
ประยุทธ์ เผย เตรียมส่งรายละเอียดของบกลางฉุกเฉิน 11,112 ล้านบาท ช่วยค่าไฟแพงอีกรอบ หลัง กกต. ตีกลับ สำนักงบติงขอเงินเท่าที่จำเป็น
วันที่ 29 เมษายน 2566 ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อหาเสียงและขึ้นเวทีปราศรัยในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีกลับกรณีรัฐบาลขอให้พิจารณาการใช้งบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 11,112 ล้านบาท ในการช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. รวม 4 เดือน ว่า เดี๋ยวก็ทำไปใหม่ จะต้องมีรายละเอียด ว่าต้องใช้คำพูดอะไร ส่งไปให้กกต. ส่วนจะส่งได้เมื่อใด วันอังคารนี้ (2 พ.ค.) เดี๋ยวเขาก็ตอบมา
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 ตุลาคม ย้อนหลัง 10 ปี
- กรมอุตุฯ เปิดชื่อพายุลูกใหม่ โซนร้อน “โคอินุ” (KOINU) พายุลูกที่ 14
- กรมอุตุฯ จับตาพายุหมุนเขตร้อน มีหย่อมความกดอากาศก่อตัวใหม่อีก 1 ลูก
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเอกสารที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ของกระทรวงพลังงานเสนอต่อกกต. ขออนุมัติงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น วงเงิน 11,112 ล้านบาท ได้รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566
ด้วยในช่วงฤดูร้อนของทุกปีเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงและความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยในปี 2566 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ กระทรวงพลังงานจึงรายงานสถานการณ์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยหลายภูมิภาคทั่วประเทศไทยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดซึ่งทำลายสถิติติดต่อกันหลายวัน โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 14.56 น.เกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้าที่ 33,384.7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าในอัตราสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 6
แม้ว่าสถานการณ์ราคาพลังงานโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากช่วงปี 2565 แต่ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมยังคงสูงอยู่
“จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำให้ประชาชน ได้รับผลกระทบในเรื่องค่าไฟฟ้า ตามข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ในปัจจุบันแตกต่างกับสถานการณ์ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ไม่ได้มีการยุบสภาอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่กำหนดให้ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้”
1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากกกต.ก่อน
3.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่กกต.กำหนด
“จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้การอนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนไม่สามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากกกต.ก่อน”เอกสารมติครม.ระบุ
ขณะที่สำนักงบประมาณได้ตอบความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ไปว่า “เห็นสมควรที่กระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกับสถานการณ์ ตามแนวปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าที่ครม.เห็นชอบประกอบด้วย 2 มาตรการ
1.ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันไดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่าผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท
2.มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว(ล) 10900 ลงวันที่ 27 เมษายน 2566 เรื่อง รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อน 2566 ส่งไปถึงเลขาธิการกกต.
โดยมีการระบุว่า ภาระต้นทุนคงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่ กฟผ.ได้ช่วยสนับสนุนการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) มาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องทยอยจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างดังกล่าวให้กับ กฟผ. เพื่อรักษาฐานะทางการเงินของ กฟผ.ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ในขณะที่สัดส่วนของค่าความพร้อมจ่ายในอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติอยู่ที่ประมาณ 10 สตางค์เท่านั้น