“กฤษฎา” รับข้อเสนอแกนนำสวนยาง ยกเลิกเงินเซส นายกฯกำชับตรวจสอบวัคซีน-ไข้หวัดนก

“กฤษฎา” รับข้อเสนอแกนนำสวนยาง ยกเลิกเงินเซส นายกกำชับตรวจสอบวัคซีน-ไข้หวัดนก ปศ.-อปท.-สาธารณสุขเตรียมแถลงข้อเท็จจริง 27 มี.ค.นี้

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังหารือกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่าหลังจากที่มีคำสั่งให้ย้ายนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการกยท. ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งรักษาการผู้ว่าการกยท. คาดว่าจะแล้วจัดหาเสร็จภายในวันที่ 30 มี.ค. นี้เพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกร

สำหรับข้อร้องเรียนในวันนี้ คือ เกษตรกรต้องการให้กยท.ยกเลิกโครงการจ้างเอกชนเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออกยางหรือเงินเซส ภายใต้เงื่อนไขให้เอกชนหัก 5 % ของรายได้เป็นค่าจ้าง ซึ่งตนในฐานะรมว.เกษตรฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งระงับยกเลิกโครงการจ้างเอกชนจัดเก็บเงินเซสไปยังการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้ว

ทั้งนี้กยท.จะต้องชี้แจงทั้งหมด 2 ประเด็นก่อนจะดำเนินงานเรื่องนี้ต่อ คือ 1.ให้ชี้แจงว่าการจัดเก็บเงินเซสรั่วไหลอย่างไร จำนวนเงินเท่าใดบ้าง และ2.ถ้านำเอกชนเข้ามาช่วยในงานจัดเก็บเงินเซสจะสามารถปิดจุดบอดการทำงานของกยท.ได้อย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาถึงรายละเอียดที่ตนให้ชี้แจงอย่างไรก็ตามถ้ากยท.ยืนยันจะเดินหน้าเรื่องใช้เอกชนจัดเก็บเงินเซสต่อก็ทำได้ แต่ถ้าเกิดความเสียหายกับรัฐบาล กยท.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับโครงการใช้ยางในหน่วยงานรัฐภาครัฐ ขณะนี้มีการใช้ยางไปเพียง 3,000 ตัน จากเป้าหมายซื้อยางทั้งหมด 200,000 ตัน ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลตั้งแต่ดำเนินงานมา 3 ปี โดยปัญหามาจากการที่ไม่มีผู้กำหนดราคากลาง

และส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงที่ตั้งงบประมาณไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง ดังนั้นโดยประสานไปยังกรมบัญชีกลางให้แก้ไขระเบียบบางอย่างให้เอื้อต่อการประกวดราคาซื้อยางมากขึ้น ในขณะที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ยางจำนวนมากให้เร่งแก้ไขระเบียบเพื่อให้โครงการนี้เข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มากที่สุดโดยแต่ละหน่วยงานสามารถซื้อยางพาราในโครงการฯ ได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.61

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ปลูกยางในพื้นที่ไม่ถูกต้อง แต่มีบัตรอนุญาตปลูกยางในพื้นที่ หรือ บัตรสีชมพู จากกยท. ให้สามารถปลูกยางในพื้นที่นั้นได้ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน และเป็นยางที่มีอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป และจะต้องโค่นเพื่อปลูกใหม่ เกษตกรจึงจึงต้องการเงินชดเชยจาก กยท. ไร่ละ 16,000 บาท แต่ตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)การยางฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเกษตรกรจึงขอคืนเงินเซส 80 % ตามที่กยท.จัดเก็บจากการส่งออกยางที่กรีดได้ในพื้นที่เหล่านี้แทน

อย่างไรก็ตามในช่วงรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสิทธิทำกินในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้เข้าใช้ประโยชน์นั้นก่อนปี 2541 ดังนั้นให้ชาวสวนยางที่ต้องโค่นแล้วได้เงินชดเชย กลับไปหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์การเข้าทำกิน เพื่อให้กยท.จ่ายเงินชดเชยได้ตามระเบียบ

ผู้สื่อข่าว รายงานว่าเมื่อบ่ายวันที่ 26 มี.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียกเข้าพบเพื่อกำชับให้ตรวจสอบ เรื่องของปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้รอบด้านในทุกมิติที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งเรื่องวัคซีนด้อยคุณภาพที่สาธารณสุขเรียกคืน รวมทั้งเรื่องของไข้หวัดนกที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรมปศุสัตว์มีการปกปิดข่าวการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในสวนสัตว์โคราช โดยในวันที่ 27 มี.ค. กรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 2 ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนขณะนี้

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นนายกฤษฎาได้ต่อสายเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง ถึงนายเจษฎา โชคบำรุงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ากระเเสข่าวไข้หวัดนกระบาดในสวนสัตว์โคราชนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งนายเจษฎาได้ตอบว่า “ไม่เป็นความจริง” ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อสร้างความกระจ่างและข้อมูลที่ถูกต้องจะได้แถลงข่าวในเวลา 14.00 น. วันพรุ่งนี้ที่กรมปศุสัตว์ พญาไท ( 27 มี.ค. ) เช่นเดียวกัน