คุณยายชาวปาเลสไตน์ไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินของเธอในเขตเวสต์แบงก์ แม้เผชิญกับการโจมตีจากชาวยิวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

 

ความฝันถึงสันติภาพของคุณยายชาวปาเลสไตน์ผู้นี้กำลังห่างไกลออกไป

BBC
ความฝันถึงสันติภาพของคุณยายชาวปาเลสไตน์ผู้นี้กำลังห่างไกลออกไป

อามาล อาวัด มองออกมาจากหน้าต่างบ้านที่บานกระจกแตก

บ้านหลังนี้ฉาบด้วยคอนกรีตหยาบ ๆ รายล้อมไปด้วยป่าละเมาะ ดูเหมือนสร้างขึ้นมาอย่างรีบเร่ง แต่มันตั้งอยู่ที่นี่นานหลายสิบปีแล้ว ไม่ต่างจากอามาล

คุณยายชาวปาเลสไตน์ผู้นี้ บอกว่า เธอชินกับการระรานไม่หยุดหย่อน แต่ช่วงนี้มีการโจมตีบ่อยขึ้น

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา เธอบอกว่า กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวได้ล้อมที่ดินของเธอในช่วงกลางดึก พวกเขาได้ทุบทุกอย่างที่เป็นกระจกที่พวกเขาพบเห็น รวมถึงหน้าต่างรถยนต์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนที่จะโจมตีบ้านของเธอ

กล้องวงจรปิดจับภาพของพวกเขาไว้ได้ เห็นเป็นรูปร่างเหมือนผีกำลังถือไม้เบสบอลอยู่

“ฉันเป็นห่วงคนในครอบครัว ฉันมีลูกเล็ก ๆ และมีหลานที่บ้านด้วย” เธอกล่าว “พวกเขาก็หวาดกลัวเช่นกัน”

อามาล อาวาด

BBC
อามาล อาวาด เล่าว่า กองทัพอิสราเอลรื้อถอนทำลายหนึ่งในห้องในบ้านของเธอเมื่อ 2-3 ปีก่อนเช่นกัน

อามาลใช้ชีวิตอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองอยู่ และบอกว่า นี่เป็นปฏิบัติการใช้ความรุนแรงที่ทำกันมานานแล้ว เพื่อบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายออกไป

“เมื่อไม่นานนี้ พวกเขาเริ่มมากันทุก ๆ 2-3 วัน แต่ปกติเราจะเห็นพวกเขา และโทรเตือนเพื่อนบ้านว่า อาจจะเกิดการโจมตีขึ้น” อามาลอธิบาย “แต่ครั้งนี้ พวกเขามาช่วงหลังเที่ยงคืน เมื่อทุกคนเข้านอนแล้ว”

เจ้าหน้าที่ทางการชาวปาเลสไตน์กล่าวว่า มีการก่อเหตุเช่นนั้นแล้วราว 600 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเกิดเหตุเพียง 55 ครั้งในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ.

เหตุการณ์เหล่านี้ มักจะถูกเรียกว่า “การโจมตีตามป้ายราคา” ซึ่งจะก่อเหตุโดยชาวยิวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ต่อต้านการรื้อถอนทำลายชุมชนชาวยิวที่ผิดกฎหมาย ผู้ตั้งถิ่นฐานเหล่านี้ต้องการลงโทษชุมชนชาวปาเลสไตน์ตามความเสียหายต่อบ้านเรือนที่ไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างของพวกเขา

เขตเวสต์แบงก์แบ่งออกเป็น 3 เขตภายใต้ข้อตกลงสันติภาพออสโลปี 1993 อามาลอาศัยอยู่ในเขตที่ใหญ่ที่สุดที่ชื่อว่า “เขตซี” (Area C) ซึ่งอิสราเอลเป็นฝ่ายควบคุม ไม่มีการปกครองของชาวปาเลสไตน์ที่นี่

“เราโทรบอกตำรวจและกองทัพ แต่ไม่มีใครมา” อามาลกล่าวเพิ่มเติม เธอรู้สึกสิ้นหวังและต้องจำยอมรับสภาพ “จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีคนเข้ามาตรวจสอบความเสียหายเลย”

ยุทธวิธีรุนแรง

อามาล เล่าว่า สิ่งที่เธอเห็นมีแต่การได้ใจมากขึ้นของผู้ตั้งถิ่นฐานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การโจมตีบ้านของเธอลักษณะนี้ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. 2021

“ครั้งแรก พวกเขาปาก้อนหินใส่บ้านของเรา เราไม่อาจหยุดพวกเขาได้ และไม่อยากทำให้เรื่องบานปลาย ก็เลยไม่ได้ตอบโต้” เธอกล่าว

“แต่หลังจาก 20 วัน พวกเขาก็กลับมา พวกเขาใช้สเปรย์พริกไทยและทุบกระจกและรั้ว”

ภาพจากกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวขณะโจมตีบ้านของอามาล อาวาด ในช่วงกลางดึกของวันที่ 13 ก.พ.

BBC
ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวโจมตีบ้านของอามาล อาวาด ในช่วงกลางดึกของวันที่ 13 ก.พ.

การตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์เป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยกำลังถูกจับตามองจากกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ แต่อิสราเอลโต้แย้งเรื่องนี้

อิสราเอลได้สร้างชุมชนชาวยิวขึ้นราว 140 แห่ง เป็นที่อาศัยของชาวยิวราว 600,000 คน นับตั้งแต่อิสราเอลได้ยึดครองเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกในสงครามตะวันออกกลางปี 1967

ขณะที่มีการขยายตัวขึ้น ได้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ชุมชนเพิ่มขึ้น

อิสราเอลยังได้เพิ่มการจู่โจมตรวจค้นและจับกุมในเขตเวสต์แบงก์มากขึ้นในปีที่ผ่านมาด้วย โดยระบุว่า กำลังพยายามกำจัดการโจมตีของชาวปาเลสไตน์ที่มีความรุนแรงและพุ่งเป้าโจมตีชาวอิสราเอล

ในหมู่บ้านใกล้เคียง ฟูอาด ฮัสซัน ยามอาสา นั่งอยู่ที่ด้านนอกมองไปที่ที่ดิน เขาเข้าร่วมกับคณะกรรมการสาธารณะปาเลสไตน์ (Palestinian Public Committee) กลุ่มชาวบ้านที่จัดการเฝ้ายามกันในช่วงกลางคืน

“เราเริ่มในปี 2012 เพื่อปกป้องประชาชนและทรัพย์สินของพวกเขาจากการโจมตีของผู้ตั้งถิ่นฐาน” ฟูอาด กล่าว

“ตอนที่ชาวบ้านเห็นการเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน ถ้าพวกเขาสังเกตเห็นกิจกรรมใด ๆ พวกเขาจะรายงานมาที่เรา เราคอยจับตามองพื้นที่นั้นทั้งวันทั้งคืน”

ฟูอาด เฝ้ายามที่หมู่บ้านของเขา แต่เขาบอกว่า รู้สึกว่า ไม่สามารถต่อกรกับการโจมตีของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวได้

BBC
ฟูอาด เฝ้ายามที่หมู่บ้านของเขา แต่เขาบอกว่า รู้สึกว่า ไม่สามารถต่อกรกับการโจมตีของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวได้

พลเรือนชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธในพื้นที่นี้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวปาเลสไตน์

ในทางกลับกัน พวกเขาบอกว่า พวกเขาต้องปกป้องตัวเองด้วยการใช้ไฟฉายและโทรศัพท์มือถือแทน เมื่อเกิดเหตุโจมตีขึ้นครั้งหนึ่ง พวกเขามักจะมีจำนวนคนน้อยกว่า

“พระเจ้าคืออาวุธเดียวของเรา” ฟูอาด กล่าว “สิ่งที่เราต้องการคือ การยุติการโจมตีเหล่านี้”

ปีที่แล้ว ฟูอาดได้รับบาดเจ็บขณะพยายามปกป้องเพื่อนบ้านคนหนึ่งของเขา ระหว่างการโจมตีหมู่บ้านของเขา

“มีเพียงพวกเรา 4 คน และพวกเขาเป็นกลุ่มใหญ่ ผมต้องเย็บแผลที่ศีรษะถึง 5 เข็ม”

แต่ฟูอาดยังถือว่าโชคดี ในปี 2014 หนึ่งในชาวบ้านเสียชีวิตระหว่างการโจมตีของผู้ตั้งถิ่นฐาน ฟูอาด กล่าวว่า การมีทหารอิสราเอลอยู่ไม่ได้ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านเลย

“กองทัพอิสราเอลกำลังปกป้องผู้ตั้งถิ่นฐาน ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์” เขากล่าวเพิ่มเติม

โฆษกของกองทัพบกอิสราเอลกล่าวกับบีบีซีว่า ชาวบ้านอย่างอามาลสามารถรายงานการกระทำความรุนแรงและกองทัพอิสราเอลจะดำเนินการต่อไป

แต่เยช ดิน (Yesh Din) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของอิสราเอล ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2005 การสอบสวนทั้งหมดที่ถูกจัดให้เป็น “อาชญากรรมที่มีแรงจูงใจทางอุดมการณ์” ในเขตเวสต์แบงก์นำไปสู่การตัดสินว่า เป็นความผิดเพียง 3% เท่านั้น

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว