ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดเล็กน้อยจากความกังวลต่อสต๊อกน้ำมันที่อาจปรับเพิ่มขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังทรงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าน้ำมันหลังท่าเรือกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงหนุนจากการที่โรงกลั่นน้ำมันในบริเวณอ่าวเม็กซิโกและแถบทะเลแคริบเบียนกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของเฮอร์ริเคน Harvey และ Irma ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโรงกลั่นน้ำมัน Shell ในรัฐเท็กซัสได้กลับมาดำเนินการผลิตที่ระดับ 325,700 บาร์เรลต่อวันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 79,000 บาร์เรล แตะระดับ 6.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตจากแหล่ง Bakken คาดว่าจะปรับเพิ่ม 7,900 บาร์เรลต่อวัน

+ ผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มปริมาณการถือครองสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์สุทธิ (Net Long Position) 16,962 สัญญา มาอยู่ที่ 430,699 สัญญา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงกลั่นในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศอินโดนิเซียและเวียดนาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าความต้องการใช้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังหมดช่วงฤดูมรสุม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ในตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังโรงกลั่นโดยส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินการกลั่นได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 468.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงพายุ Harvey

ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกคาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นและผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD commercial stocks) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,016 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีเพียง 190 ล้านบาร์เรล โดนผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจาก 75% มาอยู่ที่ระดับ 82% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกความร่วมมือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119% ในเดือนดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา

จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 ก.ย. ว่าจะมีการออกมาตรการสำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดรัฐมนตรีของคูเวตกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตอยู่ระหว่างการชักชวนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต