ความสามารถในการแข่งขัน มองให้ลึกเพื่อพัฒนา

ความสามารถในการแข่งขัน
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยมีข่าวดีเรื่องหนึ่งในเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา คือ อันดับความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) สูงขึ้นจากอันดับที่ 33 ในปีก่อนมาอยู่อันดับที่ 30 ในปีนี้ (จากทั้งหมด 64 ประเทศ) ผู้เขียนจึงขอร่วมด้วยช่วยคิดต่อว่าเราสามารถมองเรื่องนี้ให้ลึกขึ้นเพื่อพัฒนาได้อย่างไร

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ มีแนวคิดเรื่อง Comparative Advantage หรือความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งกล่าวว่าหากประเทศมีสัดส่วนของทรัพยากร (คน, ที่ดิน, ทุน ฯลฯ) ที่เหมาะกับการผลิตสินค้าชนิดใดมากกว่าประเทศอื่น ก็ควรผลิตสินค้าชนิดนั้นแล้วนำมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ด้วยวิธีนี้จะทำให้โลกผลิตสินค้าได้ปริมาณมากที่สุดด้วยทรัพยากรน้อยที่สุดและทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ภายใต้แนวคิดนี้ ทรัพยากรเริ่มต้น (Endowment) ของแต่ละประเทศจะเป็นตัวกำหนดว่าควรผลิตสินค้าอะไร

แต่ภายใต้แนวคิด Competitive Advantage นั้น “ความสามารถในการแข่งขัน” เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ได้ ความเก่งในการผลิตสินค้าและบริการจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรเริ่มต้นเพียงอย่างเดียว

โดย “ไมเคิล พอร์เตอร์” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง กล่าวไว้ว่า “National prosperity is created, not inherited” ท่านเสนอว่าประเทศหรือองค์กรธุรกิจสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้หลายวิธี อาทิ Cost Leader (เช่น จีนเป็นโรงงานของโลกเพราะสามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำได้) Differentiation และ Innovation (เช่น Apple สร้าง iPhone ทำให้ขายสินค้าที่มีคุณภาพแตกต่างในราคาแพงได้)

ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศแข่งขันได้ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ เป็นเกาะที่แทบไม่มีทรัพยากรอื่นนอกจากทรัพยากรมนุษย์ แต่ใช้นโยบายสร้างความสามารถในการแข่งขันจนพัฒนาประเทศได้สำเร็จ (สิงคโปร์ความสามารถการแข่งขันอันดับที่ 4 ของโลกในปีนี้)

แล้วเราจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร IMD วิเคราะห์และจัดอันดับจาก “ความสามารถของประเทศในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้องค์กรธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” โดยแบ่งปัจจัยออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

(1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน เงินเฟ้อ

(2) ประสิทธิภาพของภาครัฐบาล เช่น ฐานะการคลัง ภาษี กฎหมายธุรกิจ กรอบการบริหารด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

(3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เช่น ประสิทธิภาพการผลิต ตลาดแรงงาน การเงิน การบริหาร ทัศนคติ และ

(4) โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านกายภาพ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากนับรวมปัจจัยย่อยทั้งหมดจะมีจำนวนมากถึง 256 ข้อย่อยที่ใช้คำนวณ

ในปี 2566 อันดับของไทยดีขึ้นจากด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้น 18 อันดับ มาอยู่ที่ 16 ในปีนี้ โดย IMD พิจารณาข้อมูลในปี 2565 พบว่า FDI ที่มาลงทุนในไทยเพิ่มสูงขึ้น การส่งออกสินค้าและบริการของไทยปรับดีขึ้นหลังจากโควิด โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นมาก ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เพิ่มขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่ 24 ในปีนี้ จากกรอบการบริหารภาครัฐและกฎหมายธุรกิจที่ดีขึ้น ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่ 23 จากปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเพิ่มขึ้นเพียง 1 อันดับ อยู่ที่ 43 ในปีนี้ หากดูปัจจัยย่อยพบว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพของไทยอยู่ในอันดับที่ 22 แต่ด้านอื่น ๆ ยังค่อนข้างต่ำ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 39 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับที่ 53 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาอยู่อันดับที่ 54 (จากทั้งหมด 64 ประเทศ)

อันดับที่อยู่ต่ำไม่ได้สะท้อนว่าไทยขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดังกล่าว โดยเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ IMD วิเคราะห์เท่านั้น ซึ่ง IMD ใช้ทั้งข้อมูลสถิติและการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารธุรกิจประกอบกัน เช่น ด้านการศึกษาจะสอบถามความเห็นต่อคุณภาพของผู้จบการศึกษาในระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ความสามารถด้านภาษา รวมถึงคุณภาพของผู้จบด้านบริหารธุรกิจ

ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับภาคธุรกิจ พบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มทักษะที่มีคุณภาพและการแสวงหาผู้บริหารที่มีคุณภาพ เป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินธุรกิจในไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นเพราะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีจะมีต้นทุนการผลิตต่ำ มีผลิตภาพสูง สินค้ามีคุณภาพและขายได้ราคาดี ซึ่งนำไปสู่การเติบโตและการจ้างงานเพิ่ม แรงงานที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีจะเป็นผู้ที่มีทักษะ สามารถปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ดี ซึ่งนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี อันดับความสามารถในการแข่งขันไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการพัฒนา เช่นเดียวกับ GDP ก็ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญหลาย ๆ ด้านที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา คือ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ (Stable) มีความยั่งยืน (Sustainable) และมีความทั่วถึง (Inclusive) ที่ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันครับ