Cryptocurrency สามารถแทนที่เงินได้หรือไม่ ?

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาล”ธวัช Fb: Redpillzdotcom www.Redpillz.com

ก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนหัวข้อที่กล่าวไว้ข้างต้น ผมขอออกตัวก่อนเลยว่า บทความนี้ไม่ได้เป็นการชี้นำเพื่อการลงทุนแต่อย่างใด และผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพราะฉะนั้นชาว Redpillz อ่านบทความนี้ก็เพื่อความรู้เท่านั้นนะครับ

ครั้งที่แล้วเราได้ปูพื้นกันในเรื่อง bitcoin และ cryptocurrency ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ายังไง ๆ มันก็ดูเหมือนกับว่า cryptocurrency คือเงินที่คล้ายว่าจะนำมาแลกเป็น สกุลเงิน fiat หรือ เงินที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลของประเทศ เช่น เงิน US dollars คือเงินตราของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลอเมริกัน

และแน่นอนว่าเงิน fiat หรือ fiat currency จะพิมพ์กันมั่วซั่วไม่ได้ จำต้องมีการรับรองโดยของมีมูลค่า เช่น ไปผูกไว้กับทองคำ เป็นต้น ถึงจะพิมพ์ออกมาได้ แต่ถ้าคุณเป็นรัฐบาลแล้วพิมพ์เงินตัวเองออกมาเรื่อย ๆ เงินนั้นก็จะเฟ้อและหมดค่าไปเรื่อย ๆ เช่นกัน จนต้องเป็นอย่างบางประเทศที่ต้องซื้ออาหารกินหนึ่งมื้อในราคาเป็นร้อยล้านในสกุลเงินของเขา

ก่อนที่เราจะมาตอบคำถาม ว่าในอนาคต cryptocurrency จะเข้ามาแทนที่เงินหรือไม่นั้น ต้องขอปูพื้นฐานความหมายของสิ่งที่เราใช้ชำระหนี้สินเสียก่อน ซึ่งทั้งหมดแบ่งเป็นคร่าว ๆ 4 ยุค ได้แก่ 1.ยุคของการนำเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน 2.ยุคของการนำเอาของมีค่าในตัวเองมาแลกสินค้า เช่น ทองคำ ซึ่งถือเป็นโลหะที่หายากมาก จึงทำให้มีมูลค่าในตัวมันเอง และต้องใช้ต้นทุนในการเข้าขุดร่อนหา 3.ยุคของการใช้เงินและธนบัตรในการชำระหนี้สิน 4.ยุคของการใช้เงิน fiat นี่แหละ แต่เปลี่ยนให้มาอยู่บน internet เป็นเงิน electronic

สังเกตหรือไม่ว่าทั้ง 4 ยุคนั้นล้วนแล้วแต่ต้องมี “การการันตี” หรือรับรองมูลค่าด้วยสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ด้วยตัวสินค้านั้น ๆ เอง ก็เป็นของมีมูลค่า หรือไม่ก็เป็นการการันตีหรือรับรองจากรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะล้มหายไปได้ง่าย ๆ ดังนั้น ตามหลักการแล้วสิ่งของอะไรก็ตามที่จะใช้ชำระหนี้สินได้นั้น (ยังไม่ได้พูดถึงว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่) คือสิ่งที่มีดังต่อไปนี้

1.use case คือต้องมีการนำ currency มาใช้งานได้จริง ๆ 2.acceptance คือการยอมรับจากบุคคลอื่น ๆ เช่น ร้านทองรับซื้อ bitcoin แลกกับทองคำ หรือ ร้านอาหารรับชำระค่าอาหารเป็นทองคำ

และปรากฏว่า cryptocurrency นั้น ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหมายถึงว่ามี use case และ acceptance มากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าเป็นอย่างนี้คือมีคนยอมรับมากก็จะทำให้มีมูลค่าในตลาดแลกเปลี่ยนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ฉะนั้น มาถึงตรงนี้ทุกคนคงทราบแล้วว่า cryptocurrency มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งต้องผ่านการจัดหา, ผ่านการยอมรับ และผ่านระบบการยืนยันตัวตนใน blockchain แทน regulator หรือผู้รับรองเงินตราโดยทางการ รวมไปถึงยังมี use case และการได้รับการยอมรับว่ามีมูลค่าอีกต่างหาก

มาถึงตรงนี้แล้วดูเหมือนจะตอบคำถามแล้วว่า cryptocurrency สามารถทดแทนเงินได้ ใช่ไหมครับ แต่…ยังไม่ใช่ “ยังไม่สามารถทดแทนเงินได้” เป็นคำตอบของผมครับ

เพราะอะไร? ก็ด้วยเหตุผลที่อธิบายไปตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ว่า 1.เพราะมันยังไม่ได้ยอมรับให้สามารถชำระหนี้สินในทางกฎหมายได้โดยตรง 2.เงิน fiat ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มาจากการจัดตั้งจากรัฐบาล คือ centralized currency เพราะฉะนั้น cryptocurrency ถือว่าเป็น “เงินที่ประดิษฐ์” ขึ้น โดยไม่ตรงตามหลักการเดิม cryptocurrency ใช้หลัก decentralized หรือการกระจายตัวของการยืนยันตัวตน นั่นเอง

3.cryptocurrency เช่น bitcoin ethereum ripple และอื่น ๆ อีกมากมาย ยังมีความอ่อนไหวสูงมาก ในวันที่ผมเริ่มเขียนเรื่อง crypto ตอนแรก ๆ bitcoin หนึ่งเหรียญ มีมูลค่าสูงถึง 6 แสนกว่าบาทในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 มาถึงช่วงนี้ bitcoin หนึ่งเหรียญ มูลค่าตกลงมาเหลือแค่ 3 แสนบาทนิด ๆ ในวันที่ 17 มกราคม 2561 เพียงเพราะแค่เป็นช่วงก่อนหน้าตรุษจีน รวมกับข่าวลือต่าง ๆ เช่น ผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดกำลังจะทำการขายครั้งใหญ่เท่านั้นเอง

ในระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น มูลค่าแตกต่างกันมาก ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของ bitcoin ตอนราคา 6 แสนบาท มาถึงตอนนี้ผมว่าคุณเองไม่น่าจะนอนหลับแน่นอน

4.cryptocurrency ยังสามารถโดนชักจูงได้ง่ายมาก เพียงแค่มีรัฐบาลประเทศที่ประชากรถือ cryptocurrency จำนวนมากออกมาประกาศ ว่าจะแบนการทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับ cryptocurrency เท่านั้นมูลค่าก็ร่วงแน่ ๆ 10-20% ทั้งตลาด นอกจากนี้ ยังไม่มีองค์กรใดสามารถเข้ามาดูแลความเคลื่อนไหวของมันได้

“Joachim Wuermeling” ผู้อำนวยการ Deutsche Bundesbank ยังออกมาเรียกร้องว่า นโยบายการจัดการกับ cryptocurrency นั้น ทุกชาติต้องเข้ามาช่วยกันออกกฎดูแลร่วมกัน ประเทศจีนเองเคยพยายามที่จะจัดการกับการค้า cryptocurrency เลยทำให้ตลาดแลกเปลี่ยน crypto ย้ายฐานจากจีนไปอยู่ที่ญี่ปุ่นแทนเพื่อความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ ส่วนเกาหลีนั้นเกือบจะได้เป็นฐานของตลาดซื้อขายเหมือนกัน แต่ถูกรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีไม่สู้ดีนัก ตลาด crypto เกาหลีเลยซบเซาร่วงลงไปทันที 15-20% ซ้ำร้ายหลังจากเหตุการณ์ประกาศมาตรการ cryptocurrency ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ทางผู้ดูแลกฎทางการเงินยังออกมารายงานว่ามีบุคลากรของรัฐเองถูกจับได้ว่าแอบเก็งกำไรราคาและเทขาย ก่อนจะมีการประกาศมาตรการออกมา

5.cryptocurrency ยังมีความเป็นส่วนตัวสูง จนอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะบางสกุลเงินของ cryptocurrency ถึงขั้นตรวจสอบไม่ได้เลย ทำให้บาง cryptocurrency ที่อยากจะไปต่อให้ได้ จึงต้องจัดทำ “KYC” (know your customer) หรือระบบลงทะเบียนของเจ้าของเหรียญ ให้รู้จักหน้าค่าตากันบ้าง เพื่อรายงานไปยังหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลกำกับเส้นทางการเงินเพื่อความมั่นคงของประเทศ

6.ท้ายที่สุด ถ้าไม่นับถึงรัฐบาลและธนาคารจะไม่ชอบ cryptocurrency เท่าไหร่ ผมว่าองค์ประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุด คือ user adoption คือคนต้องยอมรับและอยากใช้มันในการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแค่เอามาแลกกัน ซื้อขายเกิดมูลค่า เพราะถ้าเพียงแค่นี้ ไม่มีทางยั่งยืน

สิ่งที่มีคนพยากรณ์กันมาก คือ วันใดวันหนึ่ง cryptocurrency จะมีค่าเท่ากับ “ศูนย์” เหมือนอย่างที่เคยเกิดกับ internet bubble มาก่อนแล้ว ดังนั้น เหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือ cryptocurrency อย่างแน่นอน

ผมว่าตอนนี้ทุกรัฐบาลและสถาบันการเงินในโลก คงกำลังศึกษา blockchain และ cryptocurrency กันอย่างหนัก เพื่อที่จะหา “ข้อดี” ในการนำมาใช้พัฒนาประเทศในอนาคต พัฒนาด้านความปลอดภัยและความคล่องตัวในทางการเงิน เพื่อความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ๆ อย่างไม่มีอคติ ซึ่งผมเองก็ยังคิดว่า fiat currency ยังไงก็ยังมีความสำคัญมากในปัจจุบัน จากการที่ได้รับการยอมรับทั้งจากทางสถาบันการเงิน, รัฐบาล และประชาชนโดยทั่วไป

ในเรื่องของความมีเสถียรภาพและการยอมรับระดับนานาชาติ บางที blockchain อาจจะเข้าไปช่วยทำให้ศักยภาพของ fiat currency นั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”