เทรนด์สินเชื่อรายใหญ่สดใส แบงก์งัดกลยุทธ์-ไอทีจับลูกค้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดปี’61 สินเชื่อรายใหญ่โต 5.5% หลังซบเซามาหลายปี ชี้โตแซงหน้าทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อทั้งระบบ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรายใหญ่โต 6-8% ตามการลงทุนรัฐ-การฟื้นตัวเศรษฐกิจปีนี้ ฟากแบงก์กรุงศรีฯชูกลยุทธ์ขายโปรดักต์ทางเลือกมากขึ้น หวังดูดรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจรายใหญ่

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2561 นี้คาดว่าตลาดสินเชื่อรายใหญ่ (ยอดขาย 1,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป) จะเติบโต 5.5% จากปีก่อน โดยจะเป็นปีแรกที่เติบโตเหนือกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีที่คาดขยายตัว 4% และสินเชื่อรวมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ที่คาดเติบโต 2.2% หลังจากตั้งแต่ปี 2557-2559 สินเชื่อรายใหญ่หดตัวมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2560 เริ่มกลับมาโตที่ 2-3%

“ปี 2560 เริ่มกลับมาโต แต่ยังไม่มากนัก เป็นผลจากหลายปีที่ผ่านมารายใหญ่หันไประดมทุนผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น ออกหุ้นกู้ กู้เงินจากต่างประเทศ เป็นต้น แต่ปีนี้การระดมทุนน่าจะกลับเข้ามาในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สินเชื่อน่าจะกลับมาโตดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา” นายนริศกล่าว

โดยอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี อาทิ การค้าพาณิชย์ ภาคการบริการ ภาคการผลิต การก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมยังน่ากังวลคืออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากยังมีซัพพลายในตลาดเหลืออีกมาก

นายนริศกล่าวอีกว่า ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.7% ถือว่าต่ำกว่าเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีที่อยู่ 4.37% รวมถึงยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 2.97% ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลของปีนี้ คาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 2.6% หรือมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 396,000 ล้านบาท โดยเป็นเอ็นพีแอลกลุ่มรายใหญ่สัดส่วน 1.3% มูลค่าราว 70,000 ล้านบาท, กลุ่มเอสเอ็มอีสัดส่วน 4.1% หรือมูลค่า 212,000 ล้านบาท และรายย่อยสัดส่วน 2.6% หรือ 113,000 ล้านบาท

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มียอดขาย 400 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป หรือเติบโตราว 6-8% จาก ณ สิ้นปี 2560 มียอดสินเชื่อรวม 573,521 ล้านบาท โดยการเติบโตจะเป็นไปตามการลงทุนของภาครัฐและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมเด่นปีนี้จะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งธนาคารจะเข้าไปให้บริการการเงินในเครือข่ายธุรกิจ หรือคู่ค้าของลูกค้า

นายสุวัฒน์กล่าวด้วยว่า ภายในสิ้นปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารคาดว่าจะเติบโตได้ 2-5% จาก ณ สิ้นปี 2560 มีรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 12,153 ล้านบาท โดยจะมาจากการแนะนำการลงทุนแก่ธุรกิจรายใหญ่ในหลายรูปแบบ เช่น การควบรวมกิจการ เป็นต้น รวมถึงเสนอผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าผ่านการใช้เทคโนโลยี อาทิ การใช้บล็อกเชนในการออกหนังสือค้ำประกัน เป็นต้น

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจ ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อรายใหญ่ (ยอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป) จะมียอดสินเชื่อคงค้างเติบโต 6-8% จากปี 2560 ที่ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 416,000 ล้านบาท โดยปีนี้ธนาคารจะใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์ขยายผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น ๆ (cross sale) เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริการเรื่องคำปรึกษา การเชื่อมโยงพันธมิตรให้ลูกค้า การบริหารจัดการเงินสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม