เฉลิมชัย บีไฮด์ประชาธิปัตย์ “ผมไม่ใช่เจ้าพ่อ ไม่เคยชี้นิ้ว จิกหัวสั่งการ”

8-1 เฉลิมชัย ศรีอ่อน
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปี เมื่อผู้คุมทีมเลือกตั้งยอมรับว่า fail กับผลแพ้การเลือกตั้ง เหลือเสียงมหาชนไม่ถึง 1 ล้านเสียง ได้ ส.ส.เข้าสภาเพียง 25 คน หลังจากวันที่ 9 กรกฏาคม 2566 จะมีทั้งคนเดินทางต่อ และยุติบทบาท 

ก่อนการโหวตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9  ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 พรรคประชาธิปัตย์ จำเป็นต้องสรุปบทเรียน และแผนการต่อสู้ครั้งใหม่ ในเกมการเมือง ช็อตต่อจากนี้

คนการเมืองที่ให้คำตอบได้ดี ต้องเป็นบิ๊กเพลเยอร์ หรือขาใหญ่วงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

เป็นใครไม่ได้นอกจาก คีย์แมนระดับเลขาธิการพรรค “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ผู้ครอบคลุมเกาะกุมจิตใจ ส.ส. สัดส่วน 70% ที่จะกำหนดอนาคตหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ เฉลิมชัย ในบ้านชานเมืองของเขา ที่แปะป้ายไว้หน้าบ้านว่า “บ้านนี้ไม่สนทนาเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย” ทั้งเรื่องความเสียหาย-จุดพลาด และโอกาสทางการเมืองครั้งใหม่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้มีเรื่องอะไรบ้าง

อย่าหลอกตัวเอง วันนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่ยอมรับความจริงและไม่พิจารณาตัวเองกันทุกคน

ผมเชื่อว่าหลายคนวันนี้ยังหลอกตัวเองอยู่ถึงแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วคนที่กล้าจะพูดความจริงและยอมรับความจริงก็จะโดนต่อต้าน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นอย่ามาพูดว่ารักพรรค ไม่รักพรรค ที่อยู่ตรงนี้รักพรรคทุกคน แต่จะรักแบบเห็นแก่ตัว หรือรักจากหัวใจ จากความรู้สึก หรือรักเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ ต้องเอาตรงนี้มาคุยกัน วันนี้เลิกใส่หน้ากากเข้าหากันได้แล้ว ถ้าอยากให้พรรคเดินไปข้างหน้า

พรรคต้องพิจารณาตัวเองเรื่องอะไรบ้าง

ทุกเรื่อง หนึ่ง ในเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ หมายความว่าวันนี้เราต้องย้อนทบทวนตัวเองทั้งหมด ทุกอย่างไม่มีอะไรผิดพลาดร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ไม่ใช่คืออะไร เราต้องมาปรับปรุง ปรับตัวให้คนรุ่นใหม่สัมผัสกับเราได้

หลายเรื่องที่ผมคิดว่าผู้บริหารต้องมาทำ เช่น โครงสร้างพรรค องค์กรพรรคการเมือง ความมีเอกภาพจะเป็นพลังสูงสุด ผมพูดทุกครั้ง ปัญหาการบริหารงานอยู่ที่ความมีเอกภาพ ผมกำลังจะวางมือทางการเมืองแล้ว เพิ่งมีคนเข้าใจความมีเอกภาพ ถือช้า ก็ยังดี ดีกว่าไม่เข้าหู หรือเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ความมีเอกภาพไม่ใช่ทุกคนออกมาเรียกร้อง แต่ทุกคนต้องออกมาปฏิบัติ

เรื่องใหญ่ที่ทำให้ถือว่าแพ้มากที่สุดในรอบ 16 ปี คืออะไร

พูดตรง ๆ คือ ผู้นำของพรรคไม่ชัดเจน แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนความมีเอกภาพก่อน

คนในประชาธิปัตย์ช็อค แค่ไหนในการแพ้ครั้งนี้

ผมไม่คาดว่าผลจะเป็นแบบนี้ แต่ผมมีสติพอที่จะรู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่ได้ฟูมฟาย รับความจริงตั้งแต่วันแรก ไม่ได้ช็อค แต่ความรู้สึก fail แต่เราเป็นผู้บริหารต้องรับผิดชอบองค์กร เราต้องดึงสติมาให้ไวสุด

อะไรที่ทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพในพรรคประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ ทำให้มีคนอยู่เยอะ ทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่ามาก การจะหลอมให้มาเป็นความรู้สึกเดียวกันทันที บางครั้งก็ยังรับไม่ได้ ยังปรับไม่ได้

ขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารพรรคชุดใหม่จะบริหารอย่างไร จะปรับโครงสร้างอย่างไร ทุกการเปลี่ยนแปลงมีการสูญเสีย อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งไหนในโลกนี้ที่ไม่สูญเสีย ถ้ามองไปข้างหน้าจะทำให้ประชาธิปัตย์มีทางเดินของประชาธิปัตย์เอง

ผู้บริหารพรรคชุดใหม่ จะทำให้รุ่นใหญ่หลายคนได้เดินทางต่อ แต่บางคนอาจจะต้องหยุด

อยู่ที่สำนึกของแต่ละคน วันที่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7) เป็นหัวหน้า ผมออกจากเลขาธิการพรรค ผมไม่รับตำแหน่งอะไรเลยทั้งหมด แล้ว คสช.ก็เข้ามา วันที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีผลประโยชน์ ใครอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ณ วันนั้นจนถึงวันเลือกตั้ง ใครอยู่เคียงข้างท่าน ใครที่เข้ามาทำทุกอย่างให้พรรคประชาธิปัตย์กับให้ท่าน

ถ้ามีสำนึกไม่ต้องพูดอะไรมากเลย ผมไม่มีตำแหน่งและไม่เคยเรียกร้องตำแหน่ง แต่ผมเข้ามาทุ่มเทให้พรรค ผมมั่นใจว่า 100% หรือว่า เกิน 100 ด้วย ในวันที่พรรคไม่มีอะไรเลย ผมทำให้พรรคเต็ม 100 ถึงวันนี้ผมถึงพูดได้เต็มปาก

ที่เคยพูดว่าจะใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพัน ถ้าได้ ส.ส.ไม่ตามเป้า

เพราะอะไรผมถึงพูดคำนี้ออกมา ไม่ใช่เพราะผมอยากดัง ผมทำอะไรให้พรรคแล้วผมไม่เคยไปพูด ในเมื่อเหตุการณ์มันผ่านมาแล้ว ผมบอกว่าผมมีความจำเป็นต้องประกาศอย่างนั้น เพราะว่าประชาธิปัตย์มีข่าวระหองระแหง มีข่าวหลาย ๆ เรื่องเข้ามาตลอด

จนกระทั่งวันนั้น เริ่มมีการประกาศเรื่องผู้ว่าฯ กทม. แล้วมีผู้บริหาร รองหัวหน้าพรรคคนหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็รู้วันนั้นมีปัญหาส่งผลกระทบจริยธรรม ศีลธรรม ผมรอจนกระทั่งไม่มีใครเลยออกมาสักคน

ผมก็คุยกับคุณองอาจ (คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ กทม.ขณะนั้น) ว่า เราต้องแก้ปัญหานี้ ไม่อย่างนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหลืออะไรเลย ไม่อย่างนั้นคนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะมองว่า ประชาธิปัตย์วันนี้จบแล้ว

ผมถึงออกมาประกาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 บ่าย 3 โมง เขาจัดงานรดน้ำดำหัวผมที่ปราณบุรี ขณะเดียวกันผมก็บอก กับคุณองอาจตลอด ว่า ประสานกับผู้บริหารพรรค ขอให้ท่านแสดงสปิริตเถอะ ท่านก็ออกมาแถลงลาออก

ผมก็แถลงความรับผิดชอบเป็นการยืนยันความมั่นใจให้กับแฟนคลับประชาธิปัตย์ ว่า วันนี้ผมยังยืนหยัดอยู่กับพรรคและพร้อมที่จะสู้อย่างเต็มที่ ท่านไม่ต้องห่วง ประชาธิปัตย์ไม่มีวันต่ำกว่าที่เคยได้ ถ้าต่ำกว่าที่เคยได้ผมรับผิดชอบ ผมจะเลิกเล่น

วันนั้นคนที่รักพรรคหายไปไหนกันหมด ไม่ว่าผมอยู่ตรงไหนประชาธิปัตย์ก็คือบ้าน ประชาธิปัตย์เป็นสถานที่ที่ทำให้ผมมีโอกาสเกิดทางการเมือง ทำให้ผมมีทุกวันนี้ ผมตอบแทนพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ต้องเลือกเวลา และไม่มีสถานะหรือตำแหน่ง

ทำไมถึงประเมินว่าทุกคนถึงออกมาดิ้นรนกันหนัก

ก็ต้องไปถามทุกคนว่าทำไม…วันนี้ เมื่อเรามาถึงจุด ๆ นี้ ถ้าจำได้ผมพูดทุกครั้งว่า หลังวันที่ 15 พฤษภาคม 66 จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะวันที่ 14 พฤษภาคมเป็นวันเลือกตั้ง แต่เพราะวันที่ 15 พฤษภาคม กรรมการบริหารครบวาระ 4 ปี คือการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งผู้บริหารในวันนี้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง และคำว่าอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงก็พูดก่อนการเลือกตั้ง โลกเปลี่ยนเราไม่เปลี่ยนเราจะไปอยู่ตรงไหน โลกเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนเราถึงจะอยู่ในกลุ่มของสังคมได้

สูตรของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องตอบโจทย์การเมืองอย่างไร

เปลี่ยนแบบมีเอกภาพ ผลักดันและเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้บริหารหรือผู้นำพรรค เปลี่ยนแล้วคำตอบอยู่ที่รอบการเลือกตั้ง แต่ถ้าคิดว่าไม่ใช่ ต้องสร้างสิ่งที่เป็นความคาดหวังขึ้นมาให้เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มีระยะเวลาชัดเจน ผลักดันผู้บริหารคนรุ่นใหม่ขึ้นมา

แล้วแต่กรรมการบริหารใหม่ไปคิดกัน เราต้องให้เกียรติ ส.ส.ที่เขาได้มาในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเขาต้องเป็นคนขับเคลื่อน

ส.ส. 25 คน จะเป็นคนกำหนดว่าบุคลิกพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

แน่นอน การเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ มีข้อบังคับพรรคกำหนดให้โหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.มีน้ำหนัก 70% ที่เหลือ 30% ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ใช้มา 10 กว่าปี ถ้าจำไม่ผิดสมัยคุณอภิสิทธิ์ ไม่มีใครรู้หรอกว่า สถานการณ์ประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างนี้

มีบางคนออกมาโวยวายว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม วันที่สัดส่วนตรงนี้หลายคนก็ได้มาเป็นกรรมการบริหาร คุณไม่พูดกันเลยสักคำ ส่วนใหญ่คนที่ออกมาโวยวายคือคนที่มองเห็นอนาคตตัวเอง

ผมถึงบอกอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงเลย วันนี้พรรคอื่นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมาบริหารพรรคได้ นำพาพรรคได้ แล้วประชาธิปัตย์จะทำไม่ได้เหรอ

คำว่าคนรุ่นใหม่ในพรรค ต้องใหม่แค่ไหน

ไม่จำเป็นต้องใหม่แค่ไหน แต่ต้องทำงานได้ เป็นที่ยอมรับ นำได้ มีวุฒิภาวะเพียงพอ เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับคนที่เป็นผู้นำอยู่แล้ว แล้วการทำงานต้องไม่ใช่พระเอกคนเดียว ถ้าผมวางโครงสร้างพรรคได้ ผมก็อยากให้เป็นอย่างนี้ จัดคนให้ถูกที่ถูกเวลา เป็นไปไม่ได้ที่จะใหม่ทั้งหมด ต้องทำให้บาลานซ์กันไป

วันนี้ขั้วความคิดในสังคมถึงแม้ว่าจะเป็นสอง แต่ว่าแต่ละซีกมีสาม มีสี่ทางแยก อย่ากอดความภาคภูมิใจเก็บไว้แล้วมาบอกว่าวันนี้ต้องเป็นแบบไหน มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามสภาพสังคมและความเป็นจริง

ความคาดหวังอยู่ที่ต้องให้โอกาส การเมืองวัดรอบการทำงานอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง ถ้าตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าล้มเหลว เอาสมองส่วนไหนคิด คุณเป็นประชาธิปัตย์จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นประชาธิปัตย์จริง ไม่ดี ต้องแนะนำกัน ให้โอกาสทำงาน เราจะเอาพรรคเรากลับมาได้

ประชาธิปัตย์เป็นเจ้าตลาดอนุรักษนิยม แต่การเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมามีคนมาแชร์คะแนนฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้น

ผมไม่แฮปปี้กับคำว่าอนุรักษนิยม ไม่แฮปปี้กับการแบ่งแยกระหว่างเสรีกับอนุรักษนิยม คุณใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวแบ่งแยก วันนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อนุรักษนิยม ไม่ได้เสรี กลุ่มคนรุ่นใหม่ เฟิร์สโหวตเตอร์ ไม่ได้มองตรงนั้น แต่เขาเลือกในสิ่งที่เขาเห็น และครั้งหน้าเขาอาจจะไม่เห็นอย่างนี้ก็ได้

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินไปข้างหน้าได้ คือ คุณต้องเอาตัวเองออกจากอนุรักษนิยม ต้องทำให้มีความรู้สึกว่า วันนี้ไม่ใช่อนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม ไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าสิ่งที่ผมขออย่างหนึ่ง คือ หลักการ อุดมการณ์ของพรรคต้องไม่เปลี่ยน ผมมั่นใจว่า ถ้าเปลี่ยนอย่างนี้ ประชาธิปัตย์กลับคืนมาได้

ในใจคิดถึงหน้าใครเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

ผมเป็นประชาธิปไตยนะ ผมคุยกับ ส.ส.ทั้งเก่าและใหม่ ผมไม่เคยชี้นิ้ว จิกหัวสั่งการ ผมจะถามก่อนเลยว่า ต้องการอะไร คิดอย่างไร เอาทั้งหมดมาประมวล คนส่วนใหญ่ถึงโอเคกับผม

ผมกลายเป็นคนผิดเหรอที่วันนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่นับถือเคารพผม เป็นความผิดผมเหรอ จะแปลกอะไรในเมื่อผมอยู่กับเขา ผมไม่ได้อยู่แบบเจ้านาย ผมอยู่แบบครอบครัว พี่น้อง

ส.ส.ประชาธิปัตย์กับสมาชิกพรรคต้องเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด เอาบทเรียนมาเป็นตัวกำหนดว่าจะเดินแบบไหน คนที่อยู่กับพรรควันนี้ เขารักพรรค ปรารถนาดีให้กับพรรค เขาไม่เลือกสิ่งที่ทำลายพรรคหรอก

มีความหวังแค่ไหนกับผู้บริหารชุดใหม่

ผมหวังเต็ม 100…ภาพจะออกมาว่าประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน การจะปรับพื้นฐานในพรรคใช้ระยะเวลา 2 ปีจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนจะรู้ว่าจะเดินอย่างไร เดินได้หรือไม่ เราต้องสลัดความรู้สึกบางอย่างออก สลัดความรู้สึกเก๋าสุด สลัดความรู้สึกเคยได้ 10 กว่าล้านเสียง สลัดทิ้งให้หมด

เวลาพูดว่าหวังเต็ม 100 หวังกับหน้าใคร

หน้าตัวเอง (หัวเราะ) ผมไม่เคยปัดความรับผิดชอบและไม่เคยเอาความในขององค์กรหรือทุกอย่างในองค์กรไปพูดข้างนอก หรือทำให้องค์กรไม่โอเคกับสังคม ไม่ใช่นิสัยผม ไม่ใช่สันดานผม ทำอะไรรับผิดชอบ วันนี้ แม้ผมไม่ใช่ผู้นำเบอร์ 1 ผมก็รับผิดชอบ ผิดผมก็กล้าขอโทษ

คนที่เป็นผู้บริหารรอบนี้ก็ต้องรู้ว่าเขายืนอยู่จุดไหน ไม่ใช่จุดที่เรียกว่าไปฮันนีมูน เขารู้ และผมก็เชื่อว่าเขาก็พร้อมรับผิดชอบ ถ้าผมจะมีส่วนร่วมผมก็รับผิดชอบ

ประชาธิปัตย์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เพราะไม่กล้าเปลี่ยน…บางช่วงพรรคก็ถูกทำร้ายทั้งจากภายนอกและภายใน พรรคไม่ผิดเลย พรรคเป็นองค์กร พรรคจะเดิน พรรคจะขับเคลื่อนยังไง ก็อยู่ที่ผู้บริหารของพรรค และโดยส่วนใหญ่ความเป็นประชาธิปัตย์ขับเคลื่อนโดยหัวหน้าพรรค การบริหาร การดูแลโดยเลขาธิการพรรค แต่ขับเคลื่อน ภาพลักษณ์อยู่ที่หัวหน้าพรรค วันนี้ต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ ถ้าจะเปลี่ยนต้องกล้าด้วย

วันนี้ประชาธิปัตย์ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง

คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ ผมถึงบอกว่าอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงเลย เลวร้ายสุด ๆ แล้ว ไม่มีต่ำกว่านี้แล้ว ไม่มีเลวร้ายกว่านี้แล้ว กล้าพูดได้เลย

หัวใจที่ทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาชนะได้ คือ กล้าเปลี่ยนแปลง

เป็นจุดเริ่มต้น แต่ต้องใช้สมองด้วยนะ ไม่ใช่กล้าอย่างเดียว

สเปกหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องเป็นแบบไหน

ผมแค่แนะนำ แต่ไม่ชี้นำ ไม่สั่ง ผมจะเป็นที่ปรึกษาให้ การเปลี่ยนแปลงวันนี้ ส.ส.พร้อมกันไหมที่จะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าไม่พร้อมก็อยู่ในขั้นวางพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องชัดเจนว่า 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี

ส.ส.25 คนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มากำหนดประเทศไทย ไม่ต้องกลัว เราจะกำหนดตัวเราเอง วันนี้มันไม่หนีกันหรอก เขาอาจจะดีสุด ๆ แต่เขาไม่มีโอกาสก็ได้ อาจจะด้วยสถานะ ด้วยตำแหน่ง ด้วยเขาโดนบางอย่างที่ทำให้เขาแสดงออกไม่ได้ วันนี้ถ้าเขามีโอกาสแสดง เขาอาจจะเก่งกว่าอีกหลาย ๆ คน เขาอาจจะคิดดีกว่าหลาย ๆ คนก็ได้

ผมพูดไปก็ถูกกล่าวหาว่าชี้นำ เป็นคนตั้ง เป็นคนทำ แต่ผมเหมือนเป็นครู เป็นคนที่ห่วง ส.ส. เป็นห่วงพรรค เคยเห็นเลขาธิการพรรคคนไหนเดินหาเสียงให้กรุงเทพฯเอง ผมทำ เพราะผมถือว่ามีหน้าที่ทุกภาค ผมไปเดินหาเสียงทุกภาค วันนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในพรรค ปัจจัยภายนอกพรรค แต่ผมก็ไม่เคยพูด

รองหัวหน้าภาคใต้ (เดชอิศม์ ขาวทอง) อาจขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ใครมีคุณสมบัติก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคได้ทั้งหมด จะมีมาสมัครอีกหลายคน แต่เป็นได้คนเดียว คนมีวินัยเขาจะเงียบ เอกภาพห่างจากคำว่าวินัยนิดเดียว

คนที่กำหนดว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ คือ กลุ่ม ส.ส.ปัจจุบันที่มีอยู่ 25 คน เมื่อเป็นอย่างนี้ถึงกลัวกันนักหนา ดิ้นทำไม ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ อย่ารักพรรคคนเดียวและมองคนอื่นไม่รักพรรค อย่าคิดว่าเก่งคนเดียวโดยมองว่าคนอื่นไม่มีความสามารถ

รอดูผลในการเลือกตั้งหน้า ต้องให้โอกาสเขา เชื่อว่าเขารับผิดชอบเหมือนผม ตอนที่ผมขึ้นมา ผมก็ตั้งใจ ไม่มีใครคาดคิดว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างนี้ ผมก็มั่นใจของผม แต่พอเราทำงาน เรารู้สึกตัวว่า มีปัญหาตรงไหน มีอุปสรรคตรงไหน เรารู้ แต่ผมเป็นคนมีวินัย เมื่อผมตัดสินใจแล้ว ผิดผมก็ยอมรับผิด ไม่โยนความผิดให้คนอื่น ส่วนใครจะรับผิดหรือไม่ เรื่องของท่าน ไม่เกี่ยวกับผมแล้ว

มีกระแสอยากให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมา

คนประชาธิปัตย์มีสิทธิ์ทั้งหมด แต่เชียร์ใครให้อยู่ในกรอบ ไม่ใช่คุณเชียร์คนนี้แล้วต้องลากอีกคนมาประจาน มาฆ่า ถ้าเขาล่อคุณกลับจะทำยังไง ประชาธิปไตยของผมง่าย ๆ และเป็นจริง ช่วง คสช.ผมไปเป็นอาจารย์สอน น.ศ.ป.โท 2-3 รุ่น ประมาณปีกว่า ผมพูดเรื่องประชาธิปไตยให้ลูกศิษย์ฟัง สำหรับผมในฐานะนักการเมืองที่เล่นการเมืองมา 20-30 ปี ประชาธิปไตยของผมง่าย ๆ มีอยู่ 2 ข้อ หนึ่ง รู้จักหน้าที่ตัวเอง สอง เคารพสิทธิของคนอื่น ไม่ใช่เสียงข้างมากที่เป็นอันธพาลประชาธิปไตย

มีความหวังอย่างไรกับวันที่ 9 กรกฏาคม 66

ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างแล้วไม่มีความหวัง หรือความคาดหวังให้คน ไม่มีทางเดินได้ แล้วเราจะไม่มีกำลังใจ ไม่มีแรงในการทำ แต่ความคาดหวังของผมไม่ใช่ผมไปสั่งการ สื่อพยายามให้ผมเป็นเจ้าพ่อ มีบทบาท ผมเป็นประชาธิปไตยที่สุด (เน้นเสียง) ไปถาม ผมรับฟังความคิดเห็นมากสุด

ผมเรียกร้องเอกภาพตั้งแต่ปี’62 ที่เข้ามาเลย เพราะผมรู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ผมก็ต้องหวังว่าประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้พรรคดีขึ้นแน่นอน ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดีขึ้น จะเปลี่ยนทำไม ให้มันเลวเหมือนเดิม

ข่าวเรื่องพรรคเตรียมจัดทีมร่วมรัฐบาล

ผมอยากจะบอกไปถึงใครก็แล้วแต่ที่ออกมาพูด ไม่พูดสักเรื่องได้ไหมในสิ่งที่คุณไม่รู้จริง ไม่เป็นความจริง เรื่องจริง คือ ไม่มีการคุยเรื่องร่วมรัฐบาลกับใครแม้แต่ครั้งเดียว และไม่มีความจำเป็นต้องออกไปปฏิเสธในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ

ประชาธิปัตย์รู้ตัวอยู่แล้วจากการเลือกตั้ง เตรียมเป็นฝ่ายค้าน

อย่าไปตัดสินใจแทน เพราะคนที่ทำงาน คือ ส.ส.25 คน เป็นคนที่จะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

เรียกว่าแทงกั๊กหรือไม่

ไม่ได้แทงกั๊ก แต่ถ้าผมอยู่ใน ส.ส. 25 คน ผมก็จะบอกว่า ผมตัดสินใจอย่างไร แต่ผมไม่ได้อยู่ แต่ผมเชื่อว่า เขาต้องเลือกทางที่เป็นประโยชน์กับพรรคมากที่สุด และไม่มีใครรู้หรอกว่าทางเลือกไหนดีที่สุดของพรรคจนกว่าจะเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ประชาธิปัตย์เคยผลัดใบ เคยรีแบรนด์ เปลี่ยนครั้งนี้เรียกว่าอะไร

รีเซตเหรอ มันทำจริงไหม บางครั้งเอาแค่โลโก้หรือคำบางคำมาพูดดึงดูด แต่ถามว่ามีการปฏิบัติไหม ถ้าปฏิบัติแล้วล้มเหลวยังโอเค เคยทำมาแล้ว แต่ถ้าไม่เคยปฏิบัติ ผลัดใบ ใครเคยผลัด ใบร่วง ไม่ใช่ผลัดใบ