“TIDLOR” เคาะราคาขายสุดท้าย 28 เม.ย. จับตาจัดสรรหุ้นรายย่อยเพิ่ม

“เงินติดล้อ” ผู้นำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ส่งหุ้น TIDLOR เข้าเทรดวันแรกจันทร์ที่ 10 พ.ค.64 เปิดรายย่อยจองซื้อออนไลน์ 22-26 เม.ย. ขั้นต่ำ 1,000 หุ้น จำนวนเงิน 36,500 บาทที่ราคาสูงสุด 36.50 บาท คาดเคาะราคาขายสุดท้ายและประกาศรายชื่อจัดสรรวันที่ 28 เม.ย. ด้าน “ปิยะศักดิ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งเป้าเติบโตธุรกิจสินเชื่อ 15-20% ช่วง 3 ปีข้างหน้า และธุรกิจนายหน้าประกันโตขั้นต่ำ 40% เล็งกลยุทธ์ M&A ประเมินโควิดรอบนี้ไม่กระทบหนักเท่ารอบแรก โชว์เงินทุนแกร่งเหลืออยู่กว่าหมื่นล้าน-สำรองหนี้เสียอยู่ในเกณฑ์สูง

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุนกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เปิดเผยว่า แผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้คาดว่าจะเปิดซื้อขายวันแรกช่วงวันจันทร์ที่ 10 พ.ค.64 โดยจำนวนหุ้นรวมไม่เกิน 1,043.54 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 136.11 ล้านหุ้น) จะแบ่งเป็นการขายหุ้นให้นักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors จำนวน 626 ล้านหุ้น คิดเป็น 69% ผู้ลงทุนสถาบัน 95.90 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.6% ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ 13.61 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.5%
บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทฯ 13 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.4% พนักงานบริษัทฯ 33.37 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.7% บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดสรรจำหน่ายหลักทรัพย์ 79.03 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.7% และผู้จองซื้อรายย่อย 46.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.1%
ทั้งนี้รายย่อยจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย.64 ผ่านทางช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงศรีฯ ผ่านแอปพลิเคชั่น KMA, ธนาคารกสิกรไทยผ่านทางเว็บไซต์ kmyinvest และบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีฯ
โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้นที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 35,480-38,089 ล้านบาท มูลค่ามาร์เก็ตแคปราว 78,845-84,643 ล้านบาท โดยจะใช้วิธีสรรหุ้นแบบ Small Lot First กำหนดจำนวนจองซื้อหุ้นขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 36,500 บาทที่ราคาเสนอขายสูงสุด และทวีคูณ 100 หุ้นจนกว่าหุ้นจะหมด คาดว่าจะประกาศราคาขายสุดท้ายและรายชื่อผลการจัดสรรผู้จองซื้อรายย่อยได้วันที่ 28 เม.ย.ก่อนเวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ภายหลังไอพีโอผู้ถือหุ้นใหญ่ 1.ธนาคารกรุงศรีฯ จะเหลือสัดส่วนหุ้นถือครอง 30% และ Siam Credit Access เหลือ 25% โดยเงินติดล้อจะมีสภาพคล่อง(Free Float) หลังไอพีโอมากถึง 45% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมด
“ประมาณช่วงวันที่ 27 เม.ย.จะประเมินสัดส่วนหุ้นเพิ่มเติม หากมีความต้องการล้น มีโอกาสจะจัดสรรให้รายย่อยเพิ่มได้ ทั้งนี้กรีนชูจะเริ่มรักษาระดับราคาหุ้นตั้งแต่วันแรกไอพีโอ หากราคาลงต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอ ซึ่งไม่ได้กังวลแม้ว่าอยู่ในช่วงภาวะตลาดผันผวน” นายอนุวัฒน์กล่าว
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR กล่าวว่า ธุรกิจเงินติดล้อประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่อและนายหน้าประกันภัย โดยในปี 63 มีรายได้รวม 10,558 ล้านบาท มีกำไร 2,416 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 36% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 22.9% พอร์ตหลักมาจากธุรกิจสินเชื่อสัดส่วนถึง 82.7% และที่เหลือ 8% มาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย
โดยมีสินเชื่อคงค้างรวม 51,300 ล้านบาท เติบโต 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอาจโตน้อยกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากช่วงไตรมาส 2/63 ยอดสินเชื่อหดตัวลง เพราะบริษัทใช้เวลาในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิดไปกว่า 1 แสนราย โดยการยกเว้นดอกเบี้ยคงค้าง ค่าธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จ่ายแทนลูกค้าเป็นจำนวนเงิน 400-500 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่เริ่มทำธุรกิจมาได้ 3 ปี มีเบี้ยประกันภัยรับ 4 พันล้านบาท เติบโต 40% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีรายได้ค่านายหน้าประมาณ 800 ล้านบาท เติบโต 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยการบริหารความเสี่ยงในปัจจุบัน บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ที่ระดับ 2.3% ขยับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.7% แต่เมื่อเทียบคู่แข่งยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราค่าใช้จ่ายด้านเครดิต 2 ปีที่ผ่านมายังอยู่ที่ 1.2% รวมไปถึงอัตราเงินสำรองต่อหนี้เสียสูงกว่า 325% ซึ่งสูงที่สุดในอุตสาหกรรมฯ
โดยกลยุทธ์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ จะเติบโตจากภายใน(Organic) 3 ส่วนหลักคือ 1.คงความเป็นผู้นำในการให้สินเชื่อจำนนำทะเบียนรถผ่านการขยายสาขาอีก 500 สาขา 2.เร่งสร้างนวัตกรรมการบริหารความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี เช่น บัตรติดล้อที่ทำไปแล้วเมื่อปีก่อน การทำดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น ซึ่งจะช่วยให้ค่าต้นทุนการให้บริการลูกค้าเริ่มลดลงต่อเนื่องในระยะยาว
3.การสร้างความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งเห็นช่องว่างที่ตลาดใหญ่มาก จึงเปิดโอกาสให้โบรกเกอร์รายย่อยสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มบริษัทได้เพื่อสร้างความยั่งยืนธุรกิจรายเล็กๆ ต่อไปได้
นอกจากนี้ยังมีการเติบโตจากภายนอก(In-organic) หรือการเติบโตแบบทางลัด ผ่านควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ โดยเงินติดล้อเป็นธุรกิจปลายน้ำติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แต่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้รายย่อย การเข้าสู่ธุรกิจขั้นกลางและต้นน้ำจะสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาว รวมไปถึงการแสวงหาพาร์ตเนอร์ทั้งในและอาเซียนด้วย โดยวิธีการมองจะชอบประเทศที่มีประชากรมาก อายุเฉลี่ยน้อย มีการเติบโตเศรษฐกิจที่แข็งแรง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังต่ำ
“เราค่อนข้างแตกต่างจากคู่แข่ง 3 ส่วนคือ 1.วิธีการทำธุรกิจ ใช้กลยุทธ์ Omni-channel ไม่พึ่งพาสาขาอย่างเดียว มีพาร์ตเนอร์อีกหลายพันจุดบริการทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางดิจิทัล 2.วิธีการบริหารจัดการองค์กร และ 3.โครงสร้างธุรกิจ ที่มีธุรกิจนายหน้าประกัน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มากขึ้น” นายปิยะศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ตั้งเป้าการเติบโต 3 ปีข้างหน้าคาดการณ์สำหรับธุรกิจสินเชื่อจะมีอัตราการเติบโตอยู่ในช่วง 15-20% เหตุผลเกิดจากผู้ประกอบการรายเล็กจะค่อยๆ หายตัวไป เนื่องจากกฎระเบียบทางภาครัฐออกมาซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนแข็งแกร่งจะเข้าไปบริการลูกค้าได้ดีกว่า
ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะมีการเติบโตขั้นต่ำ 40% ไปอีก 2-3 ปี เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และไม่มีผู้เล่นที่ควบคุมตลาดมาก จึงเป็นช่องทางที่แทรกตัวเข้าไปได้
นายปิยะศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิดรอบนี้ว่า ถ้าประเมินตอนนี้อาจจะยังพูดยาก ซึ่งต้องดูนโยบายรัฐบาลว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ เพราะจะมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แต่เชื่อมั่นว่าการระบาดโควิดรอบนี้จะไม่กระทบหนักเท่ากับรอบแรก เพราะปัจจุบันบริษัทก็ค่อนข้างมีความพร้อมด้านเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่กว่าหมื่นล้าน หรือสำรองหนี้เสียที่อยู่ในเกณฑ์สูง แต่ในอนาคตจะมีการลดการตั้งสำรองลง