จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม ธนาคาร Standard Chatered

เรามองว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากเกาหลีเหนือเพิ่มความไม่แน่นอน แต่จนถึงตอนนี้ผลกระทบต่อตลาดการเงินยังมีจำกัด โดยเราประเมินความเป็นไปได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็น 3 เหตุการณ์ดังนี้ :

1) เกาหลีเหนือท้าทายสหรัฐและญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ผลต่อตลาดการเงินมีจำกัด (More-of-the-same) : แม้ว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะแสดงให้เห็นศักยภาพในการที่จะโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่เราคาดว่าสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากในกรณีนี้คือสงครามน้ำลายของทั้ง 2 ฝ่าย และคาดว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะไม่เพิ่มระดับขึ้นจนกลายเป็นการปะทะกันทางทหาร และคาดว่ามาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือของสหรัฐและชาติตะวันตกจะเป็นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าเดิม

ทั้งนี้ เราคาดว่าในกรณีนี้ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นเกาหลีและภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และถ้าตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นปรับลงจะเป็นการให้โอกาสในการเข้าลงทุน

2) ความตึงเครียดยกระดับเป็นปฏิบัติการทางทหาร (Significant escalation to a military conflict) : แม้ว่าความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการทหารจะมีจำกัด แต่เราไม่ตัดความเป็นไปได้นี้ออกไปถ้าความขัดแย้งยังคงเพิ่มระดับต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่เรากังวลในกรณีนี้คือ การอ่านสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายในทางที่ผิดไปจากความเป็นจริง (miscalculation) กล่าวคือ นักวิเคราะห์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังประเมินว่า เจตนาของเกาหลีเหนือในการมีอาวุธนิวเคลียร์คือการป้องกันระบบการเมืองของตนเองไม่ให้ถูกสหรัฐและชาติพันธมิตรโจมตี รวมทั้งเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ (insurance policy) โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีสหรัฐและพันธมิตรสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น เพราะถ้าเกาหลีเหนือลงมือโจมตีสหรัฐและญี่ปุ่น ผลที่ตามมาคือสหรัฐและชาติพันธมิตรจะโจมตีเกาหลีเหนือกลับด้วยอาวุธทุกประเภทที่มี ซึ่งจะส่งผลให้เกาหลีเหนือล่มสลายเช่นกัน

ขณะที่เจตนารมณ์ของสหรัฐนั้นซับซ้อนกว่า เพราะนอกจากสหรัฐจะไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือมีศักยภาพในการโจมตีทางทหารต่อสหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์แล้ว สหรัฐยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์ด้วย เพราะการปล่อยให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ลงโทษจะทำให้ชาติที่เป็นศัตรูสหรัฐนั้นต้องการจะมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศให้ตนเอง ขณะที่ชาติพันธมิตรสหรัฐที่ขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ คือญี่ปุ่น จะถูกสถานการณ์กดดันให้มีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกันเพื่อป้องกันตนเอง ผลสุดท้ายทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และจะทำให้สมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศสูญเสียไป

ขณะที่ถ้าสหรัฐและพันธมิตรโจมตีเกาหลีเหนือทางการทหารก่อน ผลกระทบในกรณีนี้จะรุนแรงมาก เพราะเกาหลีเหนือตั้งปืนใหญ่และขีปนาวุธจำนวนมากประชิดพรมแดนและอยู่ในพิสัยที่สามารถถล่มกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้ ซึ่งมีอยู่ห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 50-60 กิโลเมตร ซึ่งความเสียหายในกรณีนี้ นอกเหนือจากชีวิตมนุษย์แล้ว จะส่งผลลบอย่างมากต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ แต่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำจะทะยานขึ้นมาก

ดังนั้น ความเสี่ยงในกรณีนี้คือผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือและสหรัฐ อ่านเจตนาของแต่ละฝ่ายผิดไป และมองว่าอีกฝ่ายจะมีปฏิบัติทางการทหารต่อตนเองก่อน ซึ่งนี่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีปฏิบัติการทางทหาร อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เรายังประเมินว่ามีความเป็นไปได้ต่ำ แต่เราจะไม่ตัดความเป็นไปได้นี้ออกไป และจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

และ 3) การเจรจามีผลสำเร็จ (Negotiations are successful) : เกาหลีใต้จะนำนโยบาย “ตะวันสาดแสง” ในช่วงทศวรรษปี 1990-2000 กลับมาใช้ใหม่ และสถาปนาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ โดยที่ทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือเองได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน และตลาดจะลดความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลี และกลับไปมุ่งที่ปัจจัยพื้นฐานและการดำเนินธุรกิจ แต่การที่ในปัจจุบันเกาหลีเหนือยังมีท่าทียั่วยุให้มีสงคราม ทำให้ในระยะใกล้ความเป็นไปได้ของกรณีนี้มีต่ำมากที่สุดใน 3 กรณี

เราขอย้ำว่า ขณะนี้เรามีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นภายใต้ทุกความเป็นไปได้ทั้งหมด ยกเว้นในกรณีที่เกิดสงคราม โดยเราจะไม่แปลกใจที่จากนี้ไปตลาดอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว ตลาดจะกลับมาขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานด้วยการประเมินผลบวกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง และผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น และราคาหุ้นที่ไม่แพงทำให้ตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นเป็นสินทรัพย์ที่เราชอบมากที่สุด

โดยสรุป เราประเมินว่าความเสี่ยงของการเกิดสงครามมีต่ำแต่ไม่ได้เป็นศูนย์ ในแง่นี้นักลงทุนอาจจำเป็นต้องกระจายการลงทุนด้วยการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (เช่นทองคำ) ในสัดส่วนเล็กน้อย และลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เป็นสัดส่วนใหญ่ ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือความเสี่ยงประเภทนี้แทนที่จะไม่ลงทุนในหุ้นเลย และถือเงินสดหรือตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว