จับตา 2 บอร์ดใหม่ “เฟด” “ทรัมป์” ส่งนั่งรับใบสั่งหั่น ดบ.

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐประกาศผ่านทวิตเตอร์ ว่า เตรียมจะเสนอชื่อ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ รองประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และ จูดี้ เชลตัน อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ เข้าไปนั่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) ของเฟด การเสนอชื่อทั้งสองคนเข้าไปนั่งในบอร์ดเฟดสะท้อนถึงความพยายามของทรัมป์ในการกดดันเฟดให้ลดดอกเบี้ยตามที่ต้องการอย่างที่ทรัมป์เรียกร้องมาโดยตลอด อีกทั้งมักวิจารณ์ในลักษณะแทรกแซงการทำงานของเฟดบ่อยครั้ง อันถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติของประธานาธิบดี

ทั้งคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ และจูดี้ เชลตัน ถูกมองว่าน่าจะเป็นบุคคลที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของทรัมป์ โดยเฉพาะเชลตัน วิจารณ์เฟดออกทางสาธารณะบ่อยครั้งในทิศทางรับลูกทรัมป์ เช่นเมื่อเดือนที่แล้วเธอให้สัมภาษณ์ว่า หากได้รับแต่งตั้งเข้าไปนั่งในบอร์ดของเฟด เธออยากเห็นการลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0% ภายใน 1 หรือ 2 ปี

ก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคมเธอวิจารณ์เฟดว่า ทำไมคนแค่ 10 กว่าคน (หมายถึงบอร์ดเฟด) ซึ่งประชุมกันปีละ 8 ครั้ง จึงกลายเป็นผู้ตัดสินใจว่าต้นทุนของเงินทุนควรจะเป็นเท่าไหร่ แทนที่จะปล่อยให้ตลาดเป็นผู้ตัดสินใจ เธอเปรียบเปรยว่าอำนาจกำหนดดอกเบี้ยของเฟดไม่ต่างจาก Gosplan หรือคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจรัฐของโซเวียต ที่มีอำนาจวางแผนเศรษฐกิจส่วนกลาง

นอกจากนี้ เธอยังเป็นแฟนตัวยงในการสนับสนุนให้นำมาตรฐานทองคำ (gold standard) มาใช้ในระบบการเงินระหว่างประเทศแทนระบบปัจจุบันซึ่งปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นและลอยตัว เชลตันเคยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับทรัมป์ช่วงรณรงค์หาเสียงชิงชัยประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2016

Advertisment

ปัจจุบันเธอนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรปในฐานะตัวแทนจากสหรัฐ เธอสนิทกับลาร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ชื่อของเธออยู่ในกระแสข่าวมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีแนวโน้มจะได้รับเลือกจากทรัมป์ให้นั่งในบอร์ดเฟดที่ว่างอยู่

ส่วนคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะเป็นรองประธานบริหารเฟดสาขาเซนต์หลุยส์แล้ว ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้วย คนนี้แม้จะไม่วิจารณ์การทำงานเฟดออกสาธารณะเท่าเชลตัน แต่เจ้านายของเขา คือ นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เป็นกรรมการเพียงรายเดียวของเฟดที่เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยในการประชุมเฟดนัดล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งมติครั้งนั้นเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ตรึงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม

หากทรัมป์เสนอชื่อทั้งสองคนอย่างเป็นทางการจริง ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกคัดค้านโดยเฉพาะเชลตัน เนื่องจากแนวคิดของเธอที่ต้องการให้กำหนดค่าเงินดอลลาร์ผูกติดตายตัวกับราคาทองคำ มีนักเศรษฐศาสตร์น้อยมากที่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน บุคคล 2 คนที่ทรัมป์เตรียมจะเสนอชื่อก่อนหน้านี้ คือ สตีเฟ่น มัวร์ และ เฮอร์แมน เคน ก็ต้องถอนตัวไปเพราะถูกวุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าขาดประสบการณ์และความเป็นอิสระจากทรัมป์ อีกทั้งมีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัว เช่นนายเคนถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ

สำหรับเชลตันนั้น ถูกสื่อจับผิดว่าไม่มีจุดยืนแน่นอน เพราะตอนที่ช่วยทรัมป์รณรงค์หาเสียงเมื่อ ค.ศ. 2016 เธอตำหนิเฟดในยุคของนางเจเน็ต เยลเลน ว่าปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเกินไป ทำให้บรรดาผู้กู้ยืมที่เป็นนักลงทุนที่ร่ำรวยและบริษัทขนาดใหญ่สามารถกู้เงินได้ในต้นทุนที่ต่ำ ส่วนประชาชนทั่วไปที่ฝากเงินไว้กับธนาคารไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลย

Advertisment

อนึ่ง สำหรับมาตรฐานทองคำที่นางสาวเชลตันเอ่ยถึง นั้นหมายถึงการกำหนดมูลค่าเงินตราสกุลหนึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักจำนวนหนึ่งของทองคำ ทำให้เงินตราสกุลต่าง ๆ ที่ใช้มาตรฐานทองคำมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกันตายตัว แต่หลังจาก ค.ศ. 1931 หลายประเทศได้ละทิ้งมาตรฐานทองคำ เพราะต้องการให้ค่าเงินของตนลอยตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและการว่างงาน โดยประเทศแรกที่เลิกใช้มาตรฐานทองคำ คือ อังกฤษ