ศาลฎีกาชี้ สกอตแลนด์ จะทำประชามติแยกตัวไม่ได้ หากไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร

getty images

ศาลฎีกาชี้รัฐบาล สกอตแลนด์ ไม่สามารถจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชได้โดยปราศจากความยินยอมของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นหลัง นางนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ ประกาศว่าจะจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชในวันที่ 19 ต.ค. ปีหน้า

ทว่าองค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อ 23 พ.ย. ว่ารัฐบาลของเธอไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว

รัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักรปฏิเสธคำร้องขอจากรัฐบาลสกอตแลนด์มาโดยตลอดที่จะมีคำยินยอมอย่างเป็นทางการ

ลอร์ด รีด ประธานศาลฎีกา แถลงว่า กฎหมายจัดตั้งรัฐสภาสกอตแลนด์ปี 1999 ไม่อนุญาตให้รัฐสภาแห่งนี้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเอกภาพของสกอตแลนด์และอังกฤษ (England)

เขาปัดตกข้อโต้แย้งของรัฐบาลสกอตแลนด์ที่อ้างว่าผลประชามติเป็นเพียง “คำเสนอแนะ” และจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายในการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร

รัฐบาลสกอตแลนด์อ้างว่าการทำประชามติคือการถามความเห็นประชาชนว่าสกอตแลนด์ควรกลายเป็นประเทศเอกราชหรือไม่

ประธานศาลฎีกา วินิจฉัยว่า การเสนอทำประชามติโดยรัฐบาลสกอตแลนด์ เป็นประเด็นที่สงวนไว้สำหรับรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเท่านั้น หากรัฐบาลของ 2 ประเทศ (รัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักร และรัฐบาลสกอตแลนด์) ตกลงกันไม่ได้ รัฐสภาของสกอตแลนด์ก็ไม่มีอำนาจผ่านกฎหมายให้จัดทำประชามติ

คำวินิจฉัยมีขึ้นหลัง นางโดโรธี เบน รัฐมนตรียุติธรรมสกอตแลนด์ ร้องต่อศาลฎีกาสกอตแลนด์ให้วินิจฉัยเรื่องนี้

ศาลใช้เวลา 2 วัน เมื่อเดือน ต.ค. รับฟังข้อโต้แย้งทางกฎหมายจากตัวแทนรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสกอตแลนด์ แล้วออกคำวินิจฉัยในอีก 6 สัปดาห์ต่อมา เร็วกว่าที่หลายคนคาด

“การจัดลงประชามติโดยไม่ถูกกฎหมายจะมีผลทางการเมืองที่สำคัญที่ตามมามากมาย ที่เกี่ยวพันกับการอยู่ร่วมกันของทุกประเทศและรัฐสภาสหราชอาณาจักร

หลังทราบผล นางสเตอร์เจียนทวีตว่า “ผิดหวัง” ต่อคำวินิจฉัยนี้ แต่เคารพต่อคำตัดสินของศาล และย้ำว่าองค์คณะผู้พิพากษาใม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย แต่เป็นผู้ตีความกฎหมาย

สกอตแลนด์เคยจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวจากสหราชอาณาจักรไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2014 ผลที่ออกมาคือ ชาวสกอตแลนด์กว่า 55% เลือกจะอยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกิดเรื่องราวมากมายที่อาจทำให้คนเปลี่ยนใจ ทั้งเรื่องเบร็กซิท หรือการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลของนางสเตอรร์เจียนเสนอว่าจะจัดการลงประชามติอีกรอบ

เมื่อปี 2017 รัฐสภาสกอตแลนด์มีมติด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 59 เห็นชอบให้รัฐบาล ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลอังกฤษ เพื่อจัดทำประชามติครั้งที่ 2 ขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว