ทำไมเฟซบุ๊กกล้าเรียกเก็บเงิน แลก “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” หลังทวิตเตอร์ทำไม่สำเร็จ

 

Getty Images

Getty Images
ราคาอยู่ที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 412 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ และ 14.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 515 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไอโฟน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม สามารถจ่ายเงินเพื่อขอ “เครื่องหมายตรวจสอบยืนยันสีฟ้า” หรือ “Meta Verified” ได้แล้ว

Meta Verified หรือที่ผู้เล่นเฟซบุ๊กมักเรียกว่า “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” จะมีราคาอยู่ที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 412 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ และ 14.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 515 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไอโฟน

บริการนี้เริ่มใช้งานในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แล้ว ในสัปดาห์นี้

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมตา อธิบายว่า การเรียกเก็บเงินแลกเครื่องหมายถูกสีฟ้า จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือสำหรับการใช้งานเฟซบุ๊กมากขึ้น

ปกติ บัญชีเฟซบุ๊กที่ปรากฏเครื่องหมายถูกสีฟ้า สามารถขอใช้ได้ฟรี หากเฟซบุ๊กตรวจสอบแล้ว ซึ่งเครื่องหมายถูกสีฟ้านี้ เป็นสัญลักษณ์ทำให้ผู้เข้าดูเพจเฟซบุ๊กนั้นเชื่อถือมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฐานแฟนเพจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แผนการเก็บค่าบริการขอเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือเครื่องหมายตรวจสอบยืนยันสีฟ้า จะผูกโยงไปถึงบัญชีอินสตาแกรมด้วย

บริษัท เมตา บอกกับบีบีซีว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ส่งผลต่อบัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมเสริมว่า การได้รับการยืนยัน หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า จะช่วยเพิ่มการมองเห็นสำหรับผู้ใช้ที่มีฐานผู้ติดตามยังไม่สูงมากนัก

บริการแบบเรียกเก็บเงินนี้ เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว หลังอีลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์ ที่เรียกเก็บเงิน 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แลกกับการได้เครื่องหมายถูก “ทวิตเตอร์ บลู” ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2022

แต่การเรียกเก็บเงินสร้างปัญหาไม่น้อยกับทวิตเตอร์ จนต้องระงับไปแทบจะในทันที เมื่อ พ.ย. 2022 เพราะมีผู้ใช้ที่แอบอ้างตัวเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ และคนดัง จ่ายเงินเพื่อแลกเครื่องหมายยืนยันตัวตน

แต่ เมตา อธิบายว่า สำหรับอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กนั้น ปัญหาแบบทวิตเตอร์จะไม่เกิดขึ้น เพราะจะยืนยันตัวตนผ่านบัตรประจำตัวประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล อีกทั้ง ผู้ใช้จะต้องใช้รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปหน้าของตัวเองด้วย

เว็บไซต์และสังคมออนไลน์ที่ใช้วิธีการในลักษณะเดียวกัน อาทิ เรดดิต ยูทูบ และดิสคอร์ด

เมตา ยังไม่ระบุว่า บริการจ่ายเงินแลกเครื่องหมายถูกสีฟ้าจะเริ่มใช้ในประเทศอื่น ๆ เมื่อไหร่ แต่ซักเคอร์เบิร์ก ระบุว่า จะเกิดขึ้น “เร็ว ๆ นี้”

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือน พ.ย. 2022 บริษัท เมตา ประกาศลดพนักงานทั่วโลก 11,000 ตำแหน่ง อันเป็นผลจากการลงทุนที่ล้มเหลวในช่วงโควิด-19 เนื่องจาก ซักเคอร์เบิร์ก เก็งไว้ว่า อัตราการเติบโตของเมตา จะสูงขึ้นมากในช่วงโควิด แต่สถานการณ์นั้นกลับไม่เกิดขึ้น

“ผมผิดพลาดเอง และผมขอรับผิดชอบ” ซักเคอร์เบิร์ก กล่าว

ไม่ฟรีจริง ?

โซอี ไคลน์แมน บรรณาธิการเทคโนโลยีของบีบีซี วิเคราะห์การเปิดบริการเรียกเก็บเงินแลกเครื่องหมายยืนยันตัวตนว่า ห้วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ยากลำบากของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่นเดียวกับลูกค้าของบริษัทเหล่านี้ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ ตอนที่เปิดบริการยืนยันตัวตนผ่านการจ่ายเงิน สะท้อนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

มีคำกล่าวว่า สำหรับสังคมออนไลน์ที่ใช้งานได้ฟรีอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และติ๊กต่อกแล้ว แม้ว่าคุณไม่ได้จ่ายเงินซื้อบริการ แต่คุณนั่นแหละคือผลิตภัณฑ์ของบริษัท

เพราะมันหมายความว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณถูกบริษัทต่าง ๆ รวบรวมและนำไปใช้เพื่อจำหน่ายสินค้าให้คุณ ผ่านรูปแบบของโฆษณา มันเป็นแนวคิดที่ฉลาดหลักแหลม และทำให้บริษัทจำนวนมากรวยมหาศาล

แต่ทุกวันนี้ ประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้ และพยายามต่อต้าน โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ที่ดำเนินการในทิศทางตรงกันข้าม

ยกตัวอย่าง แอปเปิลที่เปิดระบบทางเลือก ให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงการถูกติดตามในโลกออนไลน์ได้ และปรากฏว่า เป็นระบบที่ได้ใจประชาชน เพราะส่วนใหญ่จะเลือกปฏิเสธไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ติดตามพฤติกรรมของพวกเขาในโลกออนไลน์

ดังนั้น คำถามสำคัญสำหรับบริการแบบเรียกเก็บเงินเช่นนี้ คือ ผู้ใช้งานมากแค่ไหนที่พร้อมจะจ่ายเงินให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง มัสก์ และซักเคอร์เบิร์ก กำลังหาคำตอบ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว