ระวังเก็งกำไรค่าเงินผสมโรงบาทแข็ง

บทบรรณาธิการ

เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง บวกกับเงินบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเป็นประวัติการณ์ จากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว ล่าสุด 29 ม.ค. 2561 อยู่ที่ 31.36 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี และในระยะสั้นยังมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นอีก

หลายฝ่ายจึงเกรงว่าภาคส่งออก สินค้าเกษตร และธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปส่งออก ค่อนข้างอ่อนไหวเป็นพิเศษกับค่าเงินบาท ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีมีข้อจำกัดไม่มีความสามารถในการซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (hedging)

ทำให้นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แสดงความกังวลและสะท้อนถึงปัญหาของภาคเอกชน เตรียมเข้าหารืออย่างเป็นทางการกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆ นี้

ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. นายวิรไท สันติประภพ ออกมาส่งสัญญาณในทำนองป้องปราม โดยระบุว่า ธปท.ตรวจสอบพบพฤติกรรมเข้าข่ายการเก็งกำไรค่าเงิน พร้อมเผยข้อมูลว่าสถาบันการเงินบางแห่งกระทำการในลักษณะที่เอื้อให้ลูกค้าเก็งกำไรค่าเงิน และไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ในการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินที่ ธปท.กำหนด

แม้ ธปท.จะระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง บัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่ค่าบาทอ่อนค่า หรือแข็งค่า มักมีผู้ฉวยโอกาสผสมโรงเก็งกำไรค่าเงิน

ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งยากอยู่แล้ว เพราะต้องพิจารณาปัจจัยที่มากระทบทั้งภายในและนอกประเทศ นโยบายการเงินการคลัง ปัจจัยทางเทคนิค จิตวิทยา รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง การเก็งกำไรของนักลงทุน ฯลฯ ยิ่งบริหารจัดการให้ค่าบาทเสถียรภาพได้ลำบากมากขึ้นอีก

ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ค่าบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าต่อเนื่อง นอกจาก ธปท.ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นแล้ว ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันในฐานะผู้คุมกฎกติกาคือ ใช้ไม้แข็งดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้เกิดการหลาบจำไม่กล้าทำผิดซ้ำ

ขณะเดียวกัน อาจจำเป็นต้องพิจารณาออกมาตรการใหม่เพิ่มเติม ป้องกันไม่ให้สถาบันการเงิน ผู้ส่งออก นักลงทุน นักเก็งกำไร อาศัยช่องโหว่กฎหมายสร้างความปั่นป่วนในตลาดเงิน ทำให้ ธปท.สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมาย