คริปโตเคอเรนซี่ 101 ความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างเงินดิจิทัลและเงินกระดาษ (3)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

เมื่อเราได้ทำความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของการสร้างเงินดิจิทัลแล้ว เพื่อความเข้าใจในการทำงานของนวัตกรรมการเงินดิจิทัลนี้มากยิ่งขึ้น แนวคิดพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเป็น “เงิน” (moneyness) ของเงินดิจิทัล หากว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เงินมีลักษณะสำคัญอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ ความมีจำนวนจำกัด (scarcity) และการได้รับการยอมรับเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (universal acceptance) ผู้สนับสนุนระบบเงินดิจิทัลเชื่อว่าเงินดิจิทัลมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองประการ

ประการแรก เงินดิจิทัลมีจำนวนจำกัด ขอยกตัวอย่าง บิตคอยน์ (bitcoin) ซึ่งผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักกันดี ผู้ออกแบบระบบบิตคอยน์ได้ตั้งค่าของระบบไว้ว่า จำนวนเหรียญบิตคอยน์มีจำนวนจำกัด อยู่ที่ประมาณ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งเงินสกุลนี้มีซื้อขายกันอยู่ในตลาดเป็นส่วนน้อยมาก แต่กลับมี “นักถลุงแร่” ไล่ขุดหาเหรียญใหม่อยู่ตลอด และโจทย์คณิตศาสตร์ที่นักถลุงแร่เหล่านี้จะต้องแก้ก็จะเพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้มีผู้คาดการณ์ว่า บิตคอยน์เหรียญสุดท้ายน่าจะถูกขุดพบ และถูกนำมาใช้ประมาณปี พ.ศ. 2683 เลยทีเดียว

ด้วยเหตุที่ว่าเหรียญมีจำนวนจำกัด

ตัวอย่าง “เหมือง” เงินดิจิทัลที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลระดับสูงเป็นเครื่อง “ถลุง” ที่รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย

ในส่วนของการนำบิตคอยน์หรือเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ ก็ตามไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ เจ้าของเงินดังกล่าวต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นพิเศษที่เปรียบเสมือนกระเป๋าสตางค์เก็บเงินดิจิทัล (e-wallet) โดยเจ้าของเงินจะได้รับรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่กระเป๋าเงินดังกล่าว หลังจากตกลงทำธุรกรรมแล้ว คอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อและผู้ขายจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้นเข้าสู่ระบบเพื่อไปรอการอนุมัติจากคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทั้งหมด เมื่อได้รับการอนุมัติ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ๆ จะถูกบันทึกเป็นตัวต่อตัวใหม่ในสายรหัสเงินดิจิทัลตามหลักการที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น ข้อสำคัญที่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ ในธุรกรรมหนึ่ง ๆ ไม่มีใครถือตัวเงินที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญ หรือแม้กระทั่ง จำนวนเงินฝากในธนาคารก็ไม่มีปรากฏ การเรียกนวัตกรรมการเก็บข้อมูลเข้ารหัสแบบกระจายส่วนนี้ว่า “เงิน” ก็เป็นเพียงการสมมติขึ้นมาเท่านั้น ประการที่สอง เงินดิจิทัลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็นตัวกลางในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นสองระดับ

ระดับแรก คือ การได้รับการยอมรับจากสมาชิกภายในเครือข่าย การเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ การมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อเหรียญเงินดิจิทัล ล้วนเป็นการส่งสัญญาณไปยังสมาชิกรายอื่น ๆ ในเครือข่ายว่า ตนเองยอมรับเงินดิจิทัลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน (consideration) ในการทำธุรกรรมใด ๆ ในอนาคต

ระดับที่สอง คือ การได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป และบริษัทห้างร้านที่ทำการค้าแบบดั้งเดิม และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินดิจิทัล ในส่วนนี้เอง ผู้สนับสนุนระบบการเงินดิจิทัลมักอ้างว่า แม้ว่าเงินดิจิทัลจะยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับเงินกระดาษ (fiat money) ที่ออกและควบคุมโดยรัฐ แต่ภาคเอกชนในประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็เริ่มยอมรับให้ลูกค้าของตนชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิตคอยน์ บริษัทข้ามชาติชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้บิตคอยน์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยแล้ว ตัวอย่างเช่น เดลคอมพิวเตอร์ (Dell Computer) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ซับเวย์แซนด์วิช (Subway Sandwich) และซูเปอร์มาร์เก็ตโฮลฟู้ดส์ (Whole Foods) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติความเป็นเงิน (moneyness) ของเงินดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ในวงกว้าง โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายอกุสแต็ง คาร์สเท็นส์ ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement-BIS) และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศเม็กซิโก ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งว่า บิตคอยน์และเงินดิจิทัลอื่น ๆ ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเงิน กล่าวคือ

ไม่ใช่ตัวกลางที่ใช้ในการชำระหนี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม

นายอกุสแต็งยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า หากประชาคมโลกไม่ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลระบบการเงินดิจิทัล นวัตกรรมทางการเงินนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินของโลกในอนาคตก็เป็นได้

 

ผู้เขียนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา ประจำกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ติดตามบทความวิชาการที่น่าสนใจ และการทำงานของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้จากเว็บไซต์ www.lawreform.go.th หรือเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/thailawreform/

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้