“เอคเซนเชอร์” เปิดศูนย์นวัตกรรมขั้นสูงเพิ่มดีกรีบุกตลาดไทย

“เอคเซนเชอร์” รุกเปิดศูนย์นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย หวังเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลกอัพสกิลบุคคลากร โฟกัส”คลาวด์-5G-เอไอ-เดต้าอะนาลิติกส์”หวังเพิ่มศักยภาพในการให้บริการลูกค้าภาครัฐ และเอกชนปรับองค์กรสู่ดิจิทัลรับมือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ทั้งประกาศจ้างงานเพิ่มอีกกว่า 300 ตำแหน่งภายในปีหน้า ตั้งเป้าพัฒนาคนไอทีทะลุพันคนภายในปี 2024

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 รายงานข่าวจากเอคเซนเชอร์ เปิดเผยว่าบริษัทได้เปิด “ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย” (Advanced Technology Center Thailand: ATCT) เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเร่งพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง การขยายขีดความสามารถด้านไอที และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของธุรกิจในประเทศไทย โดยมุ่งพัฒนากำลังคน และบุคลากรให้มีทักษะและความพร้อมสำหรับอนาคตผ่านโครงการความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรร่วมกับองค์กรธุรกิจ และแวดวงเทคโนโลยีระดับภูมิภาค รวมทั้งหน่วยงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ

นายดิวีเยช วิทลานี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอคเซนเชอร์กล่าวว่า การตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการให้บริการและการสร้างคุณค่าของ

เอคเซนเชอร์ แบบ 360 องศา แก่ลูกค้าในไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิ่งที่เป็นความโดดเด่น และสร้างความแตกต่างให้เอคเซนเชอร์ คือความฉับไว ทั้งยังให้ความสำคัญกับการปรับสเกลของธุรกิจให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจในตลาด การเพิ่มทักษะในสายเทคโนโลยีที่สำคัญ และความเชี่ยวชาญเชิงธุรกิจเฉพาะด้านให้กับบุคลากร

Advertisment

“เราเชื่อมั่นว่าศูนย์แห่งนี้จะช่วยลูกค้า และองค์กรต่างๆ ปรับเปลี่ยนการทำงานด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ ความคล่องตัวให้ทันกับโอกาสและการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดของโควิดองค์กรหลายแห่งอาจกังวลในแง่การปรับตัวสู่ดิจิทัลว่าจะทำได้ไหม แต่พอมีโควิดผลักดันให้องค์กรต้องเร่งกระบวนการในการปรับตัวสู่ดิจิทัล นำแอปพลิเคชั่นต่างๆ มาใช้ และอยู่บนคลาวด์ การเปิดศูนย์ฯแห่งนี้ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมและเป็นความตั้งใจของเราในการให้บริการกับลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”

สำหรับประเทศไทย เป็นตลาดที่มีความพร้อมอย่างมากและมีโอกาสเติบโตมากกว่า 10% ภายในปี 2022 เนื่องจากทั้งภาครัฐ และเอกชนยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดในไทยของแอคเซนเจอร์เองก็โดดเด่น และเติบโตรวดเร็ว โดยตั้งแต่บริษัทเข้ามาตั้งบริษัทในไทย ตั้งแต่ปี 2521 ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม ทั้งแบงก์กิ้ง เฮลท์แคร์ และเทเลคอม เป็นต้น

“การแพร่ระบาดของโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เช่น จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าอื่นเมื่อมีประสบการณ์ไม่ดีแค่ครั้งเดียวทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว การตั้งศูนย์เอซีทีในไทยจะเป็นอาวุธสำคัญในการที่จะทำให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้”

โดยศูนย์ฯ แห่งใหม่นี้ ตั้งเป้าจ้างงานผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกว่า 300 คนภายในปีหน้าเพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าองค์กรต่างๆ ให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจใหม่ๆ และยกระดับขีดความสามารถเสริมความคล่องตัวในการทำงานและการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด นอกจากนี้ยังจะเน้นลงทุนด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของพนักงาน มอบโอกาสให้พนักงานได้ฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานจริงและได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำงานร่วมกับทีมงานจากทั่วโลก ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีเพื่อนร่วมงานจากหลากหลายเชื้อชาติ

Advertisment

ด้านนางสาวนิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เสริมว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในไทยพบว่า 31% มองว่าในอีก 5 ปีข้างาหน้า ตำแหน่งงานต่างๆ จะเกี่ยวกับการใช้งานเอไอ และเห็นว่าเอไอจะมีผลต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต และเกือบครึ่งของผู้บริหารในไทยยังมองว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะเข้ามามีส่วนสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการทำธุรกิจในอนาคต เช่นกันกับความต้องการด้านไซเบอร์ซิเคียริตี้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“การตั้งศูนย์เอทีซีที (Advanced Technology Center Thailand)ทำให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ และตั้งใจที่จะสร้างบุคคคลากรในประเทศให้มีความรู้เกี่ยวกับอินโนเวชั่นใหม่ๆ เพื่อทำงานให้กับลูกค้าในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เฉพาะทางให้ได้ 1 พันคนในปี 2024 โดยเทคโนโลยีที่เราจะโฟกัสในช่วงนี้จะเป็นเรื่องคลาวด์ อินฟราสตัคเจอร์ ดาต้าแอนด์อนาลิติก เอไอ โมบายโซลูชั่น 5G เป็นต้น เป็นการดึงพลังของความเป็นแอคเซนเจอร์มาช่วยลูกค้า และให้บริการที่แตกต่างได้
นางสาวนิธีนันท์กล่าวว่าที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปช่วยลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ในฟิลิปปินส์ เข้าไปช่วยบริษัทแพนโดร่าเรื่องการลดต้นทุนในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และขยายฐานลูกค้าไปในประเทศต่างๆ

โดยช่วยย้ายดาต้าเซ็นเตอร์ไปบนคลาวด์ทำให้ลดต้นทุนได้กว่า 26 ล้านยูโร ทำให้พนักงานเข้าถึงข้อมูล และเครื่องมือหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้เป็นมาตรฐานดียวกันทั่วโลก

“อีกกรณี เข้าไปช่วยบริษัทอาซาฮี เป็นโรงกลั่นเบียร์ เขาต้องการทำให้หน้าจอในการใช้งานควบคุมการผลิตของโรงกลั่นเบียร์ใช้ง่ายขึ้น เราก็เริ่มจากการทำเวิร์กช้อปดีไซน์ร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้คนบริหารสายการผลิตของโรงกลั่นทำงานง่ายขึ้น มองเห็นกระบวนการขั้นตอนการผลิตต่างๆ มองเห็นโปรดักชั่นคาแพซิตี้ รวมถึงข้อมูลวัตถุดิบที่ต้องใช้ในแต่ละจุดได้แบบเรียลไทม์ การควบคุมการบริหารงานโรงกลั่นทำง่ายขึ้น และบริหารการสั่งวัตถุดิบเข้ามาได้รวดเร็ว เหมาะสม ไม่สะดุด ทำให้ผู้บริหารสายการผลิตของโรงรกลั่นควบคุมการผลิตผ่านแท็บเล็ตได้เลย เป็นต้น”

“การมีศูนย์ฯ แห่งใหม่ในไทย จะช่วยให้เรานำศักยภาพของเครือข่ายในภาคธุรกิจและเทคโนโลยีของภูมิภาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้ลูกค้าในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย”

ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย มีกำหนดเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ฯที่มีอยู่กว่า 50 แห่งทั่วโลก โดยในระยะแรกจะให้บริการลูกค้าของเอคเซนเชอร์ในประเทศไทยทำให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงโซลูชันเทคโนโลยีที่หลากหลาย และรองรับการข้ามสายธุรกิจ อีกทั้งยังใช้งานได้บนหลากหลายแพลตฟอร์ม รวมทั้งโซลูชั่นบนมือถือ เทคโนโลยีด้านคลาวด์ ระบบทดสอบอัตโนมัติ และบริการด้านความปลอดภัยด้านไอทีรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว