควิชาการและภาคประชาชน

ในส่วนของทางทะเลไทย ชลาทิพ กล่าวเสริมว่า “ด้วยความที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของโลมานั้นทับซ้อนกับกิจกรรมการประมง มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดปัญหาการจับขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแนวทางบูรณาการในการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านกิจกรรมสร้างอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพราะชาวประมงเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ทุกวัน และเป็นคนแรกที่เจอเหตุโลมาหรือ สัตว์ทะเลหายากติดอวน หรือเจ็บป่วย”

“เราเสริมศักยภาพของเขา เช่นฝึกให้เขากู้ชีพเบื้องต้นก่อนที่ทีมสัตวแพทย์ของเราจะไปถึง”

อีกส่วนหนึ่ง คือการนำองค์ความรู้ทางวิชาการมาใช้ เช่นการสำรวจพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดผลกระทบต่อโลมาอิรวดี อย่างเช่น เครื่องเตือนโลมาด้วยเสียง (acoustic devices or alerting devices) หรือ ปิงเจอร์ (pinger) ที่ใช้ติดกับอวนประมง เพื่อเตือนไม่ให้โลมาเข้ามาใกล้อวน ซึ่งนักวิจัยในแถบเอเชีย เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กำลังมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของโลมาที่ตอบสนองต่อเสียงและผลการจับสัตว์น้ำ

“ในปัจจุบันมีภาวะที่สัตว์ทะเลหายากป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เราสามารถศึกษาสัตว์ทะเลหายากที่เสียชีวิตแล้วมาดูเรื่องสารมลพิษโลหะหนัก ไมโครพลาสติก โรคอุบัติใหม่  เพื่อสะท้อนถึงสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์หรือปลอดภัยอยู่รึเปล่า หรือมีสารพิษสะสมทางทะเลไหม” น.ส.ชลาทิพ กล่าว

“เพราะเรื่องการศึกษาสัตว์ทะเลหายาก ถือเป็นดัชนีชี้วัด สิ่งแวดล้อมของมหาสมุทรอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัย และองค์ความรู้นี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรของเรา”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว