ฝีดาษลิง : ไทยพบรายแรกแล้ว โรคนี้มีอาการอย่างไร ติดต่อทางไหนได้บ้าง

 

แขนและขาของเด็กหญิงวัย 4 ขวบที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในไลบีเรีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อ 21 ก.ค. ว่า ได้รับรายงานการพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของไทยที่จังหวัดภูเก็ต แล้ว ยอมรับว่า มีโอกาสพบเพราะทุกประเทศก็ระบาดอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องพยายามหามาตรการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด หายารักษาและดูแลผู้ป่วย ซึ่งโรคอุบัติใหม่ก็พร้อมจะเกิดหากมีการสัญจรไปมาต้องมีมาตรการที่แก้ไขปัญหา

ด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขขอประชาชนอย่างตื่นตระหนก

เอกสารข่าวของกรมควบคุมโรค เมื่อ 21 ก.ค. อ้างถ้อยแถลงของ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่ 18 ก.ค. พบว่า เป็นเพศชาย อายุ 27 ปี สัญชาติไนจีเรีย มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค

เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค. และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่าย 21 ก.ค. ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบหมายเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการติดตามและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มข้น

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโรค (WHO) ไม่ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตามที่ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ อย่าตื่นตระหนก และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษลิง ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

กรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่ 21 พ.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเคยคัดกรองและส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 19 รายซึ่งผลตรวจพบว่าไม่เป็นฝีดาษวานร

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยฝีดาษลิง ที่คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ยังมีการตรวจคัดกรองและรายงานโรคตามนิยามผู้ป่วยสงสัยทุกราย โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งแพร่โรคได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองจากผู้ป่วย จึงขอให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการสงสัยโรคฝีดาษวานร เช่น ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

พบผู้ติดเชื้อหลายร้อยรายในประเทศที่ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2022 ว่า ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมานับจากวันที่ 13 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้วหลายร้อยราย ในประเทศที่ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น

โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอังกฤษราว 300 ราย รองลงมาเป็นสเปน 156 ราย โปรตุเกส 138 ราย แคนาดา 58 ราย และเยอรมนี 57 ราย นอกไปจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือแล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเป็นเลขตัวเดียว ในอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย โมร็อกโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ดี การพบผู้ติดเชื้อแม้เพียง 1 รายในประเทศที่โรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ก็ถือได้ว่าเกิดการระบาดขึ้นแล้ว

WHO ระบุว่านับเป็นครั้งแรกที่พบผู้ติดเชื้อหลายรายและเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันในหลายประเทศ และตัวเลขดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีรายงานในบางประเทศว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้ติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีกรณีที่หลุดรอดการตรวจพบก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี WHO ยังยืนยันว่าฝีดาษลิงยังเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็เตือนด้วยว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้หากพบว่ามีการระบาดในประเทศอื่น ๆ นอกเหนือทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ปกติจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อ

จนถึง 21 ก.ค. รอยเตอร์รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อนี้แล้วใน 65 ประเทศ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกว่า 15,100 คน ในทุกทวีปหลักของโลก โดยในเอเชีย แปซิฟิก พบแล้วใน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดีย

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

WHO ระบุด้วยว่ากรณีที่พบส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่พบจากการตรวจในสถานบริการเกี่ยวกับโรติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และสถานบริการทางสุขภาพอื่น ๆ และส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อยังมีอาการไม่เหมือนฝีดาษลิงทั่วไป โดยบางรายมีตุ่มหนองก่อนมีไข้ และมีแผลเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน

ขณะนี้ยังไม่พบการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับโรคฝีดาษลิงในประเทศที่โรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่น แต่พบผู้เสียชีวิตในประเทศที่ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น

สำหรับประเทศที่ฝีดาษลิงถือเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน กาบอง ไอวอรีโคสต์ กานา (พบเฉพาะในสัตว์)

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 พบผู้เสียชีวิต 66 คน ในแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน และกาบอง

ผู้หญิงถือสัตว์ป่า

ที่มาของภาพ, AFP

ไนจีเรียห้ามซื้อขาย “เนื้อสัตว์ป่า’

รัฐบาลไนจีเรียห้ามประชาชนซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม 6 รายในเดือน พ.ค.

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะติดเชื้อไวรัสดังดล่าวจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่ แต่นี่ไม่ใช่การติดเชื้อที่พบได้ทั่วไป

สำหรับเนื้อสัตว์ป่าที่ถูกสั่งห้ามในครั้งนี้หมายถึงสัตว์ป่าใด ๆ ก็ตามที่ถูกฆ่าเพื่อการบริโภค ซึ่งรวมไปถึงละมั่ง ลิงชิมแปนซี ค้างคาวผลไม้ หนู เม่น และงู

ไนจีเรียมีตลาดเนื้อสัตว์ป่ามากมาย ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีวิธีสั่งห้ามการซื้อขายสินค้าเหล่านี้อย่างไร

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไนจีเรียยังมีคำสั่งให้ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยสอดส่องดูแลสัตว์ที่อาจติดเชื้อโรคฝีดาษลิงด้วย

ขณะที่เจ้าหน้าประจำสวนสัตว์ พื้นที่อนุรักษ์ และศูนย์ดูแลต่างๆ ได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังไม่ให้มีการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์และคน

โรคฝีดาษลิงนับเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นของไนจีเรียและเป็นการติดเชื้อไวรัสแบบไม่รุนแรง การติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในแถบป่าฝนเขตร้อน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ในปี 2017 ไนจีเรียพบการติดเชื้อบ้างประปราย โดยมักพบในทางตอนใต้ของประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา การติดเชื้อกระจายมายังบริเวณตอนกลาง ตะวันออก และตอนเหนือของประเทศ

จากรายงานผู้ติดเชื้อในไนจีเรียทั้งหมด 21 รายในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย แต่ผู้เสียชีวิตมีภาวะอื่นร่วมอยู่ด้วย

ฝีดาษลิงพบมากแค่ไหน

โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ

ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น

โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

ฝ่ามือสองข้างที่มีรอยโรคฝีดาษลิง

ที่มาของภาพ, Reuters

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วมีผู้ที่เดินทางมาจากไนจีเรีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยมีความรุนแรง

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency—UKHSA) ระบุว่า ใครที่กังวลว่า อาจจะติดเชื้อ ควรเข้าพบเจ้าหน้าที่การแพทย์ แต่ควรมีการติดต่อไปยังสถานพยาบาลก่อนที่จะเดินทางไป

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทยระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน

อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา

เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา

อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร

ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน

ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า

อนุภาคเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง

ที่มาของภาพ, Science Photo Library

อันตรายแค่ไหน

ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก

โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10%

การระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

มีการพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ และนับตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา

ในปี 2003 เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพบโรคนี้นอกแอฟริกา คนไข้หลายคนติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์คล้ายหนู ที่ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ในปี 2017 ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี

รักษาอย่างไร

ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ

การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง

ประชาชนควรกังวลหรือไม่

จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England–PHE) ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าใกล้จุดที่จะเกิดการระบาดทั่วประเทศ ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่ำ

ศาสตราจารย์โจนาธาน บอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) กล่าวว่า “ความจริงที่ว่า มีเพียง 1 ใน 50 ของคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงระยะแรกเท่านั้นที่ติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่า เชื้อนี้มีการแพร่กระจายน้อย”

“เป็นเรื่องผิดที่คิดว่า เรากำลังใกล้จะเกิดการระบาดทั่วประเทศ”

ดร.นิก ฟิน รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Infection Service) ที่ PHE กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำว่า ฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน และความเสี่ยงโดยรวมต่อประชาชนทั่วไปก็ต่ำมาก

สำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติกำลังติดตามอาการของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ เพื่อให้คำแนะนำและสังเกตอาการของพวกเขาตามความจำเป็น

คำเตือนสำหรับคนไทยผู้เดินทางไปประเทศเสี่ยง

กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม
บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 5903839 หรือ 1422

…………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว