โควิด “สมุทรสาคร” จบไม่ลง ยืดไทม์ไลน์ 2 เดือนคุม 4 โรงงานเสี่ยง

โควิด

โควิด-19 ยังระบาดหนักในมหาชัย พบแหล่งรังโรคใหญ่ยังวนเวียนอยู่ในโรงงานปลากระป๋อง ยี่ห้อดัง ผงะผลตรวจเชื้อโควิดล่าสุดพบติดไปแล้วกว่า 7,800 คน ยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกกว่า 50,000 คนที่ต้องกักกันตามมาตรการ Bubble & Seal อีก 28 วัน นำร่อง 4 โรงงานใหญ่ “ยูนิคอร์ด-ไทยยูเนี่ยน-ไทยรวมสิน-พัทยาฟู้ดส์” หวังกำจัดการระบาดให้สิ้นซาก ด้าน “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข ลั่นต้องปรับแผนจัดการโควิดใหม่ หากได้ผล ตัวเลขติดเชื้อในมหาชัยจะค่อย ๆ ลดลงในอีก 2 เดือนข้างหน้า

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง หากจะนับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ตลาดกลางกุ้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (4 กุมภาพันธ์ 2564) พบการติดเชื้อสะสมไปแล้ว 14,241 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 151,563 ราย ด้วยจำนวนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่คาดการณ์ว่า จะมีอยู่ระหว่าง 400,000-500,000 คน กระจายอยู่ในโรงงานต่าง ๆ หรือเท่ากับว่ายังตรวจเชื้อโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าวไปไม่ถึงครึ่ง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความกังวลให้กับคนในประเทศและผู้ประกอบการที่ว่า เมื่อไหร่จะ “จัดการ” กับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้สิ้นสุดลง

หวั่นเตียงโรงพยาบาลไม่พอ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร ในเดือนกุมภาพันธ์ได้ย้ายจากคลัสเตอร์ “ตลาดกลางกุ้ง” มาที่ “โรงงาน” อย่างเต็มรูปแบบ โดยกราฟที่พลอตโดยกระทรวงสาธารณสุขบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การติดเชื้อในโรงงานมีเส้นกราฟที่ชันขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ประมาณวันที่ 25 มกราคมเป็นต้นมา สอดคล้องกับตัวเลขการค้นหาเชิงรุกที่ขยับขึ้นมาจากระดับประมาณ 1,000-2,000 คน/วัน เป็น 10,000 คน/วัน จนกระทั่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์จึงลดการค้นหาเชิงรุกลงเหลืออยู่ในระดับประมาณ 2,000-6,000 คน/วัน

“ปัญหาตอนนี้ก็คือ ยิ่งตรวจมาก ยิ่งเจอมากขึ้น และไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เนื่องจากในจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเถื่อนแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีการลงทะเบียน ไม่รู้ว่านายจ้างเป็นใคร อยู่โรงงานไหน ส่วนแรงงานต่างด้าวในระบบที่มีการลงทะเบียนก็อยู่กันอย่างแออัด กระจายไปทั่วชุมชนใหญ่ในมหาชัย ตรวจพบเชื้อโควิด-19 วน ๆ กันไป ไม่ติดเชื้อวันนี้อีกไม่กี่วันก็ติด เพราะไม่มีการจัดแยกแรงงานออกจากกัน แต่ที่สำคัญตอนนี้ก็คือ จำนวนเตียงในจังหวัดสมุทรสาครที่จะรองรับแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจจะมีไม่เพียงพอ โดยตัวเลขจำนวนเตียงคงเหลือล่าสุดอยู่ที่ 2,980 เตียง หรือร้อยละ 38 จากจำนวนเตียงทั้งหมด 7,838 เตียง จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมการตรวจเชิงรุกจำเป็นต้องลดลง”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลรัฐมีจำนวนเตียง 351 เตียง คงเหลือเตียง 163 เตียง (46.4%), โรงพยาบาลเอกชน 558 เตียง คงเหลือ 58 เตียง (15%), ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 3,224 เตียง คงเหลือ 1,317 เตียง (40.9%) และศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร 3,705 เตียง คงเหลือ 1,442 เตียง (38.9%) ในขณะที่การตรวจพบแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้เฉลี่ยอยู่ประมาณวันละ 500-800 คนขึ้นไป

ผงะ รง.ปลากระป๋องแหล่งรังโรค

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า “โรงงาน” ที่เป็นแหล่งรังโรคล้วนเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวอยู่ในหลักหมื่นคน จากการค้นหาเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายใหญ่ของประเทศ บนถนนเศรษฐกิจ 1 ของมหาชัย และยังไม่ได้เป็นการติดเชื้อในระดับ 60-70 คน หรือร้อยละ 0.29% อย่างที่ออกข่าว แต่มีจำนวนแรงงานที่มีผลตรวจเป็น “บวก” หรือติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 7,800 ราย ยกตัวอย่าง

บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ UNC จำนวนพนักงานทั้งหมด 12,549 คน ที่พักคนงานอยู่นอกโรงงานทั้งหมด ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนพนักงานที่ผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก 2,713 ราย หรือตรวจพบเชื้อร้อยละ 23.99, บริษัทไทยรวมสิน (TRS) จำนวนพนักงาน 11,779 คน ที่พักคนงานอยู่นอกโรงงานทั้งหมด มีจำนวนพนักงานที่มีผลการตรวจเป็นบวก 2,130 คน หรือพบเชื้อร้อยละ 20.41, บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด หรือ TUF จำนวนพนักงาน 14,076 คน ที่พักคนงานมีทั้งในและนอกโรงงาน มีจำนวนพนักงานที่มีผลตรวจเป็นบวก 1,650 คน หรือพบเชื้อร้อยละ 12.83

บริษัทพัทยาฟู้ดส์ หรือ PTYF จำนวนพนักงาน 3,925 คน พักอยู่นอกโรงงานทั้งหมด มีจำนวนพนักงานที่มีผลตรวจเป็นบวก 916 คน หรือพบเชื้อร้อยละ 26.34 และ บริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิ่ง หรือ GP จำนวนพนักงาน 2,393 คน พักอยู่ในโรงงานทั้งหมด มีจำนวนพนักงานที่มีผลตรวจเป็นบวก 234 คน หรือพบเชื้อร้อยละ 10.38

นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่อยู่นอกอุตสาหกรรมอาหารทะเลอีก 1 แห่ง คือ บริษัทแคลคอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ CC มีจำนวนพนักงาน 3,900 คน พักอยู่นอกโรงงานทั้งหมด มีจำนวนพนักงานที่มีผลตรวจเป็นบวก 159 คน หรือพบการติดเชื้อร้อยละ 4.18

“จากข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า มีการติดเชื้อในโรงงานปลากระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง เกินกว่าร้อยละ 10 จำเป็นที่จะต้องตรวจพนักงาน/แรงงานทั้งหมด แต่ที่สำคัญก็คือ จำนวนแรงงานที่มีผลการตรวจเชื้อเป็นบวก 7,878 คน จะต้องจัดการให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม หรือ bubble and seal เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก โดย seal จะใช้กับโรงงานที่แรงงานพักอยู่ในบริเวณโรงงานจะต้องกักไว้ 28 วัน

ส่วน bubble จะใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่ภายนอกโรงงาน โดยเจ้าของโรงงานจะต้องนำแรงงานกลับเข้ามาพักในโรงงานให้มากที่สุด หรือจัดหาสถานที่พักภายนอกให้แรงงานอยู่ในที่ที่กำหนด แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้” ผู้ประกอบการโรงงานกล่าว

ทั้งนี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า โรงงานเป้าหมายหลัก ๆ เขตตำบลท่าทราย จำนวน 4 โรงงานที่จะต้องเร่งทำ bubble & seal ทันที ได้แก่ บริษัทยูนิคอร์ด, บริษัทไทยยูเนี่ยน, บริษัทไทยรวมสิน และบริษัทพัทยาฟู้ดส์ และจากผลการเฝ้าระวังเชิงรุกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบตำบลที่มีการพบเชื้อเกิน 10% (สีแดง) 8 ตำบล ได้แก่ มหาชัย, ท่าทราย, บางหญ้าแพรก, โกรกกราก, บางกระเจ้า, ชัยมงคล, โคกขาม และนาดี ส่วนตำบลที่พบเชื้อน้อยกว่า 10% (สีเหลือง) ได้แก่ บ้านแพ้ว, คลองตัน, อำแพง, บ้านเกาะ, ดอนไก่ดี, สวนหลวง, แคราย, คลองมะเดื่อ, คอกกระบือ, บางน้ำจืด, อ้อมน้อย, กาหลง, บางโทรัด, บ้านบ่อ และพันท้ายนรสิงห์

ปรับแผนคุมโควิดใหม่

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดสมุทรสาครกำลังเร่งดำเนินการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ภายในโรงงาน โดยใช้ระบบการจัดการภายในโรงงานอย่างมีส่วนรวม (bubble & seal) โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง ที่อยู่บริเวณพื้นที่สีแดงในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งมีพนักงานกลุ่มเสี่ยงรวมกันประมาณ 50,083 คน “แต่ทั้งหมดยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่”

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะใช้เวลาภายในอาทิตย์นี้ เพื่อ “ปรับแผนการทำงาน” เนื่องจากยังมีโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งที่มีปัญหา โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงในเรื่องการ “ควบคุมแรงงาน” เหล่านี้ หากสามารถใช้มาตรการ bubble & seal ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าที่สมุทรสาครจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงจะเริ่มลดลง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ต่อข้อถามที่ว่า ทำไมกระทรวงไม่เลือกที่จะประกาศปิดโรงงานไป 14 วัน เพื่อควบคุมเชื้อเบ็ดเสร็จนั้น นายสาธิตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องหารือกับฝ่ายความมั่นคงก่อน หากใช้มาตรการรุนแรงอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ ดังนั้นการควบคุมโควิด-19 จะไม่ได้ผล