12 จังหวัดรับมือวัตถุอวกาศ ลองมาร์ช-5บี โคจรผ่านไทย รอบ 2 พรุ่งนี้

ลองมาร์ช 5บี
แฟ้มภาพ จรวดลองมาร์ช 5บี (ภาพจาก China Daily via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY)

GISTDA แจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวด Longmarch-5B จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 ชี้อาจกระทบไทย 1.2%

วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center ของ GISTDA เปิดเผยข้อมูลพื้นที่บางส่วนของประเทศไทยที่วัตถุอวกาศชิ้นนี้จะโคจรพาดผ่านในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 จำนวน 2 รอบ (หากมีเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบต่อไป) ดังนี้

โดยรอบแรกผ่านไปแล้ว เมื่อช่วงตี 2 คืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 โคจรจากฝั่งตะวันตกขึ้นไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ในบริเวณจังหวัด #ราชบุรี #นครปฐม #พระนครศรีอยุธยา #สระบุรี #ลพบุรี #นครราชสีมา #ชัยภูมิ #ขอนแก่น #กาฬสินธุ์ #อุดรธานี #สกลนคร และ #นครพนม

ส่วนรอบที่ 2 จะโคจรในช่วงเวลา 11:22:32 น.- 11:24:32 น. จากทิศเหนือลงไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผ่านจังหวัด #แม่ฮ่องสอน #เชียงใหม่ #ลำพูน #ลำปาง #สุโขทัย #อุตรดิตถ์ #พิษณุโลก #เพชรบูรณ์ #ชัยภูมิ #นครราชสีมา #บุรีรัมย์ และ #สุรินทร์

ลองมาร์ช 5บี  Longmarch-5B
ทิศทางโคจรของ ลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B)

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เนื่องจากวัตถุอวกาศลองมาร์ช 5บี มีโอกาสตกในไทยเพียง 1.2% ถือว่าน้อยมากซึ่ง GISTDA จะติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา และสามารถแจ้งเตือนก่อนตกล่วงหน้าได้ 1 วัน

Advertisment

อย่างไรก็ตาม วัตถุอวกาศดังกล่าว อยู่ห่างพื้นโลกที่ใกล้ที่สุด ณ เวลานี้ประมาณ 173 กิโลเมตร

สำหรับชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ที่จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน (โคจรตามเส้นสีเขียวดังภาพ) โดยวัตถุอวกาศดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 21 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ)

การปฏิบัติภารกิจของลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ

โดยการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

Advertisment

ปัจจุบันศูนย์วิจัยดังกล่าว มีการวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของระบบอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการคาดการณ์ติดตามวัตถุอวกาศตกสู่โลก แล้วยังพัฒนาฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคต เช่น การแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศ (Space weather) เป็นต้น อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากนี้ GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้อย่างใกล้ชิด และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป