แบงก์ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามหลังกนง. แบ่งเบาภาระลูกค้า-ลดต้นทุน

แบงก์พาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ตาม กนง. ล่าสุดธนาคารกรุงเทพประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ยกแผง 3 ประเภท 0.125-0.25% ตามหลังกสิกรไทย มีผล 24 มี.ค.นี้ ส่วนทีเอ็มบีและธนชาต มีผล 1 เม.ย.63

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 เพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 พร้อมกับมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

ล่าสุดวันนี้ (23 มีนาคม 2563) ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงตามหลังกนง.แล้ว

ธ.กรุงเทพ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท 

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ลง 0.125% อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.125% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

“ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ” นายสุวรรณ กล่าว

ทีเอ็มบีและธนชาต ลด MOR ,MRR มีผล 1 เม.ย.63

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโควิด -19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัว ดังนั้น เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงินของลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย และตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ

ธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.25% เหลือ 6.675% และลด MRR (Minimum Retail Rate) ลง 0.12% เหลือ 7.03% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

ซึ่งธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต เชื่อมั่นว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยให้คนไทย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และยังคงร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

กสิกรไทย ลดดบ.กู้  MOR ลง 0.25% และ MRR ลง 0.12%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารกสิกรไทยพร้อมตอบสนองนโยบาย เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% เหลือ 6.62% และลด MRR ลง 0.12% เหลือ 6.50% เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME และ บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด หากแต่ลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.05% และ เงินฝากประจำลง 0.10%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 พร้อมกับมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

นายปรีดี ดาวฉาย ยังกล่าวในฐานะ ประธานสมาคมธนาคารไทยว่า สำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ต้องมีการประกาศปิดสถานบริการและร้านค้าบางประเภทไปแล้ว ตามประกาศล่าสุดของกรุงเทพมหานคร ทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกธนาคารได้มีการวางแผนการให้บริการที่ต่อเนื่องเพื่อรองรับทุกสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และขอให้ความมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถให้บริการลูกค้าและผู้มาใช้บริการของธนาคารตามปกติในทุกช่องทาง โดยเฉพาะบริการหลัก เช่น การรับฝากเงิน การถอนเงิน การโอนเงิน และบริการสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ธนาคารออมสินและ 17 สถาบันการเงิน ได้มีการลงนาม MOU โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 ปี ผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับเงินข่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่!!