ตลาดหุ้นไทย เครื่องสะดุด นักเล่นหุ้นติดดอย…แข้งขาสั่น

AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย วิไล อักขระสมชีพ


ผ่านมาได้ราวเดือนครึ่งของต้นปีจอ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยรูดปรื๊ดกันเต็มอิ่มต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ และตอนนี้ก็มาถึงเทศกาลวันแห่งความรัก หรือ “วาเลนไทน์” และต่อด้วย “เทศกาลตรุษจีน” ในวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ยังมีคนช็อปปิ้งกันคึกคัก โดยเฉพาะในหมู่นักเล่นหุ้นปีนี้ กอบโกยความมั่งคั่งจากราคาหุ้นวิ่งพรวดพราดกันตั้งแต่ต้นปี 2561 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจคนกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายรวม 1.34 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายทำบุญท่องเที่ยว และแตะเอีย ขณะที่ซื้อเครื่องเซ่นไหว้จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายระดับทรงตัว

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ปีนี้เป็นปีที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) จะติดลมบนยาวต่อเนื่อง
จากปลายปีที่แล้ว เพราะเปิดตลาดวันแรกของปี 2561 นักเล่นหุ้นเฮโลกันเข้ามาเทรดสนั่น จนดัชนีพุ่งขึ้นมาปิดที่ 1,778.83 จุด เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ที่สูงต่อเนื่อง 85,000 ล้านบาท ถือว่าตลาดหุ้นไทยทำลายสถิติที่ดัชนีเคยสูง 1,753.73 จุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

หากนับคร่าว ๆ ตลาดหุ้นไทยใช้เวลาราว 24 ปี กว่าจะทำลายสถิติเก่าได้ และเป็นการทำสถิติใหม่นับตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2518 ด้วย ความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยไม่ได้

หยุดแค่สถิติตรงนั้น เพราะช่วงต้นปีที่มีแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติเข้ามา แต่ก็เริ่มทยอยขายออกในช่วงดัชนียังพุ่งพรวด
ไปแตะแนวต้านใหญ่ 1,800 จุด ในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา โดยดัชนีขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,838.96 จุด เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เรียกว่า วัดปรอทตลาดหุ้นไทยเข้าขั้น over boil (เดือด) ทีเดียว

ขณะที่มูลค่าราคาตลาดโดยรวม (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 18.45 ล้านล้านบาท รอบนี้เรียกว่าต่างชาติทยอยขายวันละ 4-5 พันล้านบาท รวม ๆ ก็ขายสุทธิแล้ว 3.8 หมื่นล้านบาท โกยกำไรออกไปอู้ฟู่ทีเดียวที่ขายออกในช่วงตลาดหุ้น peak ขณะที่ค่าเงินบาทแข็ง ก็แลกกลับเป็นดอลลาร์สหรัฐได้อีก

ขณะที่ฝั่งนักลงทุนในไทยก็วิ่งเข้ามาซื้อหุ้นกันเพราะกลัวจะตกขบวนรถไฟของถูก บวกกับเทรดดิ้งทำกำไรระหว่างวัน จนดันวอลุ่มพุ่งทะลุ 1 แสนล้านบาททีเดียว แต่พอเข้าต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวของสหรัฐอเมริกา โชว์ออกมาดีเกินตลาดคาดการณ์ โดยเฉพาะสัญญาณจากตัวเลขการจ้างงาน และที่สำคัญ การปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้เกิดการหวาดหวั่นจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมาในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักต่อการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะขึ้น 3 ครั้ง ก็จะเป็น 4 ครั้งจากปัจจุบันที่อยู่ 1.25-1.50% ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่ชิงขายหุ้นประเทศต่าง ๆ ออกไปก่อน

ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน โดยดัชนีลงมา 1,786.45 จุด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ส่วนมาร์เก็ตแคปก็ร่วงมาอยู่ที่ 17.94 ล้านล้านบาท หากคำนวณออกมาช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับข่าวหวาดผวาเงินเฟ้อสหรัฐ แรงขายทิ้งหุ้นไทยที่เกิดขึ้น ทำให้ขนาดของตลาดหุ้นไทยหดหายไปราว 5 แสนล้านบาท อาจจะบอกได้ว่า เงินนักเล่นหุ้นร่วงหายระหว่างทางราว 5 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม รอบนี้แม้ตลาดหุ้นไทยจะร่วงหลุดระดับ 1,800 จุด แต่ก็พบว่ายังมีแรงทยอยซื้อสะสมเข้ามา บางวันสามารถช่วยประคองดัชนีให้ยืนเหนือ 1,800 จุดได้ บางวันก็ไหลลง ทำเอานักวิเคราะห์นักเล่นหุ้นต้องจด ๆ จ้อง ๆ “ลุ้นกันเหนื่อย” เพราะดูแรงขายต่างชาติก็ยังมีมาต่อเนื่องวันละ 3-4 พันล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ช่วงที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ต่างพูดทางเดียวกันว่า ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้ จำนวนยังไม่มากเท่าเมื่อก่อน แต่ทุกวันนี้ก็ยังขายออกไม่หยุด ส่วนแรงซื้อกลับในประเทศก็มาแบบกล้า ๆ กลัว ๆ สะท้อนจากวอลุ่มเหลือวันละ 5-6 หมื่นล้านบาท แรงเก็งกำไรหลายรอบหายไป

หากถามว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับไปวิ่งต่อไหวหรือไม่ เพราะตามที่นักวิเคราะห์หลายค่ายยังวาดฝันปีนี้จะเห็นดัชนีถึง 1,900 จุดบ้าง 2,000 จุดบ้าง คงเป็นเรื่องระยะยาว เพราะตอนนี้แค่จะให้ยืนแกร่งระดับ 1,800 จุด ก็ยังขึ้น ๆ ลง ๆ หลายรอบแล้ว และที่สำคัญ ช่วงที่ผ่านมาหุ้นวิ่งแรง ๆ ก็มีการมาซื้อหุ้นดักข่าว กำไร บจ.ที่จะทยอยประกาศของงบการเงินงวดไตรมาส 4/60 และปี 2560 กันไปแล้ว จากนี้จะเป็นช่วงของการขายหุ้นหรือที่เรียกว่า เข้าสู่ภาวะ sale on fact

แต่ถ้าฝรั่งหยุดขายหุ้นไทย ก็มีโอกาสที่จะเห็นยืนเหนือ 1,800 จุดได้ แต่คงไม่ได้วิ่งแรงแซงโค้ง เพราะในระยะใกล้นี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกเฝ้าจับจ้อง คือ “ความเป็นไปได้” ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบประชุมเดือน มี.ค.ของเฟด ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ เพราะจะเป็นตัวชี้ทิศทางเงินลงทุนจะไหลไปทางไหน ตลาดหุ้นไทยก็คงจะสะเด็ดน้ำจากข่าวร้อนนี้ แล้วจึงจะไปต่อได้ เพราะโดยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศของไทยปีนี้ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ประเมินออกมาว่าโต 4%

ส่วนคนที่ซื้อหุ้นไปติดดอยในช่วงตลาดหุ้นสูง ก็อาจจะหนาวบ้าง มีอาการใจหวิว ๆ แข้งขาสั่น กลัวขาดทุน ก็อาจต้องลุ้นเหนื่อยหอบกันไป แต่ก็อย่ากะพริบตา เพราะอีกไม่นานจะเห็นสัญญาณข้างหน้า จากนั้นอนาคตอยู่ในมือคุณกำหนดว่าจะเลือกทางไหน “ขายทำกำไร-ถือต่อ-ขายตัดขาดทุน”