Tech Times : Apple ท้า Meta ชิงตลาดโลกเสมือน

Vision Pro
คอลัมน์​ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

Meta กับ Apple มีเรื่องวิวาทะกันมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยเป็น “คู่แข่ง” ทางธุรกิจกันจริง ๆ สักที จนกระทั่ง Apple เปิดตัวแว่น VR เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศท้ารบในสนามแข่งที่ Meta ถือครองอยู่อย่างแท้จริง

คนในแวดวงต่างรู้ดีว่า Meta เคือง Apple ขนาดไหน ตอนที่ Apple ประกาศใช้นโยบายรักษาความเป็นส่วนตัวใหม่ ซึ่งให้ลูกค้า iOS เลือกได้ว่าจะยินยอมให้แอปต่าง ๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของตนบนอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่

แน่นอนว่า นโยบายนี้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของ Apple ในฐานะผู้ให้บริการที่ “แคร์” ความเป็นส่วนตัวของลูกค้า แต่ส่งผลเสียอย่างมากต่อ Facebook ที่มีรายได้หลักจากการขายโฆษณา

ADVERTISMENT

Facebook ถึงขั้นทำแคมเปญออกมาโจมตีว่า Apple กำลังปิดทางทำมาหากินของคนตัวเล็กตัวน้อยมากมายที่ใช้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มในการประกอบอาชีพ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง Apple ได้

หลังจากนั้นไม่นาน Facebook ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ ภายใต้โครงการ “เมตาเวิร์ส” ที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เชื่อว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกในอนาคต โดยมีแว่น VR ภายใต้ซีรีส์ Quest เป็นเรือธงในการกรุยทางสู่โลกแห่งอนาคตที่วาดหวังไว้

แต่ผ่านไปไม่นาน Apple ก็ตามมาหลอกหลอนอีกครั้ง คราวนี้มาในฐานะ “คู่แข่ง” อย่างเต็มตัว

ADVERTISMENT

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Apple เปิดตัวแว่น VR/AR ภายใต้ชื่อ “Vision Pro” ในงาน Apple Worldwide Developers Conference ประจำปี

“Vision Pro” มาพร้อมความสามารถในการผสานเทคโนโลยี AR และ VR เข้าด้วยกัน และให้ผู้ใช้ควบคุมการใช้งาน แอปต่าง ๆ ผ่านดวงตาและปลายนิ้ว โดย Apple มีแผนจะวางขาย Vision Pro ต้นปีหน้า

ADVERTISMENT

แต่สื่อบอกว่าบริษัทจำเป็นต้องพัฒนา “Killer App” ให้ได้ก่อน หากอยากให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าจ่ายตั้ง 3,499 เหรียญเพื่อซื้อเจ้าแว่นไฮเทคนี้

เช่น ซาแมนต้า เมอร์ฟี่ เคลลี่ ผู้สื่อข่าวของ CNN ที่มีโอกาสทดลองใช้ Vision Pro ในงานเปิดตัว บอกว่า การออกแบบดีไวซ์ทำได้ดี น้ำหนักเครื่องไม่มากจนน่าอึดอัด และเครื่องไม่ร้อนแม้เปิดใช้งานไปแล้วครึ่งชั่วโมง

เมื่อเปิดเครื่อง จะปรากฏแอปที่คุ้นเคยบน iOS ขึ้นที่เบื้องหน้า เช่น Messages FaceTime Safari และ Photos หากอยากใช้แอปไหน ก็มองไปที่แอปนั้น พร้อมเอานิ้วโป้งกับนิ้วชี้ (ก่อนเริ่มใช้งาน จะมีเจ้าหน้าที่มาสแกนนิ้วให้ก่อน) มาประกบกันเพื่อกดเลือกแอปที่ต้องการ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเลือกชมคอนเทนต์ รูปภาพ วิดีโอ หรือเล่นเกมในรูปแบบ 3D หรือจะจำลองเอา digital objects ต่าง ๆ มาทาบทับบนสิ่งแวดล้อมจริงตรงหน้าก็ได้ และยังสามารถจัดประชุมเสมือนจริงได้จากทุกที่

แต่ซาแมนต้า มองไม่เห็นความเป็นจำเป็นที่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์นี้อยู่ดี เช่น หากต้องการประชุมออนไลน์ ก็ใช้ Zoom ได้ หรือการเปิดดูรูปขนาดเท่าตัวจริงก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เธออยากทำบ่อย ๆ

ส่วนที่น่าจะขายได้ คือ การขายพ่วงคอนเทนต์บันเทิงดี ๆ จากผู้ผลิตชั้นนำ อย่าง Disney+ ที่พร้อมจะขนคอนเทนต์มาป้อนให้ลูกค้า Vision Pro ได้รับชมทันทีที่เปิดตัว นอกจากนี้ Apple ยังมีการเจรจากับ National Geographic Marvel และ ESPN ไว้ด้วย

กระนั้น นักวิเคราะห์มองว่า การทำตลาด VR/AR ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดู Facebook เป็นตัวอย่างก็ได้

บริษัทลงทุนซื้อ Oculus ผู้ผลิตแว่น VR ชั้นนำเป็นเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญเมื่อ 9 ปีก่อน และหลังจากรีแบรนด์ในปี 2021 มาร์กก็ทุ่มทุนพัฒนาเทคโนโลยี VR/AR ไปหลายพันล้านเพื่อทำให้โครงการ “เมตาเวิร์ส” เป็นจริง

แต่จากรายงานของ The Wall Street Journal บริษัทมี active users บน Horizon Worlds แอปที่ใช้ควบคุมการทำงานของแว่น VR อยู่แค่ 2 แสนราย ในขณะที่แผนก reality labs ของบริษัทใช้งบฯกว่า 13.72 พันล้านเหรียญในปี 2022 ในการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

สาเหตุที่ยอดขายไม่เปรี้ยงปร้างมาจากการที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงความจำเป็น ขาดคอนเทนต์และแอปที่หลากหลาย และราคาเครื่องที่อาจจะสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การเข้ามาของ Apple น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดให้คึกคักขึ้น เพราะบริษัทขึ้นชื่อว่าไม่เป็นสองรองใครในการพัฒนาดีไวซ์ อีกทั้งยังมีระบบปฏิบัติการของตัวเอง (ทั้ง iOS และ visionOS ระบบปฏิบัติการสำหรับ Vision Pro โดยเฉพาะ) และหน้าร้านที่พร้อมขายสินค้าถึงมือผู้บริโภคทั่วโลก

จึงน่าจับตาว่าระหว่าง Meta ในฐานะเจ้าตลาดปัจจุบัน กับ Apple ผู้ท้าชิงที่มีอาวุธครบมือ

ผู้บริโภคเท่านั้นจะเป็นผู้ชี้ขาด