เศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกครหาว่า “ทำให้เพื่อไทยมีทางเดินแคบลง”

Reuters

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก 2 พรรคการเมืองกำลังเปิด “วิวาทะ” กันอย่างหนักผ่านสื่อ หลังแคนดิเดตฯ ลำดับ 2 จากพรรคเพื่อไทย (พท.) พาดพิงพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

75 วันนับจากเปิดตัวในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เมื่อ 1 มี.ค. ถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. ได้รับทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนอิฐ”

ประสบการณ์บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 30 ปี และภาพลักษณ์ “ซีอีโอสายคอลเอาต์” ผู้สนใจเหตุบ้านการเมือง และมักแสดงทัศนะผ่านบัญชีทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตการเมืองในระหว่างการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนปี 2563-2564 ทำให้ทั้งนักการเมืองคู่แข่ง ชนชั้นกลาง และสื่อมวลชนต่างสนใจใคร่รับฟังวิสัยทัศน์-วิธีคิดของชายวัย 66 ปีผู้นี้

ในวันที่เศรษฐาสวมเสื้อเพื่อไทย-เข้าไปเป็น “น้องใหม่” ของพรรคสีแดง เป็นช่วงที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีอายุครรภ์ 7 เดือนแล้ว คล้ายเป็นเงื่อนไขบังคับให้ “อดีตนักธุรกิจหมื่นล้าน” ผู้มีอายุงานการเมืองไม่กี่วัน ต้องรับไม้ต่อภารกิจลงพื้นที่-ขึ้นเวทีปราศรัยไปโดยปริยาย

แกนนำฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค พท. คาดหวังว่า ภาพลักษณ์ “นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ” ของเศรษฐา จะช่วยขยายคะแนนนิยมให้พรรคได้จากคนเมือง คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางระดับบน ควบคู่ไปการเก็บกวาดคะแนนคนต่างจังหวัดและแฟนคลับ ทักษิณ ชินวัตร โดย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ในฐานะ “ดีเอ็นเอทักษิณ” ทั้งหมดนี้เพื่อพา พท. ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สสไลด์”

Advertisment

ลงพื้นที่

การกระโจนเข้าสู่การเมืองของผู้นำภาคธุรกิจ ทำให้เศรษฐาต้องถอดสูท แล้วมาสวมเสื้อยืด-เสื้อแจ็กเก็ตของพรรค นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้องปรับตัวไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องออกนอกเมืองหลวง ไปพบปะกับผู้คนในต่างจังหวัด

ทีมยุทธศาสตร์พรรคจึงจัดให้เศรษฐาพบ-เจอคนที่ “พูดภาษาเดียวกัน” ก่อนเป็นกลุ่มแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้า นักธุรกิจ สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ โดยมีนักเลือกตั้งอาชีพคอยประกบ เพื่อแนะนำเศรษฐาให้ชาวบ้านรู้จัก และให้ข้อมูล/ปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ก่อนขยายไปพบปะประชาชนชาวรากหญ้า

แพทองธาร-เศรษฐา เดินสายหาเสียงพร้อมกันที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร เมื่อ 11-12 มี.ค.

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย
แพทองธาร-เศรษฐา เดินสายหาเสียงพร้อมกันที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร เมื่อ 11-12 มี.ค.

ขึ้นปราศรัย

การขึ้นเวทีปราศรัย ช่วงแรก ๆ ยังเป็นการ “ควงคู่” ของ 2 ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี พท. ก่อนปล่อยให้เศรษฐา “ฉายเดี่ยว” ร่วมกับทีมปราศรัยหลักของพรรคเมื่ออุ๊งอิ๊งท้องแก่ และต้องปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์แทน โดยมี โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งของพรรค ร่วมพบปะประชาชน-นั่งให้กำลังใจบนเวทีด้วย

Advertisment

เนื้อหาคำปราศรัยของเศรษฐาในแต่ละเวที ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. ชี้ให้เห็นปัญหา 8 ปี “รัฐบาลเผด็จการ” โดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง
  2. เล่าความสำเร็จที่รัฐบาลเพื่อไทยและพรรคบรรพบุรุษเคยทำมาในรอบ 2 ทศวรรษ
  3. นำเสนอนโยบายหาเสียงของ พท. และชี้ให้เห็นโอกาสของประชาชน/ประเทศ หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
  4. ตอกย้ำ “คำสำคัญ” ตามแคมเปญหาเสียง อาทิ “เข้าคูหากาเพื่อไทยทั้ง 2 เบอร์ ทั้งคน ทั้งพรรค” และ “อย่าปันใจให้คนอื่น”

ทว่าสิ่งที่เศรษฐาต่างจากแพทองธารคือ เขามัก “พาดพิง” และ “ทิ้งหางเสียงการเมือง” ถึงพรรคคู่แข่งขัน โดย 2 ครั้งสำคัญที่กลายเป็นประเด็นเขย่าพรรคอื่น หนีไม่พ้น การประกาศว่า พท. จะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บุคคลระดับนำของพรรคพูดจุดยืนชัดเจนเช่นนี้ และระบุว่าเลือกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

“เราไม่ต้องการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขอให้พี่น้องชาวเลยร่วมเป็นสักขีพยานว่าเราไม่ร่วมกับ 2 พรรคนี้” เศรษฐาปราศรัยที่ จ.เลย เมื่อ 21 เม.ย.

“ภูมิใจไทย เขาไม่ได้แค่ร่วมรัฐบาลแล้วไม่เห็นหัวพี่น้องประชาชน เขายังเป็นพรรคที่เสนอกัญชาเสรีมามอมเมาลูกหลาน พี่น้องประชาชนรับได้ไหมครับ รับไม่ได้ ถ้าเขาบอกว่า ส.ส. เขตให้เลือกภูมิใจไทย ส.ส. พรรคให้เลือกเพื่อไทย ไม่ได้นะครับ ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้น ประยุทธ์จะกลับมาเอง เราไม่ยอม” เศรษฐาปราศรัยที่ จ.นครพนม เมื่อ 1 พ.ค.

เศรษฐา

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

พลันที่คำปราศรัยเผยแพร่ออกไป อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. โพสต์เฟซบุ๊ก “จาก หนู ถึง พี่นิด” มีเนื้อหา 7 ข้อ โดยไล่เรียงว่า เศรษฐา “เปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่เข้ามาสู่การเมือง” พร้อมปฏิเสธเรื่องการสนับสนุน “กัญชาเสรี” และการเลือก ภท. ได้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ “เป็นการให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน ผิดกฎหมายเลือกตั้ง”

“พี่นิดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน ทำให้พรรคเพื่อไทยมีทางเดินแคบลงทุกวัน สร้างเงื่อนไข ไม่จับมือพรรคนั้น พรรคนี้ ดูถูกดูแคลนนักการเมืองทั่วไป ไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ ทั้ง ๆ ที่พี่นิดเป็นคนหน้าใหม่ที่สุด ในเวทีการเมือง และ เป็นคนไม่มีประสบการณ์ในการเมือง” อนุทินระบุผ่านเฟซบุ๊ก

ด้านเศรษฐาก็ชี้แจงกลับผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของเขา ยืนยันไม่ขัดแย้งกับใคร แต่ “ผมพร้อมที่จะขัดแย้ง ที่อาจทำให้ทางเดินทางการเมือง ‘แคบลง’ เพื่อ ‘เปิดกว้าง’ อนาคตให้กับลูกหลาน มากกว่าที่จะเกรงใจคนนั้นคนนี้เพื่อ ‘เปิดกว้าง’ ทางการเมืองแต่ทำให้ทางออกอนาคตของลูกหลานพวกเรา ‘แคบลง’” เศรษฐาระบุผ่านเฟซบุ๊ก

ขายนโยบาย

หลังผ่านการพบปะมวลชนหลายพื้นที่-ขึ้นเวทีมาก็ไม่น้อย ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยหวนกลับมาสื่อสารบนเวทีใหญ่ ในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 400 เขตของ พท. และแถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมล็อตใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 17 มี.ค.

เศรษฐาคือผู้ประกาศนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” โดยนำเทคโนโลยีการเงินมาใช้เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในชุมชนไม่เกิน 4 กม. นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และทำให้ พท. ยึดพื้นที่สื่อ-ยึดหัวข้อสนทนาบนเวทีประชันวิสัยทัศน์ (ดีเบต) ของพรรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. พท. ปล่อยคลิป “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” (สีเขียว สีส้ม) โดยมีเศรษฐาเป็น “คนเดินเรื่อง” อธิบายนโยบายนี้ผ่านวิดีโอความยาว 2.52 นาที โดยระบุว่า “หมดเวลาการเดินทางยากลำบาก เพราะคมนาคมทั้งประเทศจะเปลี่ยนไป เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล”

แกนนำ พท. ระบุว่า การเน้นย้ำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำไปเป็นเพื่อดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. ชาวกรุงเทพฯ ราว 4.4 ล้านคน เพราะ กทม. เป็นพื้นที่เฉพาะที่คนเปลี่ยนการตัดสินใจได้ตามกระแส แม้โหวตเตอร์ที่ยังไม่ตัดสินใจน่าจะเหลือเพียง 5-10% เท่านั้น

พท. ตั้งเป้าหมายเก็บที่นั่งในสนาม กทม. อย่างน้อย 20 เขต จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้ง 2562 พท. มี ส.ส.กทม. 9 เขต

เก้าอี้นายกฯ

แม้เข้ามาชิมลางการเมืองได้ไม่นาน แต่เศรษฐาเสนอตัวเป็น “นายกฯ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง”

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อ 3 มี.ค. ซึ่งขณะนั้น พท. ยังไม่ได้ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการ เศรษฐายืนยันว่า “จะรับตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น และไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง หากไม่ได้เป็นนายกฯ” และขยายความว่า “ตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจ สามารถทำได้จริง”

แม้แต่เก้าอี้รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ คนการเมืองหน้าใหม่ก็บอกว่า “ไม่เอาครับ”

บีบีซีไทยสอบถามแกนนำ พท. หลายคนว่าหาก พท. ชนะเลือกตั้ง ใครคือนายกฯ ตัวจริงที่พรรคจะเสนอให้สภาฯ พิจารณา

ถึงนาทีนี้ ไม่มีใครกล้าฟันธง ทว่าหนึ่งในเสียงที่ดูประเมินสถานการณ์แบบสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองของ พท. คือ “ถ้าอุ๊งอิ๊งจะเป็น ต้องได้เป็น และถ้าจะไม่เป็น ต้องมีเหตุผลและคำอธิบาย”

วานนี้ (1 พ.ค.) แพทองธารเพิ่งคลอดบุตรคนที่ 2 และคาดว่าใช้เวลาพักฟื้นไม่เกินสัปดาห์ เธอจะกลับมาช่วยพรรครณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ในช่วงโค้งสุดท้าย และปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยปิดของ พท. ที่อิมแพค เมืองทองธานี 12 พ.ค. นี้

line

BBC

เส้นทางการเมือง-ประสบการณ์ “ครั้งแรก” ของ เศรษฐา ทวีสิน

  • 18 พ.ย. 2565 เศรษฐาประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขาว่า “ผมอยู่เพื่อไทยครับ” หลังผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งแสดงความคิดต่อข้อความที่เขาทวีตก่อนหน้าเกี่ยวกับผู้นำประเทศ โดยบอกว่า “ถ้าท่านมาอยู่เพื่อไทย ผมเลือกเพื่อไทยครับ”
  • 21 ม.ค. 2566 เศรษฐาปรากฏตัวคู่กับแพทองธารเป็นครั้งแรกที่ย่านเยาวราช กทม. เพื่อพบปะประชาชนและรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ
  • 1 มี.ค. 2566 พท. เปิดตัวเศรษฐาในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยเขาได้เดินทางเข้าที่ทำการพรรค ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แบบแจ้งวาระงานให้สื่อมวลชนรู้เป็นครั้งแรก และเริ่มต้น “นับหนึ่ง” ในบทบาทการเมือง แม้เจ้าตัวเปิดเผยว่าได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคหลายเดือนแล้ว และ “มีส่วนร่วมให้คำปรึกษา คุยกับสมาชิกและผู้ใหญ่ในพรรคหลาย ๆ คนมาตลอด”
  • 3 มี.ค. 2566 เศรษฐาระบุว่า “จะรับตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น และไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง หากไม่ได้เป็นนายกฯ”
  • 8 มี.ค. 2566 เศรษฐาลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ส.กทม. หาเสียงเป็นครั้งแรก ที่มูลนิธิดวงประทีป ชุมชน 70 ไร่คลองเตย
  • 9 มี.ค. 2566 เศรษฐาแจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้ยื่นหนังสือ “ลางานชั่วคราวโดยไม่ขอรับค่าตอบแทน” จากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เมื่อ 8 มี.ค. เพื่อมุ่งหน้าทำงานการเมืองอย่างเต็มที่
  • 10 มี.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า เศรษฐา กรรมการ (กรรมการ/กรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการบริหาร) บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI ได้โอนหุ้นทั้งหมดจำนวน 661,002,734 หุ้น หรือคิดเป็น 4.44% ของทุนจดทะเบียน ให้แก่ ชนัญดา ทวีสิน บุตรสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อ 8 มี.ค. โดยระบุว่าเป็นการโอน “โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน”
เศรษฐา

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย
เศรษฐาคือผู้ประกาศนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 มี.ค.
  • 10 มี.ค. 2566 เศรษฐาออกหาเสียงในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้รับฟังปัญหาจากเกษตรกร และล้อมวงรับประทานอาหารกลางวันกับชาวนา
  • 11 มี.ค. 2566 เศรษฐาขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร โดยมี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ร่วมด้วย ทั้งนี้เขาระบุว่าเหตุที่ต้องก้าวออกจากวงการธุรกิจแล้วมาทำงานเพื่อบ้านเมือง เพราะ “อยากเห็นประเทศชาติมีอนาคต มีแสงสว่างที่ดี นำพาลูกหลานไปสู่อนาคตที่สดใส”
  • 17 มี.ค. พท. จัดงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต และแถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมล็อตใหม่ ที่ยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งนี้เศรษฐาเป็นผู้ประกาศนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา
  • 5 เม.ย. 2566 พท. ยื่นบัญชีบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 รายชื่อ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ลำดับที่ 1, เศรษฐา ลำดับที่ 2 และ ชัยเกษม นิติสิริ ลำดับที่ 3 ก่อนที่เย็นวันเดียวกัน จะจัดงานเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกฯ ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว