ชาว Starseed คือใคร เหตุใดเชื่อว่าตนเองเป็นเอเลียนในร่างมนุษย์

Getty Images

เชื่อหรือไม่ว่าในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เที่ยวประกาศให้ผู้คนนับล้านได้รับรู้ทั่วกันว่า แท้จริงแล้วพวกเขาหรือเธอไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นเอเลียนที่ทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว

คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “สตาร์สีด” (Starseed) หรือ “เมล็ดพันธุ์ของดวงดาว” พวกเขาเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่าตนเองเป็นจิตวิญญาณจากต่างมิติที่มาเกิดในร่างมนุษย์ เพื่อช่วยเยียวยาโลกและนำพามนุษยชาติไปสู่ “ยุคทอง” ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความสุข ความมั่งคั่ง ความสำเร็จในด้านต่าง ๆ และบรรลุถึงขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูง

แม้จะฟังดูเหมือนคำกล่าวอ้างของคนเพี้ยนไม่เต็มบาท แต่หากลองค้นหาคำว่า Starseed ในอินเทอร์เน็ต คุณจะพบผลการค้นหาจำนวนมหาศาลถึงกว่า 4 ล้านรายการ ทั้งยังพบว่ามีผู้โพสต์เรื่องราวและคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องทางโซเชียลมีเดียอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีสถิติการเข้าชมทาง TikTok สูงกว่า 1,000 ล้านครั้ง

ความสนใจอย่างท่วมท้นต่อแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์สตาร์สีด ทำให้บรรดานักจิตวิทยาจากทั่วโลกต้องการจะศึกษาเบื้องหลังและที่มาของความเชื่อดังกล่าวในเชิงลึก โดยสามนักวิชาการจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ดร. เคน ดริงก์วอเทอร์ และดร. นีล แดร็กเนล จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิตัน ร่วมกับดร. แอนดรูว์ เดโนแวน จากมหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟีลด์ ได้เขียนบทความอธิบายถึงความเชื่อนี้ลงในเว็บไซต์ The Conversation เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา

นักจิตวิทยาทั้งสามระบุในบทความของพวกเขาว่า ชาวสตาร์สีดเชื่อว่าตนเองไม่ใช่จิตวิญญาณมนุษย์ที่กลับชาติมาเกิดตามธรรมดา แต่เป็นดวงจิตของเอเลียนจากต่างมิติและต่างดาว ที่เข้ามาอาศัยเกิดในครรภ์ของแม่ชาวโลก เพื่อให้มีร่างกายเป็นมนุษย์ซึ่งจะใช้ในการทำภารกิจกอบกู้โลกได้ดีกว่า

หลังถือกำเนิดในร่างมนุษย์แล้ว จิตวิญญาณที่เป็นเอเลียนทรงภูมิปัญญาของพวกเขาจะค่อย ๆ ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นในภายหลัง เพื่อให้ตระหนักในภารกิจของตนเอง และเริ่มทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อโลกกับอาณาจักรต่างดาวเข้าด้วยกัน

ชาวสตาร์สีดที่ดวงจิตตื่นขึ้นเต็มที่แล้ว จะสามารถใช้พลังสมาธิเดินทางข้ามไปมาระหว่างกาแล็กซีต่าง ๆ ได้ ทั้งยังสามารถสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตทุกประเภทในจักรวาลด้วย “ภาษาแสง” (light language) อันเป็นภาษาสากลของจิตวิญญาณที่ข้ามพ้นข้อจำกัดต่าง ๆ ในการสื่อสารของมนุษย์

รูปเอเลียนชี้นิ้ว

Getty Images

อันที่จริงแล้ว ความเชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์สตาร์สีดมีต้นกำเนิดมาจากนวนิยายของ แบรด สตีเกอร์ (Brad Steiger) นักประพันธ์แนวเรื่องลึกลับและไซไฟ (Sci-Fi) ชาวอเมริกัน โดยนวนิยายที่เขาเขียนขึ้นเมื่อปี 1976 ชื่อว่า Gods of Aquarius หรือ “เทพเจ้าแห่งราศีกุมภ์” ได้กล่าวถึงคนบางจำพวกที่มาจากต่างมิติและมาเกิดเป็นมนุษย์บนโลก

ผู้ศรัทธาอย่างแน่วแน่ในเรื่องนี้บอกว่า มีอยู่หลายวิธีที่ทุกคนจะใช้สังเกตและตรวจสอบตนเองได้ เพื่อให้ทราบว่าเขาหรือเธอเป็นชาวสตาร์สีดหรือไม่ เช่นการมีคุณสมบัติเป็นคนที่ฝักใฝ่ในเรื่องของศาสนาและจิตวิญญาณเป็นพิเศษ, มีเมตตาธรรม, มีความมุ่งมั่นในการแสวงหาความหมายของชีวิต, รวมไปถึงการมีสัมผัสที่หกแรงหรือมีญาณหยั่งรู้ที่ชัดเจน

ใช่ว่าชาวสตาร์สีดจะต้องมีแต่ความเป็นเลิศในทางจิตวิญญาณเท่านั้น พวกเขาก็มีจุดอ่อนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เช่นการมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและมักมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจอยู่เสมอ เนื่องจากดวงจิตของเอเลียนต่างมิตินั้นไม่คุ้นเคยกับร่างมนุษย์ พวกเขายังรู้สึกหงอยเหงาโดดเดี่ยวเหมือนคนพลัดถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งรู้สึกแปลกแยกจากสังคมรอบข้างและโลกใบนี้อีกด้วย

แม้ชาวสตาร์สีดปรารถนาจะทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ แต่เหตุผลข้างต้นบวกกับการที่ต้องเผชิญปัญหาจุกจิกวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในชีวิตของมนุษย์ทุกคน ทำให้พวกเขาต้องปลีกวิเวกเป็นระยะเพื่อ “ชาร์จแบตเตอรี” เติมพลังให้ตนเองด้วยการทำสมาธิ

ชาวสตาร์สีดยังเชื่อว่า พวกเขามีความใฝ่รู้และกระตือรือร้นที่จะสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ รวมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะช่วยให้ตนเองและมนุษยชาติเกิดพุทธิปัญญาหรือความรู้แจ้งต่อความจริงของชีวิตได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้เป็นที่มาของพฤติกรรมยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติตามแนวทางดูแลสุขภาพแบบแปลก ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ชาวสตาร์สีดไม่น้อยยังเชื่อในแนวคิดที่มองว่า เทพเจ้ายุคโบราณนั้นคือเอเลียนทรงภูมิปัญญา ที่เดินทางมาช่วยสร้างอารยธรรมในยุคแรกเริ่มให้กับชาวโลก

แม้จะมีหลักเกณฑ์ที่ช่วยให้คุณพิจารณาได้ว่า ตนเองเป็นชาวสตาร์สีดกับเขาคนหนึ่งด้วยหรือไม่ แต่นักจิตวิทยาผู้เขียนบทความนี้กลับมองว่า คนจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มจะทึกทักว่าตนเป็นเอเลียนในร่างมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย เพราะอิทธิพลของ “ปรากฏการณ์ฟอเรอร์” (Forer effect) ที่คนมักจะเห็นด้วยกับคำอธิบายเกี่ยวกับตนเองในแบบคลุมเครือเสมอ เหมือนกับคำทำนายดวงชะตาแบบกว้าง ๆ ในนิตยสาร ที่ดูเหมือนว่าจะแม่นยำไปเสียทุกครั้ง

อันที่จริงแล้ว ความเชื่อของชาวสตาร์สีดจัดได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของลัทธินิวเอจ (New Age) หรือความเชื่อทางจิตวิญญาณยุคใหม่ที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 โดยความเชื่อทั้งสองแบบมีลักษณะร่วมที่สอดคล้องกันหลายประการ เช่นมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงอยู่ของตัวตนกับจักรวาล และมีความเชื่อในเรื่องการใช้พลังจิตบำบัดรักษาโรค

รูปสมองจักรวาล

Getty Images

ปัจจุบันมีผู้ศรัทธาและให้การสนับสนุนแนวคิดแบบนิวเอจ รวมทั้งเชื่อในเรื่องเผ่าพันธุ์สตาร์สีดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมีความระแวงสงสัยในหลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อถือแนวคิดที่ตัดสินว่าอะไรจริงหรือเท็จจากมุมมองแบบดั้งเดิม ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกลไกทางสังคมสมัยใหม่ ทำให้พวกเขาเกิดความสนใจต่อ “คำอธิบายทางเลือก”และต้องการที่จะค้นหาความจริงด้วยตนเอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนหลงเชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์สตาร์สีดอย่างง่ายดาย นั่นก็คือการเป็นคนชอบวาดวิมานในอากาศและมีจินตนาการสูงจนเกินไป ทำให้บางครั้งเกิดสับสนได้ว่าอะไรคือความเพ้อฝันและอะไรคือความจริงกันแน่

การไม่สามารถแยกแยะภาวะทั้งสองออกจากกันได้นี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “ความผิดพลาดในการติดตามแหล่งที่มา” (source monitoring error) ซึ่งเป็นภาวะที่ความทรงจำในจิตใต้สำนึกทำงานผิดพลาด จนเราไม่อาจจะทราบได้ว่าเรื่องราวในอดีตที่จำเอาไว้ได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่

อาการนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเภท ส่วนงานวิจัยล่าสุดก็พบข้อบ่งชี้ว่า คนที่มีบุคลิกภาพผิดปกติคล้ายโรคจิตเภทอย่างอ่อน (schizotypal personality disorder) มักปลงใจเชื่อถือในทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า “ภาวะสับสนทางภววิทยา” (ontological confusion) ซึ่งทำให้บางคนหลงเชื่อถือแนวคิดแปลกประหลาดของชาวสตาร์สีดได้ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือการเปรียบเปรยและอะไรคือข้อเท็จจริง เช่นหากมีผู้กล่าวว่า “เครื่องเรือนเก่าแก่ล่วงรู้ทุกสิ่งที่ผ่านมาในอดีต” คนที่ไม่สามารถแยกแยะได้ก็จะเชื่อว่าเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์เก่านั้นมีชีวิตจิตใจเหมือนคนจริง ๆ

ความเชื่อในเรื่องเหนือจริงอย่างเผ่าพันธุ์สตาร์สีด ยังอาจได้รับการเสริมแรงให้มั่นคงเหนียวแน่นขึ้นไปอีก หากผู้ที่เผยแพร่ความเชื่อดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเคารพนับถือ กรณีเช่นนี้เรียกขานกันในทางจิตวิทยาว่า “ปรากฏการณ์ไอน์สไตน์” (Einstein effect) ซึ่งการที่สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ตีพิมพ์หนังสือขายดีติดอันดับเกี่ยวกับแนวคิดมนุษย์ต่างดาวช่วยกอบกู้โลกนั้น ยิ่งทำให้สาธารณชนเชื่อฝังหัวในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว