รัฐแลกสูญรายได้ “ภาษี-ค่าฟี” กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท หนุน “ฟื้นฟูธุรกิจ-พักทรัพย์พักหนี้”

โกดังพักหนี้-1

รัฐยอมแลกสูญรายได้ “ภาษี-ค่าธรรมเนียมอสังหาฯ” รวมกันกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สนับสนุนมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ-พักทรัพย์พักหนี้” อุ้มธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ป้องกันถูกกดราคาทรัพย์สิน

รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการดำเนินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ 2.5 แสนล้านบาท และ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 1 แสนล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลประเมินว่า จะสูญเสียรายได้รวม 18,202.50 ล้านบาท

แบ่งเป็น 1.การสนับสนุนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ ที่จะต้องมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยลดภาระกค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรการ ส่วนนี้คาดว่าจะสูญเสียรายได้ 2,475 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อและผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ในภาพรวมมีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวลดลง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ เพื่อดำเนินธุรกิจ และพื้นฟูกิจการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด- 19

และ 2.การสนับสนุนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ที่ต้องมีการลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากการดำเนินดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ ของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และ ผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และใช้เวลานานในการฟื้นฟูธุรกิจ สามารถตีโอนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อชำระหนี้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และผู้ประกอบธุรกิจมีภาระลดลงในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะซื้อทรัพย์สินคืนจากสถาบันการเงิน

Advertisment

ส่วนนี้คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 12,000 ล้านบาท และ รายได้ค่าธรรมเนียมอีกราว 3,727.50 ล้านบาท

โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ มีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อสินทรัพย์คืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริง เพื่อดำเนินธุรกิจต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด- 19 คลี่คลายลง

อีกทั้งเป็นการลดโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวถูกกดราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีความต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน