หญิงพื้นเมืองกรีนแลนด์เล่าประสบการณ์เจ็บปวด ถูกรัฐบาลเดนมาร์กจับคุมกำเนิดโดยไม่เต็มใจ

หญิงหลายพันคนบนเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งรวมถึงเด็กอายุเพียง 12 ปีถูกเจ้าหน้าที่การแพทย์จับใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดโดยไม่สมัครใจ ตามโครงการของรัฐบาลเดนมาร์กที่ต้องการควบคุมประชากรชนพื้นเมืองชาวอินูอิตในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970

รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเปิดการสอบสวนอิสระเกี่ยวกับ “โครงการห่วงคุมกำเนิด” ในกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก

ขณะเดียวกัน บีบีซีพบข้อมูลจากหญิงชาวอินูอิตหลายคนที่ยังตกเป็นเหยื่อการคุมกำเนิดโดยไม่สมัครใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นวงกว้างขึ้น

Bebaine
BBC เบเบียน ถูกจับใส่ห่วงคุมกำเนิดให้โดยที่เธอไม่รู้ตัว ตอนเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ตอนอายุ 16 ปี

ตอนที่เบเบียนอายุ 21 ปี เธอไปพบแพทย์เพื่อรับบริการใส่ห่วงคุมกำเนิด แต่ต้องตกใจเมื่อได้รับแจ้งว่ามีห่วงคุมกำเนิดอยู่ในตัวเธออยู่แล้ว

“ฉันจำได้ว่าน้ำตาไหลอาบแก้ม และฉันบอกพวกเขาว่าฉันไม่เข้าใจว่าตัวเองมีห่วงคุมกำเนิดได้ยังไง…เป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะลืมตอนที่มีการใส่ห่วงให้ฉัน”

เบเบียนเชื่อว่าน่าจะมีการแอบใส่ห่วงคุมกำเนิดให้โดยที่เธอไม่รู้ตัว ตอนที่เธอเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ตอนอายุ 16 ปี ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000

ช่วง 4 ปีหลังจากนั้น เธอต้องทนทุกข์กับอาการปวดท้องน้อยรุนแรงถึงขั้นเดินขึ้นบันไดไม่ได้

“ฉันไปโรงพยาบาลหลายครั้งมาก แต่ก็ไม่รู้ว่ามีความผิดปกติอะไร…”

เบเบียนอยากมีลูกอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตั้งท้องได้ เธอจึงตัดสินใจพักแผนการนี้เอาไว้และไปขอรับบริการคุมกำเนิด แต่ก็ต้องช็อกที่ได้ทราบว่าตัวเองมีห่วงคุมกำเนิดในร่างกายอยู่แล้ว

หลังการค้นพบที่น่าตกตะลึงดังกล่าว เบเบียนก็ตัดสินใจเอาห่วงออก และเธอก็ตั้งท้องในอีกไม่กี่เดือนถัดมา

ประสบการณ์ลักษณะเดียวกันของมีรา (นามสมมุติ) เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ตอนนั้นเธอเข้ารับการตรวจร่างกาย และต้องตกใจที่พบว่าตัวเองมีห่วงคุมกำเนิดอยู่ในร่างกาย

มีรา ซึ่งปัจจุบันอายุ 45 ปี เชื่อว่ามีการใส่ห่วงคุมกำเนิดโดยที่เธอไม่ยินยอมตอนที่เข้ารับการผ่าตัดเล็กที่มดลูกในปี 2018

หลังการผ่าตัดเธอต้องทุกข์ระทมกับความเจ็บปวดอยู่เป็นปี และแพทย์มักปฏิเสธว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ จนกระทั่งเธอเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและพบห่วงคุมกำเนิดในตัว

หมอบอกว่าห่วงคุมกำเนิดแทงทะลุมดลูกของเธอ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน มีราจึงตัดสินใจผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด

แต่การผ่าตัดไม่สำเร็จ ทำให้มีราไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกต่อไป เพราะทุกครั้งที่เธอมีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่จะทำให้มีเลือดไหลและสร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรง

Maniitsoq

BBC
“โครงการห่วงคุมกำเนิด” เกิดขึ้นจากรัฐบาลเดนมาร์กที่ต้องการควบคุมประชากรชนพื้นเมืองชาวอินูอิตในกรีนแลนด์ช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970

ห่วงคุมกำเนิดไม่ใช่อุปกรณ์คุมกำเนิดชนิดเดียวที่ทางการเดนมาร์กบังคับใช้กับประชากรอินูอิตบนเกาะกรีนแลนด์ การสัมภาษณ์ผู้หญิงหลายคนของบีบีซีทำให้ทราบว่า แพทย์เดนมาร์กใช้วิธีฝังและฉีดยาคุมกำเนิดให้หญิงพื้นเมืองบางคนที่เคยรับบริการยุติการตั้งครรภ์หลายครั้ง หรือแท้งบุตร โดยที่พวกเธอไม่เต็มใจ

เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทางการเดนมาร์กและกรีนแลนด์เห็นพ้องเปิดการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงเรื่องการบังคับคุมกำเนิดชนพื้นเมืองในกรีนแลนด์จนถึงปี 1991 ซึ่งทางการกรีนแลนด์เริ่มเข้าควบคุมระบบสาธารณสุขของตน จากเดิมที่อำนาจนี้เป็นของทางการเดนมาร์ก

แต่ผู้หญิงหลายคนที่พูดคุยกับบีบีซีต้องการให้ขยายการตรวจสอบเรื่องนี้ออกไปหลังจากปี 1991 เพราะมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่การแพทย์ยังคุมกำเนิดให้สตรีชาวอินูอิตโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม

นางมิมี คาร์ลเซน รัฐมนตรีสาธารณสุขกรีนแลนด์บอกกับบีบีซีว่า เธอไม่ทราบว่ามีการคุมกำเนิดโดยคนไข้ไม่สมัครใจเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และจะนำข้อมูลที่ได้จากบีบีซีไปนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ เพื่อตรวจสอบและพิจารณาถึงแนวทางจัดการที่เหมาะสม

Naja and Holga
BBC นายา (ซ้าย) และโฮลกา ถูกบังคับใส่ห่วงคุมกำเนิด ตอนอายุ 13 และ 14 ปี

นายา ไลเปิร์ต เป็นอีกคนที่ถูกบังคับใส่ห่วงคุมกำเนิดโดยไม่เต็มใจตาม “โครงการห่วงคุมกำเนิด” ของรัฐบาลเดนมาร์ก ซึ่งในกรณีของเธอเกิดขึ้นในปี 1975

“ฉันอายุ 13 ปี และมันรู้สึกราวกับถูกมีดแทง” เธอบรรยายความรู้สึกตอนที่ถูกบังคับใส่ห่วงคุมกำเนิด

โฮลกา เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอ ซึ่งปัจจุบันอายุ 62 ปี ก็เป็นอีกคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันตอนอายุ 14 ปี

ในตอนนั้นทั้งคู่ถูกบังคับสวมห่วงอนามัย IUD รุ่นแรก ๆ ที่เรียกว่า “ห่วงลิปปีส” (Lippes loop) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในหญิงวัยผู้ใหญ่ที่เคยผ่านการคลอดบุตรแล้ว แต่มันกลับถูกนำมาใช้กับเด็กหญิงในกรีนแลนด์บางคนที่อายุเพียง 12 ปี

พญ.อาเวียยา ซิกสตาด แพทย์ด้านนรีเวชศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีว่า “ฉันไม่อยากจะจินตนาการถึงความเจ็บปวดจากการใส่ห่วงนี้เข้าไปในช่องขนาดเล็ก” ของเด็กผู้หญิง

การใส่ห่วงลิปปีสให้เด็กทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เลือดออกรุนแรง การติดเชื้อ เจ็บปวดเรื้อรัง และเป็นหมัน

ที่ผ่านมา แพทย์หญิงผู้นี้ได้พบคนไข้ที่เข้ารับการรักษาอาการเป็นหมัน แต่ในเวลาต่อมาตรวจพบว่าพวกเธอมีอุปกรณ์คุมกำเนิดในร่างกาย

Holga outside her old school
BBC มีผู้หญิงและเด็กสาวในกรีนแลนด์ราว 4,500 คน ถูกจับคุมกำเนิดโดยไม่เต็มใจในช่วงระหว่างปี 1966 – 1970

เมื่อโตขึ้น นายา ได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยาและได้พบกับคนไข้มากมายที่ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกจับใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดโดยไม่สมัครใจ

เธอตัดสินใจรณรงค์ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยจัดตั้งกลุ่มทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้ติดต่อและช่วยสนับสนุนกันและกัน

ด้วยเหตุนี้ นายาจึงได้รับคัดเลือกจากบีบีซีให้อยู่ในทำเนียบ 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลก ประจำปี 2022

เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิสตรีในกรีนแลนด์นี้ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง หลังจากมีการเผยแพร่พอดแคสต์ในประเทศเดนมาร์กที่ชื่อ The Coil Campaign (โครงการห่วงคุมกำเนิด) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผู้หญิงและเด็กสาวในกรีนแลนด์ราว 4,500 คน ถูกจับคุมกำเนิดโดยไม่เต็มใจในช่วงระหว่างปี 1966 – 1970 หรือคิดเป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ 9,000 คนในกรีนแลนด์ช่วงนั้น

โครงการนี้มีเป้าหมายลดจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนบนเกาะกรีนแลนด์นับตั้งแต่ปี 1950 รวมทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงนั้น

ในปี 1970 โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะทำให้อัตราการเกิดในกรีนแลนด์ลดลงอย่างรวดเร็ว

กราฟิก

BBC

หลังจากทนทุกข์กับความเจ็บปวดหลายปี ในที่สุดนายาตัดสินใจถอดห่วงคุมกันเนิดออกตอนอายุ 17 ปี และสามารถมีลูกได้ตอนอายุ 35 ปี

ส่วนโฮลกานั้น ต้องเผชิญความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการใส่ห่วงลิปปีสทำให้เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกออกไปใน 2018 ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้มีลูก

กรณีน่าตกใจที่สุดที่บีบีซีได้รับฟังมาคือเรื่องของ ซูซาน คีลเซน ซึ่งปัจจุบัน 75 ปี

Susanne
BBC ซูซานเล่าประสบการณ์สะเทือนใจที่ถูกแพทย์บังคับทำแท้งลูกคนที่ 2

หลังจากเข้ารับการตรวจตามกำหนดขณะตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ได้ 5 เดือน หมอบอกว่าจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ของเธอเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะสืบพันธุ์ครั้งก่อน

แม้ซูซานจะทักท้วงว่าภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้รับการรักษาแล้วตั้งแต่ก่อนที่เธอจะตั้งท้อง แต่ถึงอย่างนั้นแพทย์ก็ยังเดินหน้ายุติการตั้งครรภ์ของเธออยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ลูกในท้องซูซานไม่เสียชีวิต และเธออุ้มท้องต่อไปจนเด็กในครรภ์มีอายุ 7 เดือน ทว่าเมื่อคลอดออกมาได้เพียง 1 ชั่วโมง ลูกน้อยของเธอก็เสียชีวิตลง

ซูซานเล่าว่าภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากคลอดลูก แพทย์พยายามใส่ห่วงคุมกำเนิดให้เธอถึง 4 ครั้ง จนเธอต้องขอให้เขาหยุดทำในที่สุด

นับตั้งแต่สูญเสียลูก ซึ่งภายหลังซูซานได้ทราบว่าเป็นเด็กผู้ชาย เธอมักชอบจินตนาการถึงการได้ยินเสียงเด็กร้องในบ้าน

“ความเศร้าโศกเข้าครอบงำฉัน”

ซูซานบอกว่าเธอต้องการคำขอโทษจากทางการเดนมาร์กก่อนที่มันจะสายเกินไป

BBC 100 Women logo 2022

BBC

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว