
ไม่กี่วันหลังจีนรายงานว่าอัตราการเกิดของประชากรหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี ล่าสุดนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นก็มาเตือนว่า ประเทศกำลังเผชิญอัตราการเกิดต่ำเช่นกัน และประชากรวัยชราที่เพิ่มขึ้นกำลังเป็น “ความเสี่ยงเร่งด่วน”
“ญี่ปุ่นใกล้เข้าสู่ภาวะที่ว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนประเทศต่อไปอย่างเป็นสังคมได้หรือไม่” นายคิชิดะกล่าว
หลังจากอัตราการเกิดของญี่ปุ่นแตะระดับต่ำสร้างสถิติใหม่ เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลได้ประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณในโครงการเกี่ยวกับเด็กขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรเพิ่ม
แต่จีนและญี่ปุ่นไม่ใช่เพียง 2 ประเทศที่กำลังเผชิญปัญหานี้ ทว่ายังมีอีกหลายประเทศ และต่างพยายามหาวิธีการกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากรในชาติ
สิทธิลาคลอดบุตรที่ยาวนาน
หลังจากคลอดบุตร บอร์ยานา อันดีวา กรามาติโควา ชาวบัลแกเรียวัย 33 ปี ได้รับเงินเดือนเกือบเต็มจำนวนเป็นเวลา 12 เดือน
เธอเล่าให้บีบีซีฟังว่า “ในปีแรกของการลาคลอดบุตร จะได้รับเงิน 90% ของเงินเดือน ส่วนในปีที่ 2 จะได้รับเงินเดือนตามอัตราขั้นต่ำ”
ธนาคารโลกระบุว่า บัลแกเรียมีอัตราประชากรที่อายุเกิน 65 ปี อยู่ราว 22% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนประชากรกลุ่มนี้สูงที่สุดในยุโรป
ด้วยเหตุนี้ ทางการจึงพยายามแก้ปัญหาสังคมสูงวัยด้วยการให้ประชาชนได้สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ในรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า ในบรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีอยู่ไม่ถึงครึ่งที่ดำเนินนโยบายให้แม่สามารถลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนอย่างน้อย 6 เดือน
เอสโตเนียเสนอให้มารดาสามารถลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเป็นเวลา 85 สัปดาห์ ขณะที่สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายระดับชาติในเรื่องนี้
- เกษียณมาร์เก็ต ตลาดเพื่อคนสูงวัยแต่ไฟยังมีอยู่
- ปัจจัยอะไรทำให้คนปัจจุบันอายุยืนยาวเกิน 100 ปีมากขึ้น
- เมื่อโลกมีผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร
กรามาติโควาชี้ว่า นโยบายลาคลอดบุตรของบัลแกเรียคือหลักประกันรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เธอสามารถลางานไปเลี้ยงดูลูกได้นานเกือบ 2 ปี
“คุณมีโอกาสได้สร้างความผูกพันกับลูก และหากคุณมีลูกที่ไม่ค่อยแข็งแรงอย่างฉัน คุณก็จะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นโยบายนี้ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจว่าฉันจะอยู่ดูแลลูกได้ และยังมีงานให้กลับไปทำได้”
แม้จะมีนโยบายนี้ แต่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่า บัลแกเรียจะมีประชากรลดลง 20% ภายในปี 2050
ถึงแม้จะมีนโยบายการลาคลอดบุตรที่ยาวนาน แต่กรามาติโควาระบุว่าบัลแกเรียยังมีปัญหาอื่นที่ไม่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงดูบุตร เช่น การขาดแคลนผู้ประกอบวิชาชีพด้านดูแลเด็ก เงินเดือนที่ต่ำ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ราคาอสังหาริมทรัพย์สูง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่สูงระหว่างชายหญิง
เงินช่วยเหลือก้อนโตสำหรับแม่อายุน้อย
ในขณะที่บัลแกเรียใช้วิธีจูงใจให้ประชาชนมีลูกด้วยสิทธิลาคลอดบุตรที่ยาวนาน แต่เกาหลีใต้เลือกใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป นั่นคือการให้เงินช่วยเหลือ
นโยบายดังกล่าวเริ่มบังคับใช้ในปีนี้ โดยทุกครอบครัวที่เพิ่งมีบุตรจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละประมาณ 745 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,800 บาท)
สาเหตุที่ทางการดำเนินมาตรการนี้เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบ่งชี้ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของประชากรเกาหลีใต้จะเป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
เช่นเดียวกับหลายประเทศ เกาหลีใต้ยังไม่มั่นใจว่าระบบบริการด้านสาธารณสุขและสังคมของตนจะมีความพร้อมรับมือประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และปัญหาที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญก็รุนแรงขึ้นจากการเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกในปี 2022
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองที่มีลูกอ่อนขึ้นเป็น 3 เท่า
ทางการจะให้เงินช่วยเหลือชนิดนี้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม และจะลดลงครึ่งหนึ่งในปีถัดไป
ลี ซัง-ริม นักวิจัยแห่งสถาบันเพื่อสุขภาพและกิจการสังคมให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวบีบีซีแผนกภาษาเกาหลีในปี 2022 ว่า “คาดว่าในเวลาเพียง 20 ปี เกาหลีใต้จะแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีประชากรวัยชรามากที่สุดในโลก”
หุ่นยนต์ดูแลคนชรา

ความหลงใหลในเทคโนโลยี ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะหันไปใช้หุ่นยนต์รับมือกับภาวะที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ธนาคารโลกระบุว่า แรงงานสูงอายุเริ่มทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแล้ว
นอกจากจะมีแผนการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มงบประมาณในนโยบายเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งการเปิดหน่วยงานรัฐใหม่เพื่อแก้ปัญหาประชากรวัยชราที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังลงทุนด้านหุ่นยนต์เพื่อช่วยให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้นในวัยชรา
การได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ช่วยให้บริษัทญี่ปุ่นมีเงินทุนใช้จ่ายด้านการออกแบบหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์รูปสุนัข และแมวน้ำขนฟูเพื่อช่วยเหลือผู้ทำงานด้านการดูแลคนชรา
หุ่นยนต์ประเภทนี้ถูกออกแบบให้ช่วยเฝ้าสังเกตการณ์ผู้ใช้ ร่วมพูดคุยในบทสนทนา และช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย
ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว

รัฐบาลจีนเสนอลดหย่อนภาษีและยกระดับบริการสุขภาพแก่มารดานับตั้งแต่เลิกใช้นโยบายลูกคนเดียวในปี 2016 ซึ่งเปิดทางให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้ 2 คน
เมื่อเดือน พ.ย. 2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำหนดให้การกระตุ้นอัตราการเกิดในจีนเป็นภารกิจสำคัญของชาติ แต่การเพิ่มตัวเลขนี้ดูเหมือนจะยากกว่าการควบคุมอัตราการเกิดให้ลดลง
อัตราการเกิดของประชากรจีนในปี 2023 ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ โดยมีอัตราการเกิดที่ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คน
แม้นายสีจะให้คำมั่นว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินนโนบายเชิงรุกเพื่อรับมือกับประชากรวัยชรา แต่การคาดการณ์ของยูเอ็นกลับไม่สดใสนัก เพราะคาดว่าจำนวนประชากรจีนวัย 15-64 ปีจะลดต่ำกว่า 60% ภายในศตวรรษนี้
นี่ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า แรงงานวัยชราอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน และภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นอาจส่งผลกระทบไปทั้งโลก
การศึกษาตลอดชีวิต

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุรวดเร็วที่สุดในโลก
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงลงทุนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อช่วยให้แรงงานสามารถรับมือกับความท้าทายในภาวะประชากรวัยชราที่เพิ่มสูงขึ้น
ธนาคารโลกระบุว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งของสิงคโปร์เสนอให้ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วถึง 20 ปี สามารถเลือกเรียนหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพที่ทำอยู่ได้ และให้สามารถสมัครเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะแขนงใหม่ ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังสามารถใช้แผนบำนาญระยะยาวที่จะจ่ายเงินบำนาญไปตลอดชีพ เพื่อลดความเสี่ยงว่าเงินบำนาญจะหมดลงก่อนที่จะเสียชีวิต
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว