ธปท.สรุปภาพเศรษฐกิจภาคใต้ คาดปี’66 ขยายตัวในกรอบ 6.2-7.2% และปี’67 ขยายตัว 4.6-5.6% อานิสงส์ภาคการท่องเที่ยว หนุนภาคการค้า-ก่อสร้างภาคเอกชนโต พร้อมหนุน Cross-border QR payment เชื่อมการชำระเงินต่างประเทศ-หนุนการใช้ Local Currencies เร่งยกระดับเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ (ธปท.) ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ ด้วยพลังคนรุ่นใหม่” ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคใต้ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคใต้ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังได้กลุ่มคนคิดใหม่มาแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และประสบการณ์ รวมถึงยังได้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาและรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ จากภาคธุรกิจ การเงิน การศึกษา ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง
ช่วงแรกของงาน เป็นการนำเสนอผลการศึกษาประมาณการ “แนวโน้มเศรษฐกิจใต้ ปี 2566-2567 ในมุมมองของ ธปท.” โดย ดร.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ซึ่งคาดว่าปี’66 เศรษฐกิจใต้จะขยายตัว 6.2-7.2% และจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนโควิด ในปี’67 โดยขยายตัว 4.6-5.6% จากแรงขับเคลื่อนในภาคการท่องเที่ยว และส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคการค้าและการก่อสร้างภาคเอกชน
ส่วนภาคเกษตรจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญจากผลผลิตเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวดี แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงในปี’67 จากความเสี่ยงภัยแล้ง ในมุมมองเชิงพื้นที่เศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันจะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นและราคาที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพิงการเกษตร เช่น จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ ธปท.ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ผ่านการศึกษาเชิงลึกในประเด็นที่ตอบโจทย์พื้นที่ และผสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนใต้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ต่อด้วยช่วงที่ 2 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงสนทนาเรื่อง “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทยและภาคใต้” ฉายภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและภาคใต้ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคท่องเที่ยว แม้ว่าภาคผลิตและส่งออกฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ขณะที่เงินเฟ้อไทยและภาคใต้ชะลอลงไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับดอกเบี้ยนโยบายถือว่าเข้าใกล้จุดสมดุล (Neutral) มากขึ้น ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ทำให้เกิดวิกฤต แต่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง จึงต้องเร่งแก้ไข โดย ธปท.ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมถึงแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)
ด้วยเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงจากการส่งออกและภาคท่องเที่ยว ธปท.จึงได้ผลักดัน New FX Ecosystem เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) การใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) และการใช้ Local Currencies โดยเฉพาะเงินหยวนของจีนที่เป็นคู่ค้าหลักภาคใต้
นอกจากนี้ ธปท.ได้ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Cross-border QR payment เชื่อมโยงการชำระเงินกับประเทศในภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ที่พึ่งพิงภาคท่องเที่ยวและภาคเกษตรสูง ทำให้เริ่มเห็นขีดจำกัดของการพัฒนาในระยะยาว
ดังนั้น จึงต้องทำให้เศรษฐกิจภาคใต้มีความยืดหยุ่น (Resilience) ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ และพลังของคนรุ่นใหม่ที่รู้โจทย์ความต้องการในพื้นที่ โดย ธปท.พร้อมเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น
ในช่วงสุดท้าย เปิดแนวคิดการยกระดับธุรกิจท้องถิ่นผ่านมุมมองของนักธุรกิจรุ่นใหม่กับการเสวนา หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ ด้วยพลังคนรุ่นใหม่” โดยผู้แทนคนรุ่นใหม่ 3 ท่าน ได้แก่ คุณอณวิทย์ จิตรมานะ บจก. เดอะ ซิตี้ คอนเน็กซ์ และ บรรณาธิการบริหารเพจ Hatyai Connext คุณเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ บจก. บวรเวชสมุนไพรและประธาน YEC หอการค้าจังหวัดพัทลุง และคุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่
สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อายุ แต่เป็นคนคิดใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่า เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การพัฒนาเมืองต้องอาศัยคนในพื้นที่ในการขับเคลื่อน โดยบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การพัฒนาจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งคนในท้องถิ่นที่เชื่อมั่นและอยากพัฒนาพื้นที่ ภาคเอกชนที่เปิดโอกาสและพร้อมสนับสนุน และภาครัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่