มลพิษทางอากาศ : อากาศเป็นพิษอาจทำอสุจิเพศชายอ่อนแอ มีบุตรยากขึ้น

Getty Images ความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศ กับอสุจิที่ด้อยคุณภาพ เป็นหนึ่งในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังหาข้อพิสูจน์

คุณภาพของสเปิร์มหรืออสุจิเพศชายลดลงทั่วโลกจากผลการสำรวจ แต่กลับมีการพูดถึงสาเหตุเพียงไม่มาก ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังสืบหาว่า เพราะเหตุใดอสุจิชายทั่วโลกถึงด้อยคุณภาพลงเรื่อย ๆ

“เราช่วยคุณได้ ไม่มีปัญหาหรอก เราช่วยคุณได้” แพทย์บอกกับเจนนิเฟอร์ ฮันนิงตัน ก่อนที่แพทย์จะหันไปหาสามีของเธอ เชียรัน แล้วพูดว่า “แต่เราช่วยคุณได้ไม่มากนัก”

คู่รักชาวอังกฤษคู่นี้ อาศัยอยู่ในมณฑลยอร์กเชียร์ พวกเขาพยายามมีลูกมาได้ 2 ปีแล้ว

พวกเขาทราบดีว่า การมีลูกนั้นค่อนข้างยาก เพราะเจนนิเฟอร์มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนร่างกาย ทำให้เกิดซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ ซึ่งอาจเบียดรังไข่จนทำงานผิดปกติ และกระทบต่อการตั้งครรภ์บุตรได้

แต่สิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิด คือ เชียรัน ตัวสามีก็มีปัญหาด้วย เพราะผลการทดสอบพบว่า เขามีปริมาณอสุจิที่น้อยและมีคุณภาพต่ำ เพราะมีการเคลื่อนไหวต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่รักษาได้ยากกว่าเจนนิเฟอร์ หรือเป็นปัญหาที่อาจไร้การบำบัดเลยด้วยซ้ำ

เชียรัน ยังจำปฏิกิริยาของตัวเอง เมื่อได้ฟังคำกล่าวของหมอได้ดี “ตกใจ ทุกข์ใจ แทบไม่อยากเชื่อ ผมคิดว่าหมอต้องวินิจฉัยผิดแน่ ๆ” เขารู้ตัวเองดีว่าอยากเป็นพ่อคน “มันเลยเหมือนผมทำให้ภรรยาผิดหวัง”

หลายปีหลังจากนั้น สุขภาพจิตของเขาย่ำแย่ลง เขาเริ่มใช้เวลาอยู่เพียงลำพัง นอนอยู่แต่บนเตียงมากขึ้น และหันไปหาแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาทุกข์ในใจ จนถึงวันหนึ่งจิตใจเขาก็ถึงจุดเลวร้าย

“ผมถึงจุดวิกฤต… มันเป็นวิกฤตที่ล้ำลึก เป็นสถานที่อันมืดมิด”

ภาวะมีบุตรยากของเพศชาย คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของปัญหาการมีบุตรยากทั้งหมด และเป็นปัญหาที่เพศชายราว 7% ของทั้งโลกต้องเผชิญ แต่กลายเป็นว่า ภาวะมีบุตรยากของผู้ชาย กลับถูกพูดถึงน้อยกว่าของเพศหญิง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคมและวัฒนธรรม

จนถึงวันนี้ ภาวการณ์มีบุตรยากของผู้ชายส่วนใหญ่ ยังหาสาเหตุอธิบายไม่ได้ นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องทุกข์ทรมานต่อไปอย่างเงียบ ๆ

งานวิจัยชี้ว่า ปัญหาลักษณะนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และมีการศึกษาพบว่า ปัจจัยอย่างมลพิษกระทบต่อศักยภาพการมีบุตรของเพศชาย โดยเฉพาะคุณภาพของอสุจิ

วิกฤตมีบุตรยากที่ถูกกลบซ่อน

ประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อ 70 ปีก่อน หรือในช่วงชีวิตหนึ่ง มีประชากรบนโลกอยู่ 2,500 ล้านคน ผ่านมาถึงปี 2022 ประชากรโลกแตะ 8 พันล้านคน เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตของประชากรโลกได้ชะลอตัวลง เป็นผลจากปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นหลัก

ปัจจุบัน อัตราการเกิดทั่วโลกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ โดยประชากรโลกกว่า 50% อาศัยอยู่ในประเทศที่อัตราการเกิดต่ำกว่า 2 คนต่อผู้หญิง 1 คน ส่งผลให้ประชากรในประเทศนั้น ๆ หดตัวลง หากไม่นับผู้อพยพที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัย

อีกเหตุผลสำคัญต่ออัตราการเกิดที่ลดลง เป็นผลมาจากพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงมีอิสระทางการเงิน และควบคุมสุขภาพการเจริญพันธุ์ของตนเองได้มากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ในประเทศที่อัตราการเกิดต่ำ ผลวิจัยพบว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยต้องการมีบุตรมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถทำได้ จากเหตุผลทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ ขาดสวัสดิการสนับสนุนการสร้างครอบครัวที่เพียงพอ เป็นต้น

Getty Image

Getty Images
นักวิจัยพบหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า มลพิษอาจมีส่วนต่อคุณภาพสเปิร์มที่ลดลง และปริมาณอสุจิที่น้อยลง

ขณะเดียวกัน การมีบุตรที่น้อยลงอาจเป็นผลมาจากความสามารถในการมีบุตรที่ลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีงานวิจัยชี้ว่า เพศชายมีปัญหาด้านการมีบุตรเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณอสุจิที่ลดลง ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง ไปจนถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และมะเร็งต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้น

เซลล์ว่ายน้ำ

“สเปิร์มเป็นเซลล์ที่น่าอัศจรรย์” ซาราห์ มาร์ตินส์ ดา ซิลวา ผู้เชี่ยวชาญด้านคลินิก สาขาเวชภัณฑ์การเจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยดันดี และสูตินารีแพทย์ กล่าว

“พวกมันมีขนาดเล็กมาก แต่ว่ายน้ำได้ และมีชีวิตรอดได้นอกร่างกาย ไม่มีเซลล์ไหนทำเช่นนี้ได้ พวกมันเป็นเซลล์เฉพาะทางมาก ๆ”

แต่เซลล์สเปิร์มอันสลับซับซ้อนนี้ ก็สามารถถูกกระทบได้อย่างมาก จากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะผลกระทบต่อศักยภาพการผสมพันธุ์กับไข่ของเพศเมีย

ศักยภาพสำคัญในการผสมพันธุ์ของอสุจิ คือ ทักษะการเคลื่อนไหว รูปลักษณ์ ขนาด (สัณฐานวิทยา) และปริมาณสเปิร์มในน้ำอสุจิ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่แพทย์จะตรวจสอบ เวลาผู้ชายเข้ามาทดสอบสมรรถนะทางเพศ

“ทั่วไปแล้ว เมื่อคุณมีปริมาณสเปิร์มน้อยกว่า 40 ล้านสเปิร์มต่อน้ำอสุจิ นั่นหมายความว่าคุณกำลังมีปัญหาการเจริญพันธุ์” ฮาไก เลวีน ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลม กล่าว

เลวีน อธิบายต่อว่า ปริมาณสเปิร์ม เชื่อมโยงกับโอกาสการมีบุตร แม้ปริมาณสเปิร์มที่มาก จะไม่ได้หมายความว่ามีโอกาสตั้งครรภ์สูงมากขึ้นเสมอไป แต่การมีปริมาณสเปิร์มน้อยกว่า 40 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดน้อยลงอย่างมาก

เมื่อปี 2022 เลวีน และเพื่อนร่วมงานของเขา ร่วมกันตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์โลกว่าด้วยปริมาณสเปิร์มที่แสดงให้เห็นว่า ปริมาณสเปิร์มในเพศชายลดลงเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ระหว่างปี 1973 ถึงปี 2018 หรือจาก 104 ล้านสเปิร์มต่อมิลลิลิตร เหลือ 49 ล้านสเปิร์มต่อมิลลิลิตร โดยนับแต่ปี 2000 อัตราการลดลงนั้นพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 2.6% ต่อปี

เลวีน ชี้ว่า การลดลงของสเปิร์มที่มีอัตราเร่งมากขึ้นนั้น อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมที่นอกเหนือกรรมพันธุ์ อันเป็นผลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ชีวิต

“มันมีสัญญาณว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น” เขากล่าว

แนวคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมที่เหนือกรรมพันธุ์ สามารถถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นได้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่หากพิจารณาหลักฐานแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เสียเลย

“ปริมาณสเปิร์มที่ลดลง สะท้อนถึงสุขภาพที่ย่ำแย่ลงของผู้ชาย หรืออาจพูดรวมถึงมนุษยชาติได้เลย” เลวีน กล่าว “เรากำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข และเราก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้หรือไม่”

งานวิจัยชี้ว่า ภาวะมีบุตรยากของเพศชายอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาด้านสุขภาพในอนาคต แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจถึงจุดเชื่อมโยงที่แน่ชัดก็ตาม โดยหนึ่งในความเป็นไปได้ คือ ปัจจัยด้านการใช้ชีวิตบางประการ อาจส่งผลต่อภาวการณ์มีบุตรยากและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

“ประสบการณ์ที่แม้จะต้องการมีบุตร แต่กลับไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจมาก แต่จริง ๆ แล้ว อาจมีปัญหาที่ใหญ่กว่า” ดา ซิลวา กล่าว

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล อาจไม่เพียงพอจะยับยั้งการปรับลดลงของคุณภาพสเปิร์ม และก็มีหลักฐานที่แน่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า คุณภาพสเปิร์มของเพศชายกำลังถูกบั่นทอนจากภัยคุกคามที่ใหญ่ยิ่งกว่า และเป็นภัยคุกคามในระดับสิ่งแวดล้อม นั่นคือ มลพิษ

โลกแห่งพิษ

รีเบคคา บลังชาร์ด ผู้ช่วยสอนด้านสัตว์แพทย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งนอตติงแฮม กำลังตรวจสอบถึงผลกระทบจากเคมีชีวภาพที่ตรวจพบภายในบ้าน ต่อสุขภาวะทางเพศของเพศชาย โดยเธอใช้สุนัขเป็นต้นแบบ เพื่อสะท้อนถึงสัญญาณเตือนแรกเริ่มที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพมนุษย์

“สุนัขอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับเรา” เธอกล่าว “มันอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับเรา และเผชิญกับการปนเปื้อนทางเคมีเดียวกับเรา ถ้าเราดูสุนัข เราก็จะเห็นสิ่งที่กำลังเกิดกับมนุษย์ด้วย”

งานวิจัยของเธอมุ่งเน้นสารเคมีที่พบในพลาสติก สารหน่วงไฟ และวัตถุในครัวเรือนทั่วไปอื่น ๆ แม้สารเคมีบางตัวจะถูกสั่งห้ามจำหน่าย แต่เธอพบว่า พวกมันยังคงหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม และวัตถุเก่า ๆ

ผลการศึกษาของเธอเปิดเผยให้เห็นว่า สารเคมีเหล่านี้ สามารถส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน และเป็นภัยต่อภาวะเจริญพันธุ์ของทั้งสุนัขและมนุษย์ได้

“เราพบว่า การเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลงทั้งในมนุษย์และสุนัข” บลังชาร์ด กล่าว “เรายังพบการแตกหักของดีเอ็นเอในอสุจิที่เพิ่มขึ้นด้วย”

Getty Image

Getty Images
การทำไอวีเอฟ เป็นความหวังแก้ปัญหามีบุตรยาก แต่มีราคาแพงมาก

การแตกหักของดีเอ็นเอในอสุจิ (DNA Defragmentation) คือ ภาวะที่อสุจิมีดีเอ็นเอแตกหนักหรือเสียหาย ส่งผลให้เซลล์มีการทำงานผิดปกติ ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตหรือรู้สึกได้ด้วยตนเอง หากการแตกหักของดีเอ็นเอในอสุจิเพิ่มขึ้น บลังชาร์ดเชื่อว่า โอกาสที่จะแท้งบุตรในช่วงแรกเริ่มก็เพิ่มขึ้นด้วย

ผลการศึกษานี้ สอดคล้องกับงานวิจัยอื่น ๆ ที่สะท้อนว่า สารเคมีที่พบในพลาสติก เวชภัณฑ์ประจำบ้าน ในห่วงโซ่อาหาร และในอากาศ ส่งผลกระทบต่อภาวะการมีบุตรได้ โดยไม่เพียงกระทบต่อทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่ยังกระทบไปถึงทารกด้วย เพราะมีการตรวจพบคาร์บอนสีดำ กลุ่มสารเคมีตลอดกาล และสารทาเลท (ที่ใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม) ในทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา

ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยังส่งผลด้านลบต่อภาวการณ์มีบุตรของเพศชาย หลังผลการศึกษาในสัตว์หลายชนิดบ่งชี้ว่า สเปิร์มมีความสุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คลื่นความร้อนสร้างความเสียหายต่อสเปิร์มในแมลงได้ ผลกระทบคล้ายกันนี้จะพบเห็นได้ในมนุษย์อีกด้วย

ผลการศึกษาในปี 2022 พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน หรือการทำงานในสภาพแวดล้อมที่อบอ้าว มีผลด้านลบต่อคุณภาพของสเปิร์ม

ย้อนกลับไปที่นายเชียรัส ฮันนิงตัน ความทุกข์ทรมานของเรา ไม่ใช่ว่าจะไร้ทางออก

หลังการบำบัดนาน 5 ปี และการทำฉีด “อิ๊กซี่” ซึ่งเป็นการทำ ไอวีเอฟ ด้วยการช่วยปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ 3 รอบ เขาและภรรยาก็ได้มีลูกด้วยกันสองคน แต่การเสริมศักยภาพการมีบุตรด้วยวิธีนี้ มีค่าใช้จ่ายสูง หากอยู่ในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ การทำไอวีเอฟ 1 รอบ อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียว

“ผมขอบคุณลูก ๆ ของผมทุกวัน แต่คุณจะไม่มีวันลืมความทุกข์ทรมานมัน” เขากล่าว “มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผมตลอดไป”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว