บทเรียนหวัดนกรับมืออหิวาต์หมู

บทบรรณาธิการ

ข่าวการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนไทยอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา เริ่มรับรู้ในวงกว้าง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลทั้งในหมู่ผู้บริโภค และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จากก่อนหน้านี้เคยระบาดในจีน เวียดนาม ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองเป็นเรื่องไกลตัว

ล่าสุดแม้นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับนายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จะยืนยันหนักแน่นว่าโรคติดเชื้อไวรัสยังไม่แพร่กระจายมาถึงไทย พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังขั้นสูงสุด แต่สาธารณชนยังจับตาและเกาะติดสถานการณ์ด้วยความกังวล

ยิ่งมีข่าวคราวปรากฏทางโซเชียลและสื่อหลายแขนง ว่า พบหมูตายในจังหวัดทางภาคเหนือ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ต้องเข้าควบคุมพื้นที่ และฆ่าหมูในฟาร์มดังกล่าวรวมทั้งบริเวณใกล้เคียงเพื่อสกัดโรคระบาด ยิ่งทำให้สาธารณชนหวาดหวั่นใจ

ย้อนดูสถานการณ์โรค ASF ปัจจุบันระบาดในหลายประเทศทั้งยุโรป แอฟริกา มาถึงจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา โอกาสที่โรคร้ายจะลามถึงไทยจึงเป็นไปได้ แม้หลายหน่วยงานจะดำเนินมาตรการตรวจสอบดูแลเข้มข้น และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกระดับแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ

เพราะแม้จะโชคดีที่เชื้อไวรัส ASF ไม่ติดต่อถึงคนรวมทั้งสัตว์อื่น ๆ แต่พื้นที่ใดเกิดโรคระบาดก็เสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเสียหายและได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากกำจัดโรคได้ยากและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ที่สำคัญโรคดังกล่าวสามารถแพร่กระจายเข้ามาในไทยได้หลายทาง จากการปนเปื้อนในน้ำ สิ่งแวดล้อม การขนส่งเคลื่อนย้ายหมู ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากหมู การเดินทางของนักท่องเที่ยว ฯลฯ

การสกัดโรคจึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามแผนและมาตรการอย่างเข้มงวดรัดกุม รัฐบาลต้องสนับสนุนกำลังคน เงินงบประมาณ การเดินหน้าสกัดโรคร้ายจะได้ไม่เกิดปัญหา พร้อมเร่งชี้แจงทำความเข้าใจป้องกันไม่ให้สาธารณชนสับสนหรือตื่นตระหนก

แนวทางหนึ่ง คือ ถอดบทเรียนการแก้ปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งเชื้อบางชนิดติดต่อถึงคนและเคยระบาดหนักหลายประเทศรวมทั้งในไทย ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ราย เหนือสิ่งอื่นใด ทุกฝ่ายต้องทำจริงจังและไม่ประมาท ความผิดพลาดเสียหายจะได้น้อยที่สุด