องค์กรไทยปรับมุมคิด “เราต้องใช้ฟินเทคเพื่อความอยู่รอด”

เมื่อมาถึงยุคที่งานหลายอย่างถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้คอร์นเฟอร์รี่ เฮย์กรุ๊ป ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านองค์กรและการบริหารบุคคลจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Future-proof Your Organization in the Digital Era”

โดยมีตัวแทนผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมพูดคุย อาทิ ภานุวัฒน์ กาญจะโนสถ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านทรัพยากรมนุษย์ คอร์นเฟอร์รี่ เฮย์กรุ๊ป ประเทศไทย, ธีรนันท์ ศรีหงส์ Chairman of the Board สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ อลิสา นภาทิวาอํานวย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มายโซเชียลโมชั่น เจ้าของโครงการโซเชียลกีฟเวอร์ (socialgiver.com)

“ภานุวัฒน์” เล่าให้ฟังถึงแนวโน้มสำคัญ 3 ประการที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการพลิกโฉมรูปแบบวิธีการบริหารทุนมนุษย์ขององค์กรต่าง ๆ ในอนาคตที่จะมาถึง โดยบอกว่า ประการที่ 1 เทคโนโลยีมีการพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบหุ่นยนต์ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงานแทนคนในหลายภาคส่วนแล้ว

“ประการที่ 2 รูปแบบการทำงานแบบชั่วคราว คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับการต้องเป็นพนักงานประจำ ทำให้เลือกการทำงานแบบรับจ้างอิสระ (freelancer) หรือรับจ้างงานภายนอกของบริษัทต่าง ๆ (outsource contract) มากยิ่งขึ้น”

“ส่วนประการสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เป็นแรงงานสำคัญใน 5 ปีข้างหน้า แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานในกลุ่มคน generation X, Y หรือ millennials ซึ่งมีวิธีคิดทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับ work-life balance และความเป็นปัจเจกนิยม ดังนั้นคำถามสำคัญสำหรับองค์กรคือการปรับรูปแบบการบริหารงานอย่างไรให้สอดรับกับค่านิยมของพนักงานที่เป็นคนกลุ่มนี้ อาจเพิ่มความยืดหยุ่นในรูปการดำเนินงานมากขึ้น หรือออกแบบงานตามความถนัดของพนักงาน เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความท้าทายที่องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางรับมือ”

ขณะที่อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย “ธีรนันท์” ที่ปัจจุบันทำงานทางด้านคอนซัลติ้งให้กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลกล่าวว่า ตอนนี้วงการธนาคารได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมในยุคดิจิทัล เพราะ FinTech เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่สิ่งใหม่ จึงอาจทำให้ธุรกรรมการเงินแบบเดิมที่เคยอยู่ในธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องหายไป โดยในความเป็นจริงบริษัทด้านการเงินการธนาคารไม่ควรมองว่า FinTech คือศัตรู แต่ต้องใช้ให้เป็นเพื่อความอยู่รอด อาจทำได้ด้วยการสร้างนวัตกรรมแล้วขยายธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้าน

“องค์กรต้องสำรวจตัวเองว่าเรื่องไหนที่ยังขาดแคลน และมีจำกัด ทำอย่างไรจะสร้าง digital talent ให้มากพอ และการจะออกแบบองค์กรให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล รวมถึงต้องสร้าง new S-curve ให้เกิดขึ้นในองค์กร และสามารถสร้าง mini startup ให้เกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ จึงจะทำให้สามารถก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงได้”

สำหรับ “อลิสา” กลับมองว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต่างจากคนรุ่นก่อนคือพวกเขามองดิจิทัลก่อน แล้วค่อยมาดูว่าจะใช้ทรานส์ฟอร์มอะไรให้กับงานได้บ้าง ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น ทุกคนในองค์กรต้องใช้เพื่อการปรับตัว แต่ความท้าทายในการทรานส์ฟอร์มในองค์กรไม่ได้ติดที่เรื่องของเทคโนโลยี แต่ติดเรื่องคน เพราะเทคโนโลยีเราสั่งได้ แต่คนเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้

“ด้วยความที่ตัวเองมีความสนใจเรื่องช่วยเหลือสังคม จึงอยากสร้างธุรกิจ startup ของตัวเอง แต่โจทย์คือต้องหาวิธีใหม่ที่จะทำให้ภาคสังคมสามารถยั่งยืนด้วยตัวเองให้ได้ จึงเลือกใช้เทคโนโลยีมาสร้าง socialgiver.com ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่สร้างประสบการณ์แบบใหม่ ทำให้การซื้อและการช่วยให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน”

“โดยเราเห็นว่ากลุ่มการท่องเที่ยวและบริการมี capacity ที่ถูกใช้ไปเพียงประมาณ 55% เท่านั้นในแต่ละวัน หมายถึง 45% สูญหายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อใครเลย ทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี หรือวันละ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งมีช่องว่างที่เราสามารถใช้เพื่อช่วยสังคมได้”

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้อย่างมาก แต่คอร์นเฟอร์รี่ เฮย์กรุ๊ปวิเคราะห์กับแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อประเมินสัดส่วนการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร ระหว่างคนและเทคโนโลยีจนผลปรากฏว่าคนสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้มากกว่าเทคโนโลยีถึง 2.33 เท่าตรงนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ สักเพียงใด การบริหารจัดการทุนมนุษย์ยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจที่องค์กรต่าง ๆ ไม่ควรละเลย