ซอฟต์พาวเวอร์ คุณเข้าใจถูกต้องไหม ทำไมรัฐไม่ควรเป็นเจ้าภาพ

Getty Images มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวไทยวัย 19 ปี จุดกระแสด้วยการนำของหวานไทยจานนี้ขึ้นไปรับประทานบนเวที Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 17 เม.ย. ปีที่แล้ว

“เรามีของดี ๆ กันเยอะแล้วหละ ผมก็ย้ำอยู่เสมอว่า ซอฟต์แวร์ของเรา เรื่องอาหาร เรื่องธรรมชาติ เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ เรื่องสุขภาพ นี่คือซอฟต์แวร์ที่เรามีความพร้อม เอ้ย ซอฟต์พาวเวอร์นะ ขอโทษ”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตอบคำถามนักข่าวในประเด็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่กลายเป็นกระแสความนิยมบริโภคข้าวเหนียวมะม่วง หลังจาก มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวไทยวัย 19 ปี จุดกระแสด้วยการนำของหวานไทยจานนี้ขึ้นไปรับประทานบนเวที Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 17 เม.ย. ปีที่แล้ว

Getty Images
มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวไทยวัย 19 ปี จุดกระแสด้วยการนำของหวานไทยจานนี้ขึ้นไปรับประทานบนเวที Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 17 เม.ย. ปีที่แล้ว

“ข้าวเหนียวมะม่วง” ได้กลายเป็นคำค้นยอดนิยมทางอินเทอร์เน็ต ส่วน “ซอฟต์พาวเวอร์” ก็กลายเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากแวดวงการเมือง ขยายไปยังธุรกิจบันเทิง ท่องเที่ยว การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ถูกนำไปตั้งคำถามบนเวทีนางงาม

คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ “เราใช้คำ ๆ นี้ถูกต้องหรือไม่ หรือใช้เพียงเพราะว่าเป็นคำดังกล่าวทำให้ดูเท่เท่านั้น”

บีบีซีไทยไปพบกับ ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อหาคำตอบของคำนี้ ที่มีที่มาจากศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

คนไทยสับสน “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างไร

“คนทั่วไปมักมองว่าสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมคือ ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งในความหมายของผู้คิดคำนี้ คือ ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ บอกว่า ไม่ใช่” ผศ.ดร. พีระตั้งข้อสังเกต

ผศ.ดร. พีระบอกว่า ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้นี้ผู้เคยตำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลขปงประธานาธิบดีบิล คลินตัน  แบ่ง “อำนาจ” (Power) ออกเป็น 2 แบบ

  • อำนาจแบบแรก: เกิดขึ้นจากการประเมินผลลัพธ์

“สมมติคุณสามารถทำให้คนหนึ่งคนใดทำตามได้ที่คุณต้องการได้ แล้วนำมาประเมินผลลัพธ์แล้ว คุณเรียกว่ามีพาวเวอร์” ผศ.ดร. พีระยกตัวอย่าง

  • อำนาจแบบที่สอง : อำนาจในฐานะที่เป็นทรัพยากร

ศาสตราจารย์ไนย์ เคยเขียนอธิบายว่า มีคนเข้าใจผิดกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบาย ที่ มักจะมองว่า เอาแค่มีเพียงทรัพยากรถือว่ามีอำนาจแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่าง เช่น ในสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกามีขีดความสามารถเหนือเวียดนามมากมาย แต่ก็ไม่สามารถทำให้เวียดนามเป็นอย่างที่ต้องการได้ หรือรัสเซียก็ไม่สามารถทำให้ยูเครนประกาศชัดว่า “ฉันจะไม่เข้าร่วมกับนาโต” หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ  ต่อให้มีขีดความสามารถทางการทหาร เหนือกว่ายูเครน

จากลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า มีทรัพยากรเยอะไม่ได้แปลว่ามีอำนาจ เช่นกันกับนิยามของคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ก็เป็นแบบนั้น

“การที่คุณส่งออกวัฒนธรรมต่าง ๆ ของความเป็นไทย อย่างผัดไทย อาหารไทย มวยไทย ก็ไม่ได้แปลว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาจะต้องมาที่ประเทศไทยตอนประชุมเอเปค เห็นไหม แปลว่าอะไร การที่คุณมีทรัพยากรอย่างหนึ่งไม่ได้แปลว่า คุณมีซอฟต์พาวเวอร์เหนือคนอื่น คนละเรื่องกัน คุณอาจจะมีทรัพยากร แต่ไม่ได้มีพาวเวอร์เหนือเขา” ” ผศ.ดร. พีระ ให้ความเห็น

รัฐควรเป็นผู้กำหนด “ซอฟต์พาวเวอร์” ได้หรือไม่

ปีที่ผ่านมา “ซอฟต์พาวเวอร์” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดและดำเนินการอย่างจริงจังโดยฝ่ายรัฐ จนในที่สุด สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ที่ 206/2565 ลงวันที่ 19 ส.ค. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power โดยมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ

ทว่า หากพิจารณารายนามของกรรมการของคณะดังกล่าวต่างเต็มไปด้วยตำแหน่งผู้บริหารระดับกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ส่วนผู้แทนองค์กรภาคเอกชนก็มีผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นกรรมการ

ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์ ผศ.ดร. พีระ มองว่า ภาครัฐไม่ควรจะนำและต้องหนุนเพราะ จากที่ผ่านมา ทรัพยากรซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมจะโด่งดังขึ้นมาได้มักไม่ค่อยเป็นเพราะรัฐมากำกับ มักจะเกิดจากภาคประชาสังคมเป็นผู้คิดกัน ภาคเอกชนสร้างขึ้นมาแล้วมันก็เปรี้ยงปร้างดังขึ้นมา

“ผมคิดว่าบทบาทรัฐควรจะถอยออกมาเป็นผู้หนุน ลดข้อจำกัดทางกฎหมาย สร้างกลไกลสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาพัฒนา และยังต้องมีระบบการให้รางวัล และต้องใช้เวลาในการพัฒนา ตัวอย่าง เกาหลีใต้ใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ผมขอย้ำว่าบทบาทของรัฐคือผู้หนุนอย่าไปนำ และต้องยอมรับว่าระหว่างทางอาจจะมีไอเดียแนวความคิดที่ล้มเหลว มันเป็นเรื่องปกติ”

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดก็คือ คณะกรรมการดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้นำประเทศที่มาจากกองทัพและเคยทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจทางการทหาร (hard power) ตรงข้ามกับ ซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นผู้กำหนดทิศทางได้เช่นไร

ลอยกระทง

Getty Images

“คนที่เคยชินกับการใช้วิถีทางที่บังคับขู่เข็ญ อยู่ดี ๆ มาบอกว่า ผมจะเปลี่ยน อย่าลืมว่าซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องของการสั่งสมความเชื่อ สร้างบารมีขึ้นมาอยู่ดีดีขึ้นมาจะมาปรับ พูดง่ายๆ ฉันเป็นเผด็จการมาประมาณเกือบ 10 ปีอยู่ดีๆ พรุ่งนี้ฉันจะเปลี่ยนแล้วนะ ผมว่ามันไม่ง่าย ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในหมู่คนรุ่นใหม่คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมา กับการใช้ฮาร์ดพาวเวอร์ตลอดชีวิตจะมาบอกว่าผมเปลี่ยนไปแล้วอาจจะยากนิดนึง” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้ก็ตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. พีระ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลเมื่อรัฐรับบทเป็นผู้กำกับนโยบายด้านนี้ คือ การกำหนดเกณฑ์ประเมินผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เนื่องจากมีเรื่องของเม็ดเงินภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะคุ้มค่าหรือไม่ต่อการลงทุนไป

ซอฟต์พาวเวอร์ควรสอดคล้องกับหลักสากลนิยม

หลายครั้งสิ่งที่รัฐบาลพยายามนำคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เป็นทรัพยากรซอฟต์พาวเวอร์ไปนำเสนอทั้งในประเทศและต่างประเทศ มักจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่า “ไม่สอดคล้องกับหลักสากลนิยม”

“ถ้าเรานิยาม ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า คือการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามที่เราต้องการโดยไม่ใช้การคุกคามขู่เข็ญ คุณค่าอย่างประชาธิปไตย คุณค่าสิทธิเสรีภาพ การเคารพสิทธิการแสดงออกทั้งหลายที่เราทราบ ๆ กัน คุณค่าเหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพยากรซอฟต์พาวเวอร์ได้ทั้งสิ้น” นักวิชาการ มธ. ตั้งข้อสังเกต

เขายังตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นทรัพยากร เพราะทำให้คนรู้สึกว่า นี่คือ มาตรวัดที่เราต้องไปถึง คงไม่มีใครเดินไปบนถนนแล้วบอกว่า ฉันไม่เอาประชาธิปไตย ฉันจะเอาเผด็จการ 100%

นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างเพลงของกลุ่มศิลปินไทยที่ปล่อยเพลงออกมาทำให้สังคมโลกต้องหันมามองว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในครั้งนั้น

Getty Images
ศิลปินกลุ่ม RAD ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “ปฏิรูป” ในที่ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 2563

“กรณีของเพลงกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ผมคิดว่า นี่คือเป็นการใช้ทรัพยากรซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง เพลง คือ ทรัพยากรซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงเพลงนี้มันทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจเผด็จการบางอย่าง ที่สำคัญมีคนพูดถึงในต่างแดนด้วย ถามว่าทำไมถึงเป็นที่พูดถึง เพราะชาวต่างชาติเค้าเชื่อมโยงกันได้”

เพลงประเทศกูมี ถูกเผยแพร่ครั้งแรกผ่านช่องยูทิวบ์ของกลุ่มศิลปินดังกล่าวเป็นที่พูดถึงอย่างมากระหว่างความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยโดยเยาวชนรุ่นใหม่ โดยเนื้อหาของบทเพลงตีแผ่ปัญหาในประเทศ จนฝ่ายรัฐดำเนินคดีจนมีคำสั่งศาลให้ปิดคลิปดังกล่าวบนยูทิวบ์ โดยอ้างว่าเนื้อหาไม่สร้างสรรค์ ใช้คำหยาบคายและกระทบต่ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก่อนจะถูกปิดมิวสิควิดีโอมียอดการรับชมกว่า 9 ล้านครั้ง

Getty Images
กลุ่มศิลปินนี้ได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี 2562

นอกจากนี้ยังมีมิวสิควิดีโออีกชิ้นในชื่อ “ปฏิรูป” ยังถูกระงับการเข้าถึงจากประเทศไทยอีกด้วย

แม้ว่าทางการไทยไม่เห็นด้วยกับท่าทีของกลุ่มศิลปิน แต่พวกเขากับได้รับการยอมรับในต่างชาติ โดยพวกเขาได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี 2562 ซึ่งรางวัลนี้ มูลนิธิสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation) มอบให้กับผู้กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรม

สมรสเท่าเทียม+นักท่องเที่ยว LGBTQ+ซีรีส์วาย=ซอฟต์พาวเวอร์ใหม่?

ก่อนจบบทสนทนากับ ผศ.ดร. พีระ เสนอแนวทางในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ที่มีโอกาสเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย ด้วยการชูแนวคิดเป้าหมายการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

ประเด็นที่สังคมกำลังขับเคลื่อนคือ สิทธิเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในการสมรสแบบเท่าเทียม ซึ่งในชั้นกฎหมายยังมีความยืดเยื้อ โดยเนื้อหาการสมรสก็จำเป็นต้องสอดรับกับกระแสโลก

“ผมเชื่อว่าลึกๆ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเห็นพ้องต้องกัน การขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันทางเพศก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ อย่าลืมว่าหลายปีก่อน ไทยเคยแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใช้ชื่อว่า ‘Go Thai Be Free’ มาก่อน ดึงดูดให้กลุ่ม LGBTQ มาท่องเที่ยว ประเทศไทยเพราะเขารู้สึกว่ามันปลอดภัยมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา”

บีบีซีไทยตรวจสอบทางสื่อสังคมออนไลน์แล้วพบว่า ปัจจุบัน แคมเปญดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ในลักษณะให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

นักวิชาการรายนี้คาดการว่า หากว่ารัฐบาลไทยสามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้ ไทยจะโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่แสดงออกถึงความเคารพต่อกลุ่ม LGBTQ อีกส่วนที่ต้องไม่ลืมคือ สื่อบันเทิงที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้และสร้างชื่อเสียงให้กับไทย คือ “ซีรีส์วาย”

ซีรีส์วาย คือ ละครชุดที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกัน ในระยะหลังมีการสอดแทรกแนวความคิดทางการเมือง โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น ด้วยการแสดงที่ดี นักแสดงที่เป็นนิยม และการทำการตลาดของบริษัทผู้ผลิตตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมของไทยมีกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทยด้านซีรีส์วายได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

“แล้วทำไมสองอย่างนี้ (กฎหมายสมรสเท่าเทียมและกระแสซีรีส์วาย) จะไปด้วยกันไม่ได้ลองคิดดูนะว่าหากเราผ่านกฎหมายนี้ไป เรายึดมั่นว่าเราจะเคารพบุคคลเหล่านี้แล้วอนาคตและไทยจะเป็นตัวตั้งตัวตีเราจะแคมเปญเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ผมเชื่อเหลือเกินว่า พวกเขาจะรู้สึกดึงดูดและเดินทางก็มาท่องเที่ยวที่นี่แน่นอน เท่ากับว่าเราจะมีซอฟต์พาวเวอร์เรื่องนี้แล้ว” ผศ.ดร. พีระ กล่าวทิ้งท้าย

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว