เกิดเหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สภ.เมือง จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นตำรวจอย่างน้อย 1 นาย บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 16 คน
เพจ “นราธิวาส” ซึ่งเป็นเพจสำนักข่าวประจำภาคใต้ รายงานว่า เมื่อเวลา 12.45 น. ได้เกิดเหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส ถ.สุริยะประดิษฐ์ เทศบาลเมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส
พฤติการณ์การก่อเหตุ มีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุอย่างน้อย 1 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ นำรถยนต์กระบะประกอบระเบิด หรือ “คาร์บอมบ์” ไปจอดไว้บริเวณแฟลตตำรวจ จากนั้นจึงเกิดระเบิดขึ้น
หลังเกิดเหตุระเบิด ปรากฏภาพในเพจ “นราธิวาส” เจ้าหน้าที่เร่งเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมเพลิง โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นตำรวจ 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 31 คน
ไทยพีบีเอส รายงานว่า พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า มีตำรวจบาดเจ็บ 10 นาย และเสียชีวิต 1 นาย
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะรีบบินด่วนลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง พร้อมสั่งการให้เร่งช่วยเหลือครอบครัวข้าราชการตำรวจ หรือ ประชาชน ที่ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงเตรียมเรียกประชุมฝ่ายสืบสวนคลี่คลายคดี
คาร์บอมบ์หลังวิสามัญฯ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงใน จ.นราธิวาส
ช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ จ.นราธิวาส เปิดปฏิบัติการติดตามตัวผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดและยิงซ้ำชาวบ้านหาของป่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยปฏิบัติการที่บริเวณเชิงเขาบ้านไอร์ราฆอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
เกิดการยิงปะทะกันและมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิต คือ นายฮาซัน อาแว โดยศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า นายฮาซัน เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562
เจ้าหน้าที่ยังตรวจยึดอาวุธปืนสงคราม เครื่องกระสุน รวม 5 รายการ บริเวณที่เกิดเหตุ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังเตรียมการเข้าสู่ช่วงของการประชุมผู้นำเอเปคได้เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างน้อย 5 เหตุการณ์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 พ.ย. เป็นต้นมา ได้แก่
- เหตุลอบยิงคนหาของป่าก่อนวางระเบิดซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจสอบเหตุ เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.จะแนะ จ. นราธิวาส (13 พ.ย.)
- เหตุเผาสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง ใน อ.เมือง และ อ.ยะหริ่ง ของ จ.ปัตตานี (15 พ.ย.)
- เหตุเผาสายไฟฟ้าที่ อ.รามัน จ.ยะลา (15 พ.ย.)
- เหตุระเบิดบริเวณสามแยก ทางเข้าโรงเรียนบ้านคาโตหมู่ 5 ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี (16 พ.ย.)
- เหตุลอบขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ หวังโจมตีชุดคุ้มครองตำบลรือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (16 พ.ย.)
เหตุรุนแรงต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2
เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานความเห็นของ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า สิ่งที่เป็นความมุ่งหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุมาโดยตลอดคือการทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล “ในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้การประชุมเอเปค อาจจะมีส่วนที่เขาพยายามก่อเหตุเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ”
สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานอ้างผู้ใกล้ชิดแกนนำกลุ่มขบวนการพูโลและบีอาร์เอ็น ว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปค
“เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวข้องกับปาตานีเท่านั้น” และ “BRN ยืนยันว่าเป็นการตอบโต้จาก BRN สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเอเปค” ผู้ใกล้ชิดกับแกนนำบีอาร์เอ็น และอยู่ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับรัฐบาลไทย ระบุเมื่อ 14 และ 16 พ.ย.
ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยเมื่อ 17 พ.ย. ว่าบีอาร์เอ็นมีนโยบายที่จะไม่ยอมรับหรือปฏิเสธการปฏิบัติการทางการทหารมาโดยตลอด ฉะนั้น ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ได้อย่างชัดเจน
“แต่รูปแบบของการก่อเหตุ เช่น การบุกไปเผาปั๊มน้ำมัน เผาตู้ชุมสายโทรศัพท์ เป็นรูปแบบการก่อเหตุที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มบีอาร์เอ็นคือการโจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่พวกเขามองว่าเป็นฐานเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐไทย”
ดร.รุ่งรวี กล่าวด้วยว่า จากรายงานข่าวที่ว่าคนก่อเหตุได้ตะโกนบอกให้คนออกไปจากปั๊มน้ำมันก่อนเกิดเหตุ มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์วันที่ 16-17 ส.ค. ที่ผ่านมา
“บีอาร์เอ็นจะเน้นการส่งสัญญาณทางการเมืองมากกว่าการทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย เพราะการมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวนมากจะส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบีอาร์เอ็นซึ่งต้องการสร้างพันธมิตรกับประชาคมนานาชาติ”
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับเอเปคหรือไม่ ดร.รุ่งรวี ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าการเลือกช่วงเวลาในการปฎิบัติการทางการทหารในครั้งนี้จะมีความสัมพันธ์กับการประชุมเอเปค เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ความสนใจของประชาคมโลกพุ่งมายังประเทศไทยมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดความสนใจในปัญหาในภาคใต้มากขึ้น
ส่วนประเด็นการเลือกตั้งมาเลเซีย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง การเปลี่ยนผู้ประสานงาน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ช่วงจังหวะเวลาการก่อเหตุไม่น่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว